"สามารถ"วืดประกัน! นอนคุก คดีฉ้อโกงฟอกเงิน ดิไอคอน
เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 17:07:39
• ตำรวจค้านประกัน เนื่องจากสามารถเคยมีตำแหน่งทางการเมือง ใกล้ชิดคนมีอำนาจ และมีศักยภาพทางการเงินสูง เกรงจะหลบหนี
• ทนายความยื่นโฉนดที่ดินมูลค่า 1.2 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัว
• ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแม่ของสามารถ
• ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว สามารถ
ศาลอาญารับฝากขัง "สามารถ-แม่"คดีฉ้อโกงฟอกเงินดิไอคอน ด้านตำรวจค้านประกัน เผยเคยมีตำแหน่งทางการเมือง ใกล้ชิดคนมีอำนาจ มีศักยภาพการเงิน เกรงจะหลบหนี ด้านทนายยื่นโฉนดที่ดินมูลค่า 1.2 ล้าน ศาลสั่งให้ประกัน "แม่" วงเงิน 5 แสนบาท ส่วน"สามารถ"ไม่ได้ประกันตัว ส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (26 พ.ย.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสืบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ควบคุมตัว นางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ อายุ 62 ปี ผู้ต้องหาที่ 1 และ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อายุ 41 ปี ผู้ต้องหาที่ 2 ในคดี ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5(1),(3) มาตรา 9 และมาตรา 60
โดยพฤติการณ์ตามคำร้องระบุว่า กรณีกล่าวหา บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด นายวรัตน์พล วรัทย์กุล หรือบอสพอล กับพวก รวม 19 ราย มีพฤติการณ์ร่วมกันหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหายด้วยการเปิดรับสมัครให้เข้ารับการอบรมขายสินค้าออนไลน์ โดยหลอกว่าจะสอนวิธีการขายของออนไลน์ และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม มีกลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าอบรม บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวกจะแนะนำชักจูงให้ผู้กล่าวหากับพวกร่วมลงทุนซื้อสินค้าของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ไปจำหน่าย โดยทำให้หลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เมื่อลงทุนซื้อสินค้าไปแล้วทางบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก จะเริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนตามแผนการลงทุนที่บริษัทจัดทำขึ้น และอ้างกับผู้เสียหายว่าสามารถทำรายได้เป็นจำนวนมากจากการขายสินค้าออนไลน์
นอกจากนี้ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก ได้เผยแพร่แผนประกอบธุรกิจการจ่ายค่าตอบแทนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จและมีจุดประสงค์มุ่งเน้นการหาผลประโยชน์ตอบแทนจากการชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครเป็นสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า และบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวกอ้างว่าตนเองได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนในระบบขายตรงแต่ความเป็นจริงทางบริษัทกับพวก ไม่ได้รับอนุญาตตามที่อ้าง ซึ่งเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงหรือแสดงข้อความเป็นเท็จ และกลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อโฆษณาหรือเชิญชวนผู้เสียหายมาร่วมลงทุนกับบริษัท เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราสูง แต่ทางบริษัทกับพวกไม่มีการนำเงินที่ได้รับจากผู้เสียหายไปประกอบตามที่กล่าวอ้างไว้กับผู้เสียหาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากตามที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ทั้งนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้บริหารและเครือข่ายของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก ว่าร่วมกันกระทำความผิดฐาน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันทุจริตในการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง โดยตกลงว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมเครือข่ายซึ่งคำนวนจากจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขื้น
จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่า มีการโอนเงินจากชื่อบัญชี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และบัญชีเงินฝากของนายวรัตน์พล วรัทย์กุล และต่อมามีข้อเท็จจริงว่าได้โอนเงินไปยังบัญชีของนางวิลาวัลย์ ผู้ต้องหาที่ 1 จำนวน 15 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 2,589,999 บาท และมีการโอนเงินไปยังบัญชีเงินฝากของนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 จำนวน 14 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 475,000 บาท อย่างไรก็ตามมูลนิธิทนายประชาชนฯ ได้ส่งหนังสือขอให้ตรวจสอบการกระทำของนายสามารถพร้อมกับส่งคลิปเสียงจำนวน 2 คลิป ซึ่งเป็นไฟล์เสียงสนทนาระหว่างนายวรัตน์พลและนายสามารถ
เมื่อพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบข้อมูลบัญชีธนาคารและธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง พบข้อมูลบัญชีเงินฝากของนางวิลาวัลย์ มีการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2561 - 28 ต.ค. 2567 พบว่ามีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีหลักร้อยล้านบาทโดนเป็นการโอนเงินไปยังบัญชีอื่นจำนวน 103,813,577.04 บาท และรับโอนเงินจากบัญชีอื่นจำนวน 88,894,306.46 บาท ซึ่งตรวจสอบการโอนเงินเข้าบัญชีของนายสามารถ 5 บัญชี พบยอดเงินในบัญชีมากกว่า 14 ล้านบาท มีการโอนเงินจากนายวรัตน์พล จำนวน 2.5 ล้านบาท และมีการรับโอนเงินจากผู้ต้องหารายอื่นเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวน
นอกจากนี้จากการตรวจสอบการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของนางวิลาวัลย์ไปยังบัญชีเงินฝากของนายสามารถเป็นเงินรวมกว่า 34 ล้านบาท เมื่อปรากฏธุรกรรมการโอนเงินหมุนเวียนจำนวนหลักร้อยล้านบาท ของนางวิลาวัลย์ แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลการยื่นแบบแสดงการเสียภาษีของกรมสรรพากรแต่อย่างใด การกระทำของนายวรัตน์พล นางวิลาวัลย์ และนายสามารถ จึงเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการรับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดที่มา หรือเพื่อช่วยผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำผิด ไม่ให้ต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง
การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1-2 เป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน
ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โดยพนักงานสอบสวนยังทำสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 30 ปาก รอผลพิสูจน์ของกลาง รอผลการตรวจลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาที่ 1-2
เจ้าหน้าที่สอบสวนจำเป็นต้องขอหมายขังผู้ต้องหาที่ 1-2 ไว้ระหว่างการสอบสวนมีกำหนด 12 วัน นับตังแต่วันที่ 26 พ.ย. - 7 ธ.ค. 2567
ทั้งนี้พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวเนื่องจากเป็นบุคคลตามหมายจับ มีการกระทำที่ลักษณะเป็นเครือข่ายและบุคคลทั้ง 3 รายเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกัน และมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก หากให้ประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานฟอกเงิน โดยนายสามารถผู้ต้องหาที่ 2 เป็นบุคคลที่เคยมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นบุคคลกว้างขวางมีความใกล้ชิดกับบุคคล ที่มีอำนาจ และมีศักยภาพทางการเงินสูง จึงเชื่อว่าปล่อยตัวผู้ต้องหาไปจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งพบว่าภายหลังจากมีคลิปเผยแพร่การสนทนาระหว่างนายวรัตน์พล ผู้ต้องหาตามหมายจับ และนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 เรื่องการเรียกรับเงิน กรณี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัดหลังจากนั้นทนายของผู้ต้องหา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับกรณีการเรียกรับเงินดังกล่าว ซึ่งเป็นการโอนเงินระหว่างนายวรัตน์พลผู้ต้องหาที่1 ก่อนจะโอนไปยังผู้ต้องหาที่ 2 ว่าเป็นเงินฝากทำบุญและการกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นการเตรียมการให้การเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดี และผลจากการตรวจค้น บ้านพักอาศัยของผู้ต้องหาที่ 2 มีการจัดเตรียมพยานหลักฐานชี้แจงแก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อันอาจสร้างความสับสนหลงประเด็น ต่อการรวบรวมพยานหลักฐาน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา 1-2 อาจจะพากันหลบหนีได้
ศาลอาญาพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาทั้งสองแล้ว ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขัง
ภายหลังทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว พร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน มูลค่า 1.2 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์คำร้องฝากขังแล้ว เห็นว่า ในส่วนของนางวิลาวัลย์ ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกนำบัญชีไปใช้ ประกอบกับมีอายุกว่า 60 ปี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หลักประกันน่าเชื่อถือ จึงเชื่อว่าจะไม่หลบหนี ศาลจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท
ส่วนนายสามารถ ผู้ต้องหาที่ 2 พฤติการณ์มีลักษณะเป็นเครือข่ายขบวนการ มีการโอนเงินหลายบัญชี พฤติการณ์ร้ายแรง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราวจะหลบหนี หรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ออกหมายขังผู้ต้องหาที่ 2 ไว้
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงคุมตัวนายสามารถ ส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามระเบียบ
อย่างไรก็ตามก่อนยื่นประกัน ว่าที่ร.ต.นฤพล เรืองสังข์ ทนายความของนายสามารถ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อยื่นประกันตัวทั้งสองคนเป็นโฉนดที่ดินหลายชุด รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท ซึ่งจะใช้หลักทรัพย์ชุดเดียวกันในการประกันตัวทั้งคู่ แต่ต้องขึ้นอยู่กับศาลว่าจะตีราคาประกันผู้ต้องหาคนละเท่าไหร่และต้องขึ้นอยู่กับศาลว่าจะให้ประกันตัวทั้งสองคนหรือไม่
ว่าที่ร.ต.นฤพลทนายความ เปิดเผยอีกว่า ส่วนตัวนายสามารถเอง จากการพูดคุยพบว่าไม่ได้มีความเครียด แต่ยังยืนยันว่าคดีนี้เป็นเพราะเรื่องทางการเมืองมากกว่าและมั่นใจว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเนื่องจากโดยพฤติการณ์ของคดีแล้วไม่มีความร้ายแรง เส้นทางการเงินก็ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมา แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงคุณแม่ที่ต้องมาถูกดำเนินคดีด้วย อยากให้ทางคุณแม่ได้รับการประกันตัวไปก่อน เนื่องจากมีอายุมากแล้วและแม่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เงินดังกล่าวก็เป็นเงินทำบุญเท่านั้น ส่วนคุณแม่ของนายสามารถมีอาการเครียด ซึ่งเป็นไปตามอายุและไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน แต่ก็เข้าใจว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ DSI และตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า นายสามารถได้ฝากอะไรถึงบรรดาบอสของ The Icon Group หรือไม่ ทีมทนายความให้ข้อมูลว่า ไม่มีการฝากอะไรถึงบุคคลที่สามแต่อย่างใด ขณะที่วันนี้ยังไม่มีบรรดาญาติ ของทั้งคู่เดินทางมาเยี่ยมที่ศาลอาญาและทั้งคู่ไม่ได้ฝากอะไรเป็นพิเศษ นอกจากหวังว่าจะได้อิสรภาพในการต่อสู้คดี
ทั้งนั้เมื่อเวลา 16.44 น.นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุลหรือบอสพอล ผู้ต้องหาคดีบริษัท The Icon Group ได้เดินทางมายังศาลอาญา โดยกล่าวว่า เดินทางมาเป็นพยานให้นายสามารถ เจนชัยจิตรวณิช หากศาลจะเปิดการไต่สวนการประกันตัวนายสามารถ และนางวิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ มารดานายสามารถ ผู้ต้องในข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสบคบกันฟอกเงิน
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบได้ว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคนหรือไม่ เพราะเนื่องจากเป็นดุลพินิจของศาล แต่ส่วนตัวมองว่า การที่ DSI คัดค้านการประกันตัว ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากคดีมูลฐานฟอกเงินยังไม่ได้มีการส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการเลย ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน เพราะพยานฝั่งตนเองยังขอเข้าให้ปากคำ จึงมองว่าการคัดค้านประกันตัวในคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไม่ Make Sense ทั้งนี้ บรรดาบอสไม่ได้มีการฝากอะไรถึงนายสามารถ เพราะนายสามารถติดต่อกับตนโดยตรง
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ออกมาแฉว่า มีผู้ใหญ่ยกหูโทรมาให้เคลียร์คดีของนายสามารถ นายวิฑูรย์บอกว่าไม่จริง ไม่มีเรื่องดังกล่าว
ที่มา : MgrOnline