คนไทยทิ้งขยะอาหาร 86 กิโลกรัม/คน/ปี แซงค่าเฉลี่ยโลก
เผยแพร่ : 26 พ.ย. 2567 12:14:13
• การทิ้งอาหารเหลือ ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม
รู้หรือไม่! ทุกครั้งที่เรากินอาหารในจานเหลือ เราไม่ได้ทิ้งแค่อาหารเท่านั้น แต่กำลังโยนเงินลงถังขยะ แถมยังเป็นอีกคนที่เพิ่มอัตราเร่งของสภาวะโลกเดือด เพราะขยะอาหารมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7-10% ของโลก โดยที่เทรนด์อัพไซเคิลอาหาร เป็นทางรอด
สถิติที่น่าตกใจจาก Food Waste Index Report 2024 รายงานว่า ค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ามหาศาลกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี (จากเดิม 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เทียบกับการประเมินของครั้งล่าสุดที่ผ่านมาใน Food Waste Index 2021 ขณะที่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากเดิม 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน
สถานการณ์นี้ท้าทายอย่างยิ่งต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 12.3 ที่ต้องการลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และยังกระทบต่อข้อตกลงปารีสในการควบคุมอุณหภูมิของโลก ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่แค่สถิติธรรมดา แต่เป็นสัญญาณเตือนภัยที่กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราทุกคน ปัญหาขยะอาหาร (Food Waste) ส่งผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7-10% ของโลก และทางสหประชาชาติก็ตั้งเป้าลดขยะอาหาร 50% ภายในปี ค.ศ. 2030
ทุกครั้งที่เราสั่งอาหารเกินความจำเป็น หรือซื้อของสดมาแล้วปล่อยให้เน่าเสียในตู้เย็น เราไม่ได้สูญเสียแค่โภชนาการของอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายมหาศาลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่ค่าน้ำมันที่ใช้ในการขนส่ง ค่าแรงงานของเกษตรกร ค่าไฟฟ้าในการแปรรูปและจัดเก็บ ไปจนถึงค่าการจัดการขยะ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดการและบำบัด รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหารในหลุมฝังกลบ
ทีนี้ลองซูมเข้ามาในระดับครัวเรือนกันบ้าง ค่าเฉลี่ยครอบครัวไทยเสียเงินจากการทิ้งอาหารถึงหลักพันบาทต่อเดือน ลองคิดดูว่า หากสามารถประหยัดเงินจำนวนนี้ได้ เราจะสามารถนำไปต่อยอดได้ไม่น้อย เช่น การลงทุน การศึกษา หรือแม้แต่การพักผ่อนหย่อนใจ
ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและการท่องเที่ยว ขยะอาหารไม่ต่างจากสึนามิหรือน้ำป่าที่พัดพากำไรของผู้ประกอบการให้ลอยหายไป ร้านอาหารและโรงแรมต้องแบกรับภาระต้นทุนจากการจัดการอาหารเหลือทิ้ง และภาระนี้ก็จะถูกผลักกลับมาสู่ผู้บริโภคในรูปแบบของราคาอาหารที่แพงขึ้น สร้างวงจรทางเศรษฐกิจที่ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย
แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ปัจจุบันสตาร์ทอัพหลายแห่งกำลังพัฒนาแอปฯ ที่ช่วยจัดการอาหารเหลือทิ้งได้อย่างน่าสนใจ และธุรกิจ "อัพไซเคิลอาหาร" (Upcycle Food) กำลังเป็นเทรนด์ที่นับวันเติบโต ด้วยการแปรรูปวัตถุดิบที่เหลือใช้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มการจ้างงานใหม่ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตระหนักว่า การร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาขยะอาหารไม่ใช่เพียงเรื่องของการรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นการเซฟเงินของเราเองด้วย การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ของทุกคนในวันนี้ เช่น รับประทานอาหารให้หมดจาน, ซื้ออาหารมาตุนไว้แค่พอดี หรือลดการตกแต่งจานก่อนเสิร์ฟ อาจสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
หมายเหตุ : การอัพไซเคิลในอุตสาหกรรมอาหาร คือ แทนที่ของเสียจากวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร จะถูกรีไซเคิล โดยใช้เป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หมักเป็นแก๊สไบโอดีเซล หรือการเผาเพื่อสร้างพลังงาน การอัพไซเคิลจะเป็นการนำส่วนเกินเหล่านั้นมาทำประโยชน์เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การสกัดสารฟังก์ชัน การสกัดน้ำมัน ฯลฯ
อ้างอิง : Food Waste Index Report 2024, Token X
ที่มา : MgrOnline