ทางออกลดมลพิษพลาสติก อย่ามองพลาสติกเป็นตัวร้าย!
เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 10:52:24
แม้ผลกระทบของพลาสติกจะมีรอบด้านทั้งแง่มุมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม “ดร.สุจิตรา วาสนาดํารงดี” หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา “โค้งสุดท้ายสู่สนธิสัญญาพลาสติกโลก: การผลิตและบริโภคพลาสติกที่ยั่งยืนของไทยควรเป็นอย่างไร?” จัดโดยกรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา บอกว่า “อย่ามองพลาสติกเป็นตัวร้าย! แต่ต้องหาทางออกในการลดใช้และจัดการขยะพลาสติก”
ดร.สุจิตรา วาสนาดํารงดี นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน (SERI) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกลุ่มของเสีย ชุมชนศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชวนให้ฉุกคิดว่า ในทางกลับกัน พลาสติกเข้ามาอำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างมาก ด้วยคุณสมบัติซึ่งเป็นข้อดีที่หลากหลาย สิ่งสำคัญจึงเป็นการใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบและใช้อย่างคุ้มค่ามากกว่า และปัญหาของการใช้พลาสติกที่ส่งผลกระทบตามมา ก็เกิดจากความไม่รู้ หรือความไม่ตระหนักของมนุษย์
“หนึ่งคือคนไม่รู้ว่าพลาสติกทำมาจากน้ำมัน ใช้แล้วหมดไป ถ้าใช้อย่างฟุ่มเฟือยจะไม่เหลือน้ำมันให้ใช้ต่อในอนาคต สองคือ เราใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งอย่างฟุ่มเฟือยมหาศาล ขณะที่พลาสติกย่อยสลายได้ยาก และสามคือ คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพลาสติกตกค้างกลายเป็นไมโครพลาสติก เมื่อใช้อย่างไม่รู้และฟุ่มเฟือย ทำให้เกิดเป็นผลกระทบทางลบของมลพิษพลาสติก ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เราเรียกว่าผลกระทบภายนอก (Externality) ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ได้ร่วมรับผิดชอบผ่านกลไกราคา”
มลพิษพลาสติกเกิดจากความล้มเหลวของตลาด
UNEP แนะทางแก้ในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติก
ดร.วาสนา ระบุว่า มลพิษพลาสติกมาจากความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) ที่ราคาพลาสติกไม่ได้คิดรวมต้นทุนสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตและผู้บริโภคจ่ายค่าสินค้าพลาสติกถูกเกินไป ทำให้มีการใช้สินค้าพลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย รัฐจึงควรต้องเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้ราคาพลาสติกสูงขึ้น ลดอุปสงค์และอุปทานลงจนถึงจุดที่สมดุล ด้วยมาตรการที่มีอยู่หลากหลาย อาทิ มาตรการภาษีหรือค่าธรรมเนียมพลาสติก แบนพลาสติกที่เป็นอันตราย ใช้หลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) ขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต กำหนดสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลภาคบังคับ ฯลฯ
ในต่างประเทศ มีการแก้ปัญหาพลาสติกโดยเริ่มต้นจากภาคสมัครใจสู่ภาคบังคับระดับโลก โดยองค์กรระหว่างประเทศอย่าง EMF (Ellen MacArthur Foundation) และ UNEP (United Nations Environment Programme) ได้ชักชวนภาคเอกชนและรัฐมากกว่า 1,000 องค์กร ลดการใช้พลาสติกภาคสมัครใจ แต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นไปตามเป้า เพราะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของผู้ประกอบการเอกชน ภาคธุรกิจจึงหันมาผลักดันให้เกิดอนุสัญญามลพิษพลาสติกขึ้นเสียเอง
มาตรการทางกฎหมายที่นำมาใช้ในการควบคุมการผลิตและใช้พลาสติก เริ่มจากการแบนหรืองดแจกถุงพลาสติกฟรี เป็นมาตรการพื้นฐานที่กว่า 150 ประเทศออกกฎหมายเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ก่อนขยับไปควบคุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งไมโครบีดส์ที่ผสมในเครื่องสำอาง และพลาสติกออกโซ่ที่ไม่ย่อยสลายจากการใช้สารเติมแต่งและเป็นตัวเร่งให้เกิดไมโครพลาสติก
และ UNEP ยังได้เสนอทางออกในการแก้ปัญหามลพิษพลาสติกในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตพลาสติก ซึ่งทางออกส่วนใหญ่ต้องอาศัยบทบาทของรัฐในการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการดำเนินการ ตั้งแต่การควบคุมการผลิต ควบคุมการบริโภค อาทิ ออกและบังคับใช้นโยบายใหม่เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียไมโครพลาสติกระหว่างการผลิตและขนส่ง ปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดการเมื่อหมดอายุการใช้งาน จัดหาและปรับปรุงการบริการและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเก็บรวบรวมขยะ พัฒนาระบบ EPR ส่งเสริมการแยกขยะและดำเนินมาตรการรีไซเคิล รวมถึงส่งเสริมและลงทุนในธุรกิจรีไซเคิล เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการจัดการโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
อียู กลุ่มผู้นำควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ดร.วาสนา กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) นับเป็นผู้นำในการควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยแบนและจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวประมาณ 10 ชนิด เช่น กล่องบรรจุอาหาร แก้ว หลอด ช้อนส้อม ก้านคัตตอนบัดส์ ซึ่งมาจากการวิเคราะห์ว่าพลาสติกประเภทนี้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก และให้ใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปรับการออกแบบเพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ยังแบนไม่ได้ ก็ติดฉลากให้ข้อมูลเพื่อการจัดการที่ถูกต้อง
ปัจจุบัน EU ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมาย Ecodesign สำหรับผลิตภัณฑ์ยั่งยืน ซึ่งจากเดิมมีไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ บรรจุภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกัน หลายประเทศในยุโรปอย่างโปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ก็ได้ดำเนินการเก็บภาษีพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ภายใต้แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป
ในประเทศฝรั่งเศส ได้มีการออกกฎหมาย Anti-Waste Law for a Circular Economy ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ และลดการใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว และมาตรการทางกฎหมายก็ทำให้เราได้เห็นการใช้ภาชนะที่ล้างแล้วใช้ซ้ำได้ในร้านแมคโดนัลส์ ซึ่งเป็นจากการบังคับใช้ ทำให้ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในร้านที่มีสาขาจำนวนมากได้อย่างมหาศาล
ส่วนในญี่ปุ่น ประเทศที่ได้รับการยอมรับในการคัดแยกขยะ แต่กลับมีการใช้บรรจุภัณฑ์อย่างฟุ่มเฟือย เพราะสามารถคัดแยกขยะมูลค่าต่ำส่งไปยังประเทศจีนได้ แต่เมื่อจีนปิดประเทศ เลิกนำเข้าขยะและเศษวัสดุจากต่างประเทศในปี 2561 ญี่ปุ่นก็ได้ออกกฎหมายควบคุมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวให้เข้มข้นขึ้น โดยแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าปลีกทั่วประเทศต้องงดแจกถุงพลาสติกฟรีให้ลูกค้า และทางร้านค้าจะจำหน่ายถุงพลาสติกในราคาใบละ 3-10 เยน สำหรับลูกค้าที่ต้องการถุงพลาสติก และประกาศใช้กฎหมาย Plastic Resource Recycling Promotion Laws 2021 ให้ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านซักรีด โรงแรม ที่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 12 ชนิดมากกว่า 5 ตันต่อปี ต้องลดปริมาณการใช้ลง โดยเปลี่ยนไปใช้วัสดุทางเลือกที่ย่อยสลายได้ หรือหากยังต้องการใช้พลาสติกก็ห้ามแจกฟรีให้ลูกค้า หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดถึง 5 แสนเยน
ในขณะที่ไต้หวัน ประกาศโรดแมปว่าภายในปี 2573 จะไม่มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในประเทศเลย โดยระหว่างนั้นก็ได้มีแผนการลดละเลิกใช้ที่ค่อยๆ ประกาศออกมา โดยห้ามไม่ให้ร้านอาหารในเครือให้บริการหลอดพลาสติกแก่ลูกค้าในปี 2562 ห้ามใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหารทุกแห่งในปี 2563 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้ถุงพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียว และช้อนส้อม ในปี 2563 เก็บค่าธรรมเนียมการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเพิ่มเติมในปี 2568 และห้ามใช้ถุงพลาสติก อุปกรณ์รับประทานอาหารแบบใช้ครั้งเดียวในปี 2573
โรดแมปและแผนปฎิบัติการของไทยยังล้าหลัง
เพราะเป็นลักษณะ “ขอความร่วมมือ”
หันกลับมามองที่ประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงการวางโรดแมปและแผนปฏิบัติการ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้ แต่มีลักษณะ “ขอความร่วมมือ” ในภาคสมัครใจ เช่น มาตรการงดแจกถุงพลาสติกที่เคยถูกนำมาใช้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และกลับมาแจกฟรีตามเงื่อนไขในปัจจุบัน แม้ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เน้นหลักการ EPR เป็นสำคัญ แต่มาตรการควบคุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งยังไม่มีความชัดเจน เมื่อเทียบกับมาตรการที่ต่างประเทศบังคับใช้
ทั้งนี้ ดร.วาสนาได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐ โดยในระยะสั้นให้ควบคุมฝั่งผู้ให้ ด้วยการเสนอให้ฟื้นมติ ครม. ลดละเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานราชการและสถานศึกษาทุกระดับออกกฎระเบียบเพิ่มเติมให้ร้านค้า ร้านอาหารที่เช่าพื้นที่ ต้องงดใช้กล่องโฟมและงดแจกถุงพลาสติก ออกมาตรการเข้มข้นกับห้างร้านและร้านอาหารแบบเครือข่ายงดแจกหลอดพลาสติก และเปลี่ยนภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวให้เป็นแบบใช้ซ้ำได้สำหรับการรับประทานในร้าน พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับสื่อและโรงเรียนในการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของมลพิษพลาสติกและมาตรการลดละเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ควบคู่ไปกับการแยกขยะ
ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ควรเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ…. ที่รวมถึงมาตรการควบคุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (มิใช่แค่จ่ายค่าธรรมเนียมเข้ากองทุน) โดยศึกษาเครื่องมือเชิงนโยบายของต่างประเทศ และกำหนดแผนในการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้บริโภค
ที่มา : MgrOnline