“ปลาหมอคางดำ” ประโยชน์หลายอย่าง “กรมประมง” เร่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์ หนุนเกษตรกรสร้างงาน สร้างรายได้ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 09:56:01
X
• มีการจัดกิจกรรม "ลงแขก ลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำ" เพื่อตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำ
• ปลาหมอคางดำที่จับได้จะถูกนำไปแปรรูปโดยผู้ประกอบการ

ใกล้สิ้นซาก “ปลาหมอคางดำ” หลังทุกภาคส่วนในหลายพื้นที่ร่วมกัน “ตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ” ด้วยกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำ” โดยปลาหมอคางดำที่จับได้ทั้งหมดในพื้นที่แพร่ระบาด จะมีผู้ประกอบการด้านการประมง หรือ แพปลา เข้าไปตั้งจุดรับซื้อ โดยมีแพปลาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 78 จุดรับซื้อ ซึ่งกรมประมง ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดหาแหล่งนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในเบื้องต้น

ไม่ว่าจะเป็นการทำ “น้ำหมักชีวภาพหรือปุ๋ยพืช” โดยนำส่งปลาหมอคางดำจำนวน 581,436.5 กิโลกรัม สำหรับใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพให้เกษตรกรชาวสวนยาง และหมอดินอาสาในจังหวัดในจังหวัดสมุทรสาคร โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมประมง การยางแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาที่ดิน ทำการศึกษาวิจัยสูตรน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ จนได้สูตรที่มีมาตรฐาน และมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช

นายไพรัช เทียนทอง เกษตรกรผู้ปลูกลำไยพันธุ์พวงทอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า “กระทรวงเกษตรฯ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน ช่วยส่งเสริมในการทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เพราะปลาหมอคางดำช่วยลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี ทำให้คุณภาพของพืชดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น ปริมาณมากขึ้น ขายได้ราคามากขึ้น

นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวเสริมว่า “โครงการน้ำหมักชีวภาพ” โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และกรมประมง โดยจังหวัดสมุทรสาครได้นำส่งปลาหมอคางดำในโครงการนี้กว่า 3.7 แสนกิโลกรัม จากทั้งหมด 6 แสนกิโลกรัม นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อทำน้ำหมักชีวภาพ โดยได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับกรมพัฒนาที่ดิน สถานีพัฒนาที่ดินที่สมุทรสาคร ทั้งนี้ น้ำหมักชีวภาพที่กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการ ได้นำไปให้พี่น้องเกษตรกรที่เป็นหมอดิน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านน้ำหมักชีวภาพนำไปใช้ในสวนลำไยพวงทอง ซึ่งเป็น GI ของจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรดี และช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้

การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน “บริษัท ศิริแสงอารำภี จำกัด” รับซื้อปลาหมอคางดำ ทดแทนการใช้ปลาจากแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในการผลิตปลาป่นเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ โดยรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 บาท จำนวน 1,595,523 กิโลกรัม โดยนายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า “โรงงานศิริแสงอารำพี เป็นโรงงานปลาป่น โดยทางบริษัทได้มีส่วนช่วยในการกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปจากพื้นที่ทั้งหมด ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้ง กระทรวงเกษตรฯ กรมประมง ประมงจังหวัด และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสนใจ จนทำให้เกิดความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

รวมถึงการนำปลาหมอคางดำไปรังสรรค์เป็นเมนูเด็ด เนื่องจากเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาย่อมเยาของชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมกับมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มรายได้เสริมจากปลาหมอคางดำ เช่น น้ำพริกเผาปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำแดดเดียว และปลาร้าปลาหมอคางดำ ที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า จังหวัดสมุทรสงคราม

นางดุษฎี วรรณศิลป์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรวิถีใหม่ร่วมใจพัฒนาบ้านคลองตาจ่า จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กรมประมงเข้ามาส่งเสริมทางกลุ่มฯ ให้แปรรูปปลาหมอคางดำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงปลาและโดนปลาหมอคางดำรุกราน ผ่าน “โครงการปลาร้าปลาหมอคางดำ” ซึ่งทางกลุ่มฯ มีทั้งตลาดและกลุ่มแปรรูปอยู่ในตัว ประมงจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้เห็นความสำคัญในการนำไปต่อยอด โดยส่งเสริมให้ทางกลุ่มฯ ทดลองแปรรูปปลาหมอคางดำทำ “ปลาร้าปลาหมอคางดำ” และต่อยอดโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านทำเป็น “ปลาร้าปลาส้ม” ถือเป็นการช่วยเศรษฐกิจในชุมชน ช่วยให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

เดิมในหลายพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่สีแดงจากการถูกปลาหมอคางดำรุกราน แต่ทุกวันนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จากการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 - 2570 อย่างเข้มข้นโดยกรมประมง รวมถึงความร่วมมือร่วมใจของเกษตรกร และประชาชน ในการร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำ นำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้จำนวนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างเป็นรูปธรรม สามารถฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว

ที่มา : MgrOnline