เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ยืนยันคัดค้านกรมอุทยานออก พ.ร.ฎ.ไล่ชาติพันธุ์ออกป่าอนุรักษ์
เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 23:38:49
• ชื่อร่างฯ กรมอุทยานฯ อาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีนโยบายจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้าน
• ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างฯ ดังกล่าวมีเจตนาร้ายแฝงอยู่
• จริงๆแล้ว ร่างฯ มีเจตนาขับไล่ชาวบ้านออกจากเขตอุทยานฯ อย่างถาวร
รายงานพิเศษ
“ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เขียนชื่อให้ดูดี ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กรมอุทยานฯ จะอนุญาตให้พี่น้องชนเผ่าต่างๆ ที่มีข้อพิพาทเรื่องที่อยู่อาศัยกับกรมอุทยานฯ มาก่อนหน้านี้จะสามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ แต่ความจริงแล้ว กรมอุทยานฯ กำลังดำเนินการไปเพื่อขับไล่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ออกจากป่าให้หมดในอีกไม่กี่ปี”
พนม ทะโน ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งจะมีมติเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2567 เห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... ที่เสนอโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 17 แห่งในช่วงต่อจากนี้
พนม ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าอ่านเฉพาะชื่อของร่างฯ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ทางกรมอุทยานฯ มีนโยบายจะจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้านในเขตอุทยาน แต่แท้จริงแล้วกลับมีเจตนาที่จะขับไล่อย่างถาวรมากกว่า
จากข้อสังเกตของประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ถ้าเข้าไปดูในสาระสำคัญของ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... จะพบว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ประกาศออกมาเพื่อให้ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินทับซ้อนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จะต้องลงชื่อเข้าร่วมโครงการที่กรมอุทยานฯ บอกว่า จะเป็นการจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่อุทยานฯให้เป็นการชั่วคราวโดยมีกำหนดระยะเวลา 20 ปี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งอาศัยทำกินอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์กับหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ป่าอย่างกรมอุทยาน
แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดของการจัดสรรที่ทำกิน ผู้แทนของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองก็พบว่า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้ชนเผ่าต่าง ๆต้องถูกขับไล่ออกจากป่าจนหมด หรือแม้จะยังอยู่อาศัยต่อไปได้ ก็ไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อทำกินได้จริง เช่น
- ทำกินได้ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่
- มิได้มีสิทธิในที่ดินนั้น
- มีระยะเวลาบังคับใช้คราวละไม่เกิน 20 ปี
- จะต้องไม่ละทิ้งการทำประโยชน์หรือไม่อยู่อาศัยติดต่อกันเกิน 1 ปี โดยไม่มีเหตุอันควร
- ห้ามทำให้เกิดมลพิษ
“ในขณะที่ทางอุทยานฯ บอกว่า ตัวกฎหมายออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านสามารถใช้ที่ดินทำกินได้ แต่ในรายละเอียดกลับมีเงื่อนไขยิบย่อยมากมาย เช่น การกำหนดให้ต้องทำประโยชน์ต่อเนื่องทุกปี ก็เป็นเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน ทั้งที่เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่อนุรักษ์ป่าได้ดีที่สุดเพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารเคมี ปล่อยให้ป่าฟื้นตัวด้วยตัวเองในวงรอบ 7 ปี แต่อุทยานกลับบอกให้ต้องในที่ดินเดิมแปลงเดียวทุกปี ซึ่งก็แปลว่า เป็นการบีบบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องเปลี่ยนไปใช้สารเคมี ใช่หรือไม่”
“ยังมีข้อสังเกตอื่นๆ อีกครับ ตั้งแต่การกำหนดเวลาเอาที่ดินคืน การให้แค่ครอบครัวละ 20 ไร่ หรือแม้แต่การเขียนกฎหมายด้วยข้อความที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่อุทยานสามารถตีความได้โดยกว้างว่า สิ่งที่ชาวบ้านทำอยู่เป็นความผิด เช่น การระบุว่าต้องไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษใดๆ หรือมีคำว่า เป็นปกติธุระ”
พนม ตั้งคำถามต่อข้อความต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในร่างพระราชกฤษฎีกาของกรมอุทยานฯ ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติเห็นชอบให้มีผลบังคับใช้ต่อไปในพื้นที่ 17 อุทยานฯ
“ไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษเลย ?? .... ผมขอถามว่า เจ้าหน้าที่อุทยานเองมีความสามารถทำได้มั้ย เพราะถ้าเขียนแบบนี้ กิจกรรมอะไรก็จะถูกตีความโดยใช้ดุลพินิจว่าทำให้เกิดมลพิษได้ทั้งนั้น ถ้ากฎหมายแบบนี้มีผลบังคับใช้ ก็อาจจะมีพี่น้องชาติพันธุ์จำนวนมากถูกตีความด้วยดุลพินิจแบบนี้ครับ ดังนั้น นี่จึงเป็นกฎหมายที่ควรนำกลับไปทบทวนใหม่”
อีกหนึ่งเหตุผลที่ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง เห็นว่า ควรนำร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กลับไปทำกระบวนการใหม่ทั้งระบบตั้งแต่ต้น เพราะเขามีข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหลายแห่งได้ลงพื้นที่ไปขอให้ชาวบ้านลงชื่อยอมเข้าร่วมโครงการนี้ และมีชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 90% ลงชื่อยอมเข้าร่วมโครงการไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่เคยได้รับรู้ผลเสียที่จะตามมาเลย
“ผมจะแบ่งชาวบ้านเป็น 3 กลุ่มนะครับ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ลงชื่อยอมเข้าร่วมโครงการ เพราะได้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนมาว่าจะเป็นการให้สิทธิทำกินถาวร โดยไม่รู้ว่ามีสิทธิแค่ 20 ปี และไม่รู้ด้วยว่ามีเงื่อนไขยิบย่อยอีกมากมาย ...
กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ยอมลงชื่อด้วยความจำใจ เพราะได้รับข้อมูลว่า การลงชื่อร่วมโครงการนี้จะถือเป็นโอกาสที่จะได้พิสูจน์สิทธิ์ว่าอยู่อาศัยมาก่อนแล้ว โดยไม่รู้ว่า คำว่าอยู่อาศัยมาก่อนแล้ว เป็นการรับรองสิทธิ์เพียงว่า อยู่มาก่อนมีมติ ครม.เมื่อปี 2548 หรืออยู่มาก่อนมีนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ...หากลงชื่อไป ก็จะกลายเป็นการยอมรับว่า พี่น้องชาติพันธุ์เพิ่งมาอนู่ในป่าก่อนปี 2548 หรือก่อนปี 2557 เท่านั้น ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว คนเหล่านี้อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่อาศัยและยังคงความสมบูรณ์ของป่า ก่อนที่ป่าที่พวกเขาอยู่จะถูกประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งสิ้น ...
ใน 2 กลุ่มแรก ยังมีบางส่วนที่ต้องยอมลงชื่อ เพราะกลัวว่าหากเข้าร่วมโครงการก็จะถูกจับกุมหรือถูกขับไล่ทันที
กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่รับรู้ข้อดีข้อเสียทั้งหมด จึงไม่ยอมลงชื่ออย่างเด็ดขาด ซึ่งมีเพียงประมาณ 10% เท่านั้น แต่ก็ยังคงถูกกดดันอย่างหนัก มีบางพื้นที่ที่ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนและถูกจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกและข้อหาทำให้โลกร้อน”
“เราถือว่า กระบวนการของกรมอุทยานฯ ที่ไปเดินล่ารายชื่อตามบ้านและให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนเช่นนี้ เป็นวิธีการที่เรียกได้ว่า แอบทำ ลักทำ ... นี่จึงเป็นกระบวนการได้รายชื่อชาวบ้านมาโดยมิชอบ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน”
ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ยืนยันด้วยว่า เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและอีกหลายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จะเดินหน้าคัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ทั้งเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการ ทบทวน ให้เริ่มกระบวนการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมดโดยต้องทำผ่านเวทีสาธารณะอย่างเปิดเผยและโปร่งใส รวมทั้งจะเรียกร้องให้รัฐสภานำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองละส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กลับมาพิจารณาเห็นชอบด้วย
“เราต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดแบบมีส่วนร่วมครับ ไม่ใช่จะต้องไปยอมรับกระบวนการที่แอบทำหรือลักทำเช่นนี้ เราจะเห็นได้เลยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังจะออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของตัวเองใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ...”
“อาจบอกได้ว่า เป็นกฎหมายที่ข้ามหัวกระทรวงอื่นๆ ไปหมดเลยด้วยซ้ำ เพราะในพื้นที่ที่พี่น้องชาติพันธุ์อาศัยอยู่ มีทั้งโรงพยาบาล มีโรงเรียน มีสถานีตำรวจ หรือในบางพื้นที่ก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่สืบค้นไม่ยาก แต่กระทรวงทรัพย์ฯ กำลังจะออกกฎหมายที่ทำให้พวกเขาเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจตัดสินได้ว่า ใครควรได้อยู่หรือไม่ควรได้อยู่ในพื้นที่ป่า” พนม ตั้งคำถามถึงขอบเขตอำนาจของกรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายนี้ ว่าเป็นอำนาจที่เกินขอบเขตหรือไม่
ที่มา : MgrOnline