การข่าวชี้ปั่นกระแส!กระพือข่าว “ว้า”รุกตั้งฐานล้ำเขตแดนไทย พื้นที่เป้าหมายพม่าเคยรุกถล่มดอยไตแลง

เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 16:45:42
X
• ยังไม่มีการสำรวจและปักปันเขตแดนในพื้นที่ดังกล่าว
• พื้นที่เกิดเหตุทางฝั่งพม่า เคยมีการพยายามรุกถล่มดอยไตแลงและกลุ่มเจ้ายอดมาก่อน

แม่ฮ่องสอน/พิษณุโลก – กองทัพภาคที่ 3 แจง สถานการณ์ชายแดนแม่ฮ่องสอน ยังปกติ..หลังบางสื่อกระพือข่าว “ว้า-UWSA” รุกตั้งฐานที่มั่นล้ำเขตไทย ยันยังไม่มีการสำรวจและปักปันเขตแดน เผยพื้นที่เกิดเหตุพม่าเคยพยายามรุกถล่มดอยไตแลง-กลุ่มเจ้ายอดศึก แต่ไม่สำเร็จ

กรณีมีการนำเสนอข่าวสถานการณ์ชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในภาวะตึงเครียด โดยระบุว่า..ทางการไทยหรือทหารไทยในฐานที่มั่นพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.ปางมะผ้า – อ.ปาย แจ้งเตือนให้กองกำลังของสหรัฐว้า (UWSA) ถอนกำลังออกจากพื้นที่ของไทย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองและมีแนวโน้มว่าจะเกิดการปะทะกันนั้น

แหล่งข่าวระดับสูงของฝ่ายทหารของไทย ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขณะนี้ไม่พบความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทยตามข่าว ทุกอย่างยังคงเป็นไปอย่างปกติ เชื่อว่าเสนอข่าวเพื่อปลุกกระแส เพราะเป็นช่วงที่ใกล้กับการเตรียมจัดงานครบรอบวันปีใหม่ของกองกำลังไทใหญ่ในรัฐฉานหรือฐานที่มั่นดอยไตแลง(RCSS/SSA) ที่มีพลเอกเจ้ายอดศึกเป็นผู้นำ ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 หรือตรงกับวันส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ 2119

ซึ่งทหารกองกำลังสิงหนาทแม่ฮ่องสอน และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ได้จับตาดูความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อยู่อย่างใกล้ชิด ขณะที่กองทัพบกและรัฐบาลไทยก็ได้ประสานไปยังทางการเมียนมา หารือถึงกรณีที่เกิดขึ้นต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เดิมนั้นราวปี 2545 กองกำลังของทางการเมียนมาเคยสนธิกำลังเข้าปราบปรามชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ อย่างหนัก โดยเฉพาะที่ฐานที่มั่นดอยไตแลงของเจ้ายอดศึก โดยใช้ทั้งกำลังทหารและอาวุธหนักโจมตีกองกำลังไทใหญ่ที่มีสมรภูมิที่อยู่สูงกว่า แต่การโอบล้อมโจมตีครั้งนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะเส้นทางที่จะเข้าตีไทใหญ่จะต้องอ้อมเส้นทางเข้ามาในเขตไทย ทำให้การขึ้นตีฐานที่ดอยไตแลงล้มเหลวและเกิดความสูญเสียอย่างมาก

กระทั่งล่าสุดมีการนำเสนอข่าวว่าทางการไทยให้กองกำลังว้าถอนกำลังออกจากพื้นที่ทับซ้อนที่เคยเป็นที่ตั้งของขุนส่าเดิมออกไป แต่ทางกำลังของว้าไม่ปฏิบัติตามและมีท่าทีตรึงเครียดและอาจนำไปสู่การปะทะกับทหารไทย ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะศักยภาพหรือแสนยานุภาพของชนกลุ่มน้อยแตกต่างกับกำลังของทหารไทยอย่างมาก

ล่าสุดวันนี้(26 พ.ย.)พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษก กองทัพภาคที่ 3 ชี้แจงกับสื่อมวลชน ถึงสถานการณ์ชายแดนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่ากองทัพภาคที่ 3 ได้ปฏิบัติตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติการตามพันธกิจของกองทัพบก ใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ในทุกระดับ คือ คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC)

ได้แก่ คณะกรรมการฯ TBC แม่ฮ่องสอน – ลอยก่อ และ คณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) กองทัพภาคที่ 3 - สำนักปฏิบัติการพิเศษที่ 4 กองทัพเมียนมา คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) กองบัญชาการกองทัพไทย – กองทัพเมียนมา

การแก้ปัญหาจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยการพูดคุยกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกันให้ปัญหายุติโดยเร็ว

กรณีเส้นเขตแดนระหว่างไทย – เมียนมา ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ถึง จังหวัดระนอง รวมทั้งพื้นที่ทางทะเลยังไม่สามารถปักปันเขตแดนร่วมกันได้ครบทุกพื้นที่ บริเวณที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนดังกล่าว ยังไม่มีการสำรวจ และปักปันเขตแดน ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 3 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกระดับแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ

แต่ยืนยันว่าสถานการณ์ชายแดนเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน อยู่ในภาวะปกติ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งความสัมพันธ์ตามแนวชายแดนยังคงอยู่ในระดับที่ดีต่อกัน


ที่มา : MgrOnline