กรมท้องถิ่น ชี้ช่อง จว.ไม่จําเป็นต้องขยายเวลาเลือกตั้งซ่อม ยกเคส “ส.อบต.” ถูกวินิจฉัยพ้นตำแหน่ง เหตุอื่นที่ไม่ใช่ครบวาระ
เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 16:43:54
• กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชี้ช่องให้มีการเลือกตั้งซ่อม
• กระบวนการเลือกตั้งซ่อมจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพตามกรอบกฎหมาย
• ไม่จำเป็นต้องขยายเวลาการเลือกตั้งออกไป
• กรมท้องถิ่นได้หารือกับ กกต. เรียบร้อยแล้ว
กรมท้องถิ่น ยกเคส “ส.อบต.” ถูกนายอำเภอ วินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง เหตุอื่นที่ไม่ใช่ครบวาระ ชี้ช่องให้มีกระบวนการเลือกตั้งซ่อม “รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตามกรอบกฎหมาย” ยันไม่จําเป็นต้องขยายระยะเวลาจัดการเลือกตั้งออกไปอีก หลังขอหารือ กกต. เน้นให้ผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกคําวินิจฉัย/คําสั่ง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตามกรอบกฎหมาย
วันนี้ (26 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) แจ้งเวียนไปยัง 76 จังหวัด เพื่อแจ้ง นายอำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ให้ดําเนินการเกี่ยวกับข้อหารือต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น
กรณีมีคําสั่ง หรือคําวินิจฉัยให้สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือความเป็นผู้บริหารท้องถิ่น สิ้นสุดลงหรือพ้นจากตําแหน่งในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพ ตามแต่ละกรณี โดยจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาให้มีการจัดการเลือกตั้ง หรือไม่
ต่อข้อหารือกับสํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้มีหนังสือประสานขอความร่วมมือ จากกระทรวงมหาดไทย หลังจาก กกต.ได้พิจารณา เรื่อง ขอขยายระยะเวลาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)
กรณีสมาชิกสภาพของสมาชิกสภา อบต.(ส.อบต.) “แห่งหนึ่ง” สิ้นสุดลงตามมาตรา 47 ตรี (4) แห่งพระราชบัญญัติสภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
และมีข้อสังเกตกรณีตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ว่า นายอําเภอได้มีประกาศลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 วินิจฉัยให้ ส.อบต.ผู้นั้น พ้นจากตําแหน่งนับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2567
เนื่องจากได้ขาดประชุมสภา อบต. สามครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร และให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้ขาดประชุมสภา อบต. สมัยสามัญ สมัยที่ 3 คือ วันที่ 15 สิงหาคม 2567
ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า วันที่เป็นเหตุและมีผลให้ สมาชิกสภา อบต.พ้นจากตําแหน่ง กับวันที่นายอําเภอมีประกาศให้สมาชิกส.อบต. พ้นจากตําแหน่งมีระยะเวลาห่างกันเกินกว่าสองเดือน อันเป็นเหตุทําให้ต้องมีการขอขยายระยะเวลาให้มีการจัดการเลือกตั้ง
“ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น กรณีพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่นใด นอกจากครบวาระ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด โดยไม่จําเป็นจะต้องมีการขอขยายระยะเวลาให้มีการจัดการเลือกตั้งออกไป”
ให้ดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือความเป็นผู้บริหารท้องถิ่น สิ้นสุดลง เพื่อให้นายอําเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามแต่ละกรณี
มีคําวินิจฉัยหรือ มีคําสั่งได้อย่างรวดเร็ว อันจะทําให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพและดําเนินการได้ภายใน กรอบระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด
ที่มา : MgrOnline