สภาพัฒน์ กังวล! งบซื้อนมโรงเรียน ส่อกระทบขีดแข่งขัน ลาม FTA หลังปีนี้ประเดิมหนุนก้อนแรก 777 ล้าน เพิ่มราคากลางตามมติ ครม.

เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 16:04:31
X
• การเพิ่มงบฯ ดังกล่าวสร้างภาระการคลัง และอาจกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย
• อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ด้านผลิตภัณฑ์นมกับต่างประเทศ
• สภาพัฒน์แนะนำให้รักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนเกษตรกรและภาระงบประมาณประเทศ

สภาพัฒน์ กังวล! งบจัดซื้อนมโรงเรียน หลังปีนี้ประเดิมอุดหนุนก้อนแรก 777 ล้าน ปรับเพิ่มราคากลางตามมติ ครม. สร้างภาระการคลังประเทศเพิ่ม ส่อกระทบขีดความสามารถฯเกษตรกรเลี้ยงโคนม กับต่างประเทศ ในเวที FTA สินค้าผลิตภัณฑ์นม แนะรักษาสมดุลระดับรายได้เกษตรกร แนวโน้ม/ข้อจํากัดของงบรัฐ ปรับลดลงจํานวนนักเรียนเข้าใหม่ ชูแปรรูปสอดคล้องกับตลาด ศึกษา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับกลุ่มนักเรียน

วันนี้ (27 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ รับข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบให้ปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพิ่มขึ้นถุงหรือกล่องละ 0.56 บาท

โดยสภาพัฒน์ เห็นว่า การปรับขึ้นราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม รวมถึงการปรับเพิ่มราคากลางในการจําหน่ายผลิตภัณฑ์นม โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ

ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้งบประมาณของส่วนราชการในการจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียนในระยะยาว และภาระการคลังของประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ในการแข่งขันกับต่างประเทศจากการเปิดการค้าเสรี (FTA) สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน สามารถรักษาความสมดุลระหว่างการรักษาระดับรายได้ของเกษตรกร แนวโน้ม/ข้อจํากัดของงบประมาณภาครัฐ การลดลงของจํานวนนักเรียนเข้าใหม่ และการได้รับคุณค่า ทางโภชนาการที่เหมาะสมของเด็กนักเรียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรพิจารณาดําเนินการ ดังนี้

1. เร่งรัดดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 และ 7 พฤศจิกายน 2506 ที่ให้ความสําคัญต่อการส่งเสริมให้มีการแปรรูปนมโคเป็นผลิตภัณฑ์อื่นให้สอดคล้องกับ ความต้องการของตลาด และการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้สําเร็จโดยเร็ว

เพื่อสร้างความ มั่นคงและความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมของประเทศและ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ต่อไป

2. ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์นมทางเลือกชนิดอื่นๆ ที่เหมาะสมสําหรับกลุ่มนักเรียนที่มี ข้อจํากัดทางด้านต่างๆ อาทิ นมที่ปราศจากน้ําตาลแลคโตส (lactose-free) เพื่อจูงใจและสนับสนุนให้นักเรียน บริโภคนมและได้รับสารอาหารที่จําเป็นตามช่วงวัยมากขึ้น

และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างแท้จริง พร้อมทั้งให้ความสําคัญกับการรักษาคุณภาพนมโรงเรียนในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มราคากลาง 0.46 บาท ให้มีผลตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการปรับราคารับซื้อน้ำนมโคตามประกาศดังกล่าว เนื่องจากมีการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมโคขึ้นกิโลกรัมละ 2.25 บาท จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนมโรงเรียนเพิ่มขึ้น

โดยคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน มีมติเห็นชอบ ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน / กรุงเทพมหานคร และ / เมืองพัทยา

ต้องได้รับการอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมทั้งสิ้น 777.44 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อนมโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียน จำนวน 6,500,298 คน เป็นเวลา 260 วัน

โดยหน่วยงานที่มีงบประมาณไม่เพียงพอจะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป.

ที่มา : MgrOnline