ทำกันได้ลงคอ! บิ๊กอียูแนะรัฐสมาชิกรวบตัว "เนทันยาฮู" ตามหมายจับทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่ดินแดน
เผยแพร่ : 27 พ.ย. 2567 08:35:21
• ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล
• โจเซฟ บอ แนะนำให้รัฐสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จับกุม เนทันยาฮู หากเดินทางเข้าสู่ดินแดนของตน
• รัฐสมาชิก EU มีหน้าที่ปฏิบัติตามหมายจับของ ICC
• การจับกุม เนทันยาฮู จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเขาก้าวเท้าเข้าสู่ดินแดนของประเทศสมาชิก EU
บรรดารัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ต้องปฏิบัติตามศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) และรวบตัว เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ตามหมายจับของศาลแห่งนี้ หากว่าผู้นำรัฐยิวย่างเท้าก้าวสู่ดินแดนของชาติสมาชิกนั้นๆ จากคำแนะนำของ โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของกลุ่ม พร้อมชี้ว่าหากไม่ดำเนินการเช่นนั้นมันรังแต่จะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของอียู
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (21 พ.ย.) ศาลไอซีซี ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองเฮก ออกหมายจับ เนทันยาฮู และโยอาฟ กัลแลนท์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล รวมไปถึงอิบราฮิม อัล-มาสรี ผู้บัญชาการกลุ่มฮามาส กล่าวหาพวกเขาก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อันเกี่ยวข้องกับสงครามในกาซาที่ยังคงสู้รบกันอยู่จนถึงตอนนี้
แม้อิสราเอลไม่ได้ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งก่อตั้งไอซีซี แต่ศาลแห่งนี้มีขอบเขตอำนาจเหนือเวสต์แบงก์และกาซา รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก 123 ชาติ ในนั้นรวมถึงทุกประเทศในอียู
ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มจี 7 ในเมืองฟิอูจจี ของอิตาลี ในวันอังคาร (26 พ.ย.) ทาง บอร์เรล เน้นย้ำว่า "ทุกรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม" พร้อมชี้ว่าการตัดสินใจของไอซีซี "ไม่ใช่บางอย่างที่คุณสามารถเลือกได้ คุณไม่อาจปรบมือยินดีแค่ตอนที่ศาลตัดสินในทางตรงข้ามกับประธานธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แล้วปิดปากเงียบตอนที่ศาลตัดสินตรงข้ามกับเนทันยาฮู"
หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู บอกต่อว่า หากรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาล มันจะถูกมองในฐานะตัวอย่างของ 2 มาตรฐาน และกลายเป็นเข้าทางพวกที่ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอียูมาตลอด
ก่อนหน้านี้ บอร์เรล ยังเน้นย้ำเกี่ยวกับสิทธิของเขาในการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล ตัวเนทันยาฮูและใครก็ตาม โดยไม่ควรถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกต่อต้านชาวยิว
เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ย.) อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี บอกว่าเบอร์ลินกำลังตรวจสอบประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินในของศาล อย่างไรก็ตาม โฆษกของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ยอมรับว่าดูเหมือน เยอรมนีจะไม่ปฏิบัติตาม สืบเนื่องจากความรับผิดชอบในทางประวัติศาสตร์ของเยอรมนีที่มีต่ออิสราเอล
ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ปฏิเสธตอบคำถามในประเด็นนี้อย่างชัดเจน โดยให้คำจำกัดความหมายจับของไอซีซี ว่าเป็นประะเด็นทางกฎหมายที่ยุ่งยากซับซ้อน
อย่างไรก็ตาม เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี สวีเดน เบลเยียม และนอร์เวย์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาจะยึดมั่นในพันธสัญญาของพวกเขาภายในรัฐธรรมนูญกรุงโรม
กระนั้น วิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ประณามคำตัดสินของศาลและเชิญชวนนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เดินทางเยือนประเทศของเขา ขณะดียวกันการตัดสินใจของไอซีซีก็เรียกเสียงประณามอย่างดุเดือดจากทั้งอิสราเอลเองและพันธมิตรสำคัญอย่างสหรัฐฯ เช่นกัน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)
ที่มา : MgrOnline