แนะให้ฟ้อง!! “เนื้อวากิว A4 ปลอม” คดีตัวอย่างให้หลาบจำ “ฉ้อโกง”
เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 23:18:31
• ความจริงแล้ว เนื้อวัวดังกล่าวเป็น "เนื้อไทย"
• การกระทำนี้เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค
• กูรูแนะนำบทลงโทษเพื่อป้องปรามการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์เช่นนี้
หลอกโฆษณามาแรมปีว่าคือ “เนื้อวากิวญี่ปุ่น” สุดท้ายยอมจำนน เผยว่าคือ “เนื้อไทย” กูรูเฉลยเข้าข่าย “หลอกลวงผู้บริโภค” แนะวิธีจัด “บทลงโทษ” ให้หลาบจำ
อย่าอ้าง!! “เนื้อไทย” ไม่มี “A4”
สาย “เนื้อ” เดือด!! เมื่อร้านปิ้งย่างในห้างฯ ดัง แถว “ลาดกระบัง” โฆษณาโปรโมชั่น “เนื้อวากิว A4” แต่ไปกินจริงๆ กลับไม่ใช่ เรื่องนี้แดงขึ้นมา เพราะถูกแฉในกลุ่มเฟซบุ๊ก “พวกเราคือผู้บริโภค” ว่า...
“ร้านปิ้งย่างโป๊ะแตก โฆษณาบอกเนื้อ A4 มาเกือบปี พอขอดูใบรับรองบอกไม่มี”
ลองไปเช็กดู ในโฆษณาบอกว่าเป็น “เนื้อวากิว A4” หั่นเต๋า กินไม่อั้นเพียง 499 บาทต่อหัว แต่พอไปกินจริงๆ นักชิมต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า เนื้อที่ควรจะนุ่มละมุนลิ้น กลับ “เหนียว” และ “ไม่น่าใช่ วากิว A4”
พอขอดู “ใบรับรอง” ว่านี่มัน “เนื้อ A4” จริงๆ หรือเปล่า ทางร้านกลับไม่มีให้ และล่าสุดร้านก็ออกมายอมรับใต้โพสต์โปรโมชันของตัวเองแล้วว่า เนื้อที่ขายเป็น “เนื้อวากิวไทย”
สายเนื้อหลายคนก็ “งง” ว่า “วากิวไทย” แล้วห้อยท้ายด้วย “A4” ได้ยังไง เพราะเกรดเนื้อวากิวที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็น A1-A5 มันเป็นการวัดมาตรฐานคุณภาพเนื้อ จาก “Japan Meat Grading Authority (JMGA)” ของญี่ปุ่น ซึ่ง “เนื้อไทย” ยังไม่ได้การรับรอง เพราะถ้าเป็นเนื้อไทย จะห้อยท้ายด้วย A4 ไม่ได้
จนกลายเป็นคำถามว่า นี่ “จงใจหลอก”คนกินว่าเป็น “เนื้อจากญี่ปุ่น”หรือเปล่า? และการทำแบบนี้ผิดกฎหมายไหม เพื่อให้ได้คำตอบที่เคลียร์ที่สุด ทีมข่าวจึงต่อสายหา “ณัฐวดี เต็งพานิชกุล”เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และทนายความจาก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”
คำตอบที่ได้คือ “ความผิด”อันดับแรกอาจเป็นเรื่อง “การโฆษณา” ตาม “พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค” มาตรา 22 ว่าด้วยเรื่องโฆษณา ซึ่งห้ามมีองค์ประกอบดังนี้
1.ข้อความที่เป็นเท็จ หรือเกินจริง
2. ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ต่อสาระสำคัญของสินค้า
3.ข้อความสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย
4 ข้อความที่ยุแยงให้คนแตกแยก
และ 5. อื่นๆ ตามที่กฎกระทรวงกำหนด
ใจความหลักๆ คือ เนื้อหาโฆษณา ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภค “เข้าใจผิด” ต่อตัวสินค้าหรือบริการ โดยต้องพิสูจน์ว่าเป็น “ความผิดพลาดทางการสื่อสาร”หรือ “ตั้งใจที่จะมาหลอกลวง”
{“ณัฐวดี”กูรูจาก“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”}
“แต่การที่เขาโฆษณา จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดอะค่ะ มันผิดเรื่องการโฆษณาอยู่แล้ว แล้วก็ตัว สคบ. เขาสามารถที่จะมีคำสั่ง ให้ตัวผู้ประกอบการแก้ไขโฆษณานั้นได้”
และการใช้ “ข้อความอันเป็นเท็จ”หรือ “ทำให้คนเข้าใจผิด” เกี่ยวกับสินค้าและบริการ เป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษ “จำคุกไม่เกิน 6 เดือน” หรือ “ปรับไม่เกิน 100,000 บาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประเด็นต่อมาคือ หากเป็นการตั้งใจทำโฆษณา หลอกให้คนเข้าใจผิดจริงๆ แบบนี้จะเข้าข่าย “ฉ้อโกง” ได้ เพราะเป็นการ “ปกปิดข้อมูลจริง” จนทำให้ได้ซึ่งทรัพย์สิน
ที่ยังลวง เพราะไม่มี “คดีตัวอย่าง”
นี่อาจเรียกได้ว่าเป็น “การโฆษณา” ที่ “ไม่ตรงปก”ซึ่งเราก็จะเห็นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ “ภาพโฆษณา”ไม่ว่าจะ “เครื่องดื่ม” หรือ “อาหาร” ที่ภาพ “ดูสวย-ดูเยอะ” แต่พอเจอของจริง กลายเป็น อ้าว..ไม่เห็นเหมือนในรูปเลย
และถ้าดูใต้ภาพโฆษณาพวกนี้ดีๆ มันจะมีตัวหนังสือเล็กๆ เขียนไว้ว่า “ใช้เพื่อการโฆษณาเท่านั้น”แต่ประเทศนึงที่น่าจะไม่ค่อยได้เจอกับปัญหาเหล่านี้ คงจะเป็น “ญี่ปุ่น”โดยเฉพาะสินค้าอย่าง “ขนม”
เพราะกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของบ้านเขา กำหนดเอาไว้ชัดเจนเลยว่า“ภาพขนม” ที่ปรากฏอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ต้องมี “ขนาดเท่าของจริง”เพื่อให้คนไม่รู้สึกว่า “ถูกโฆษณาหลอก”
ส่วนทางบ้านเรา “ณัฐวดี” จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคบอกว่า เรายังไม่มีกำหนดละเอียดถึงขนาดนั้นแต่หลักสำคัญๆ พอจะมีระบุเอาไว้อยู่ว่า ภาพที่ใช้โฆษณาต้องไม่ทำให้ “เกิดความเข้าใจผิด” ต่อตัวสินค้า
“คือไม่จำเป็นต้องเหมือนภาพเป๊ะๆ เนอะ แต่หมายถึงว่า มีองค์ประกอบครบถ้วนไหม”
สมมติว่า ในโฆษณาอาหาร มีรูปไก่ทอด 2 ชิ้น น้ำ 1 แก้ว ของจริงได้ตามนั้นหรือเปล่า นอกจากจำนวนแล้ว เราก็ต้องมาดูรายเอียดของโฆษณาอีกว่า “ปริมาณ” ที่บอก ตรงกับสินค้าจริงไหม
หากจะสรุป “สินค้าไม่ตรงปก” ที่เข้าข่าย “หลอกลวงผู้บริโภค” ก็คือสินค้าและบริการ ที่รายละเอียดในโฆษณา กับของจริงไม่เหมือนกัน จนทำให้คนดูแล้วเข้าใจผิด
แต่ถึงแม้กฎหมายจะระบุถึง ความผิดเรื่องโฆษณา “หลอกลวง-ไม่ตรงปก” แต่หลายครั้งผู้บริโภคกลับเห็นเคสแบบนี้ อย่างกรณีร้านปิ้งย่างที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็มีเสียงสะท้อนเพิ่มว่า “ไม่ใช่ร้านเดียวที่โฆษณาหลอกผู้บริโภคแบบนี้”
ที่เป็นแบบนั้น อาจเพราะในบ้านเมืองเรายังไม่เคยมีเคสตัวอย่าง ที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายแบบจริงๆ จังๆ ได้สักที เรื่อง “โฆษณา” กับ “สินค้าที่ไม่ตรงปก”
ทั้งที่จริงๆ แล้ว สามารถดำเนินคดีได้ ผ่านการร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ส่วนมากที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้ประกอบการได้รับคือ “โทษปรับ” เท่านั้น
แต่ถ้าผู้บริโภคต้องการผลที่หนักกว่านั้น คือ “ฟ้องเรียกค่าเสียหาย” ต้องไปเดินเรื่องฟ้องเป็น “คดีอาญา” ซึ่ง ต้องเสียทั้ง “เงิน” และ “เวลา” ในการเตรียมฟ้องร้อง ทำให้ผู้บริโภคหลายคนจำยอมที่จะปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป
อีกอย่าง ยังเหลือทางรอดให้ “ตัวผู้ประกอบการ” พอจะมี “ข้ออ้าง” ในเรื่อง “โฆษณาไม่ตรงปก” มาสู้ได้ว่า มันเป็น “ความคลาดเคลื่อน” ในการสื่อสาร เลยยิ่งกลายเป็นโอกาสที่จะ “รับฟ้อง” คดีแบบนี้ “น้อยลง” ไปอีก
“คือพอมันไม่มีกรณีตัวอย่าง ที่ฟ้องเรียกความเสียหายมาได้อะค่ะ มันก็กลายเป็นว่า ผู้ประกอบการยังเห็นว่า มันยังทำได้”
ถ้าอยากให้เคส “โฆษณาไม่ตรงปก” น้อยลงหรือหมดไป คงต้องเริ่มที่เคสปิ้งย่าง “เนื้อวากิวปลอม” นี้ โดยกูรูผู้อยู่ในองค์กรเรียกร้องสิทธิแก่ผู้บริโภครายนี้แนะว่า ให้ผู้เสียหาย “ฟ้องร้อง” เรียกค่าเสียหาย แล้วเอาผลคดีมาเผยแพร่ลงสาธารณะ เพื่อให้เกิด “เคสตัวอย่าง”
ต่อไป “ผู้ประกอบการ” ต่างๆ จะได้ไม่ใช้ลูกไม้แบบนี้อีก หรือทาง “สคบ.” อาจต้องมาดูกฎหมายใหม่ ระบุข้อกำหนดโฆษณาแต่ละประเภทให้ชัดเจนไปเลยว่า เนื้อหาโฆษณาต้องบอกรายละเอียดอะไรของสินค้าบ้าง เพื่อไม่ให้ต้องมี “เหยื่อผู้บริโภค” ในเคสคล้ายกันแบบนี้อีก
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **
ที่มา : MgrOnline