กรุงไทยมองปัจจัยท้าทายสู่ Green Transition แนะ 3 แกนหลักร่วมมือจริงจัง

เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 13:26:37
X
• ต้องการความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนอย่างจริงจัง
• สถาบันการเงินพร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนและองค์ความรู้

กรุงไทยมองความท้าทายสู่ Green Transition ใน 3 ประเด็น ภัยธรรมชาติ-เศรษฐกิจนอกระบบ-ความเหลื่อมล้ำ แนะ 3 แกนหลักทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ขณะที่ภาคสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน-องค์ความรู้

นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย (KTB
) กล่าวในงานสัมมนา 2050 Net Zero ที่จัดโดย I business ในเครือผู้จัดการ ว่า ในเรื่องการขับเคลื่อนไปสู่ Net Zero เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เห็นกันว่า ปัญหาในเรื่องของ Climate change มีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัดขึ้นในทุกภาคส่วน โดยประเทศไทยถือว่ามีความเปราะบางในเรื่องของ Climate change จากข้อมูลที่จำนวนปล่อยคาร์บอนของเราในสัดส่วนเพียง 1% ของจำนวนคาร์บอนทั้งหมด แต่เราติด TOP 10 ที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate change ที่รุนแรง ดังจะเห็นได้จากภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นภารกิจทุกคนจะต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเป็นอยู่ในที่ทำงาน เศรษฐกิจชุมชน ไปจนถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ

ทั้งนี้ ในเรื่องของสภาพแวดล้อมนั้น จากรายงานของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้มีการเสนอแนะแนวทางใรการดำเนินให้ประเทศไทยในหลายส่วน เช่น ในเรื่องของการบริการจัดการน้ำ รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลด้านอากาศ น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม และการประมง ทั้งนี้ หากประเทศไทยยังคงไม่ปรับตัวในเรื่องดังกล่าว กระทั่งปี 2050 อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจีดีพีถึง -4% และคาดว่าเกิดผลกระทบต่อภาคการเกษตรและประมงได้ถึง 3.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนต้องใช้วงเงินลงทุนในระดับที่สูง โดยจากการคาดการณ์เม็ดเงินลงทุนที่จะใช้ในการเปลี่ยนผ่านของไทยนั้นอยู่ที่ 1.84 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เราเพิ่งมีเม็ดเงินลงทุนไปเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น เรื่องของเม็ดเงินลงทุนเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา

นอกจากนี้ เรามองปัจจัยที่ความท้าทายต่อ Green Transition ในอีกมิติ คือ การจัดการในเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบในสัดส่วนที่สูงถึง 48% ของจีดีพี และเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อ Green Transition เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ได้ถูกบันทึกทำให้กำกับดูแลเป็นเรื่องที่ยาก รวมไปถึงการเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลในเรื่องต่างๆทำได้ยากเมื่อเกิดปัญหา รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย

และในประเด็นที่สำคัญความเหลื่อมล้ำ ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นจำนวนมากแต่ยังขาดความพร้อมในการขับเคลื่อนไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน โดยปัญหา อุปสรรคต่างๆ โดยหลักเป็นเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการขาดความรู้ ความเข้าใจในความสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน Green Transition ขณะเดียวกัน ขาดผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการแนะนำให้สามารถเปลี่ยนผ่านได้ และในบางส่วนขาดแหล่งเงินทุน

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยเองได้ให้ความสำคัญในเรืื่องของ Green Financings มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้การสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ Green ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน กลุ่มโลจิสติกส์ และกลุ่มเรียลเอสเตทซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยคาร์บอนในระดับต้นๆ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนไปกว่า 2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจขนาดใหญ่ ยังให้ความสำคัญไปถึง Supply Chain ของธุรกิจที่เป็นรายเล็กรองๆ ลงมาด้วย ซึ่งในด้าน Green Financings นั้น ธนาคารกรุงไทยเองนั้นได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ เพื่อให้สอดรับ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นด้าน Green Loan, Green Deposit รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ช่วยลดการใช้กระดาษ และโซลูชันต่างๆ ที่ดูแลไปถึง Supply Chain ของธุรกิจ ESG Financings Program และ Green Financings Framework ที่จะบูรณาการความคิดในการขับเคลื่อน

"ในท้ายที่สุดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืน เป็นเรื่องที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งทำแต่เพียงลำพังไม่ได้ เป็นสิ่งที่ 3 แกนหลักได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน โดยภาครัฐจะต้องดูแลในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อ รวมถึงแรงจูงใจต่างๆ ในการลงทุน การเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการให้ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านและความรู้ในการเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ภาคเอกชนรายใหญ่เองก็ต้องช่วยดูแล Supply Chain ของตนเองให้สามารถเปลี่ยนผ่านได้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และภาคประชาชนต้องตระหนักในเรื่องดังกล่าวเช่นกันโดยการปรับตัวพัฒนา skill ที่มีประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านต่อไป"

ที่มา : MgrOnline