ไทยพร้อมแข่งดาต้าเซ็นเตอร์ PROEN ลุยกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ปีหน้า
เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 09:29:52
• ปีหน้าจะแล้วเสร็จ 5 เมกะวัตต์ และขยายเพิ่มอีก 15 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
• ตั้งเป้ากำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปี
• มั่นใจศักยภาพไทยสูง และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะพลังงานสะอาด
• เชื่อว่าไทยจะสามารถแข่งขันและแซงหน้าคู่แข่งได้
PROEN ย้ำผนึก DAMAC ทุนยักษ์ดูไบลงทุนศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ตามแผน ปีหน้าครบ 5 เมกะวัตต์ พร้อมขยายเพิ่มอีก 15 เมกะวัตต์ภายในปี 68 ตั้งเป้าครบ 100 เมกะวัตต์ใน 3 ปี มั่นใจไทยแข่งได้ศักยภาพสูง แถมภาครัฐหนุน พลังงานสะอาดส่งไทยแซงคู่แข่งในอนาคต ระบุเริ่มเห็นรายได้ปีหน้า 5 เมกะวัตต์ตกเดือนละประมาณ 70 ล้านบาทเฉพาะธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์
กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโปรเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ PROEN เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์ภายใต้ชื่อ Edgnex Data Centers by DAMAC บนพื้นที่ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ถนนพระราม 9-ศรีนครินทร์ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,700 ล้านบาท ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม โดยเฟสแรก 1.67 เมกะวัตต์จะแล้วเสร็จและเปิดบริการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ส่วนที่หลืออีก 2 เฟสจะทยอยเปิดให้บริการประมาณช่วงกลางปี 2568
“โดยปกติดาต้าเซ็นเตอร์จะมีรายได้ต่อเดือนรวมบริการอื่นๆ จะอยู่ที่ประมาณเมกะวัตต์ละ 12-13 ล้านบาท ซึ่งถ้าครบ 5 เมกะวัตต์ ดาต้าเซ็นเตอร์จะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งต่อจากนี้เรามีแผนที่จะขยายการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มอีก 15 เมกะวัตต์ในปีหน้า” นายกิตติพันธ์ กล่าว
นายกิตติพันธ์ กล่าวอีกว่า แผนการลงทุนในปีหน้าอีก 15 เมกะวัตต์จะเป็นการร่วมลงทุนกับกลุ่ม DAMAC ในบริษัทรวมทุนเช่นเดิมในอัตราส่วน 30/70 ซึ่งทางบริษัทจะคงสัดส่วนไว้ที่ประมาณ 30% และทาง DAMAC จะเป็นทั้งผู้ร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรในการจัดหาลูกค้า โดยเบื้องต้นมีความต้องการจากลูกค้าที่ทาง DAMAC แจ้งมาสูงเกินกว่า 20 เมกะวัตต์แล้ว
ส่วนโครงการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลดาต้าเซ็นเตอ์อีก 15 เมกะวัตต์ มูลค่า 5,200 ล้านบาทในปีหน้าคาดว่าจะมีโอกาสแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปี 2568 เนื่องจาการก่อสร้างจะใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นโครงสร้างสำเร็จรูปทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างลดลงจาก 1 ปีกว่า เหลือเพียง 6-8 เดือนก็สามารถแล้วเสร็จได้
ส่วนแผนการลงทุนร่วมกับ DAMAC ขนาดกำลังการผลิต100 เมกะวัตต์ มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี แต่จะขึ้นอยู่กับปริมาณลูกค้า หรือสัญญาการจองของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าต่างประเทศบางส่วนที่ประกาศลงทุนในไทย และมีลูกค้าอื่นๆ ที่ยังไม่ประกาศลงทุน แต่มีความประสงค์ที่จะมาเช่าดาต้าเซ็นเตอร์
นายกิตติพันธ์ กล่าวอีกว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับประเทศไทยถือว่ามีความพร้อม เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้แนวโน้มราคาพลังงานมีโอกาสปรับลดลง รวมถึงความพร้อมด้านพลังงานสะอาดทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้ลูกค้าที่มีเงื่อนไขด้านพลังงานสะอาดมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังมีนโยบายสนับสนุนโครงการ Green Energy ซึ่งอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ในเรื่องของการทำ Direct PPA ปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ในเบื้องต้น และในอนาคตอาจจะต้องมีการขยายเพิ่มอีก 3,000-4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งต้นทุนของค่าไฟ Green Energy ราคาถูกกว่าของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำให้ผู้ประกอบการจากธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าว
“คู่แข่งของไทยน่าจะเป็นมาเลเซียแต่ถ้าดูเรื่องพลังงานตอนนี้เขาอาจจะถูกกว่าของเรานิดหน่อย แต่ต่อไปภาครัฐมีการสนับสนุนเรื่องพลังงานสะอาดแล้วเชื่อว่าเราจะได้เปรียบในเรื่องนี้เพราะต้นทุนของดาต้าเซ็นเตอร์เป็นเรื่องของค่าไฟถึง 60% ทำให้สามารถจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการในไทยมากขึ้นได้ ประกอบกับเรื่องพลังงานสะอาดที่เราได้เปรียบกว่าในเรื่องของการพัฒนาทั้งเรื่องโซลาร์ฟาร์มและพลังงานลมเป็นอีกข้อเราน่าจะได้เปรียบมาเลเซีย”
ที่มา : MgrOnline