ฝ่ายนวัตกรรม DPU จัดการแข่งขันรอบตัดสิน โครงการ “77 Soft Power Thailand Hackathon” ปลุกพลังทักษะ AI และความคิดสร้างสรรค์ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ “ยุคใหม่” แก่นักศึกษา

เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 19:30:48
X
• มุ่งพัฒนาทักษะ AI และความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา
• สร้างโอกาสและอาชีพใหม่ให้แก่นักศึกษาในยุคปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันรอบตัดสินโครงการ 77 Soft Power Thailand Hackathon เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมสัจจา 1 โดยมีนักศึกษาจากหลากหลายคณะและวิทยาลัย เข้าร่วมประชันไอเดียนำเสนอ Soft Power ของแต่ละจังหวัด ผ่านการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อชิงทุนการศึกษาและรางวัลมูลค่ารวมกว่า 20,000 บาท ผลการแข่งขันรางวัลชนิดเลิศได้แก่ “นายทรงสิทธิ์ ภูฉลอง” หรือ น้องอิคคิว นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ หลักสูตรธุรกิจระหว่างประเทศ ชั้นปีที่ 3 จากการนำเสนอ Soft Power ของจังหวัดเลย โดยเชื่อมโยง "ดอกฝ้ายบาน" และผ้าไหมท้องถิ่น สู่วงการแฟชั่น

โครงการ 77 Soft Power Thailand Hackathon จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาไอเดีย Soft Power จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 รอบ โดยรอบแรกผู้เข้าแข่งขัน 77 คน ต้องนำเสนอ Soft Power ของจังหวัดที่ได้รับมอบหมายผ่านการใช้ AI ในการหาข้อมูล รอบสอง ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบต้องนำเสนอแคมเปญเพื่อโปรโมท Soft Power ในรูปแบบคลิปวิดีโอความยาว 3 นาที และรอบชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขัน 15 คนสุดท้าย จาก 15 จังหวัด ต้องนำเสนอผลงานในรูปแบบ Storytelling โดยสมมติว่าโครงการของตนเองประสบความสำเร็จ และได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นผู้ผลักดันหลัก

นอกจากการเฟ้นหาไอเดีย Soft Power ที่โดดเด่นแล้ว ในระหว่างที่ทำกิจกรรมจะมีการจัด Workshop อบรมให้ความรู้และเทคนิคต่างๆ แก่นักศึกษา เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในหลายด้าน เช่น การส่งเสริมให้ใช้ AI ในการทำงาน ทักษะการสื่อสาร การนำเสนอ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์โครงการที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต ฯลฯ โดยในอนาคตมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีแผนที่จะผลักดัน Soft Power ที่นักศึกษานำเสนอ ให้สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ และเปิดเวทีให้นำเสนอผลงานในระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป

นายทรงสิทธิ์ ภูฉลอง หรือ น้องอิคคิว เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเลือก Soft Power ของจังหวัดเลย และการใช้ AI ในการค้นคว้าข้อมูลเพื่อพัฒนาไอเดียว่า แรงบันดาลใจแรกเขานึกถึง ‘ผีตาโขน’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัด แต่หลังจากศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเขาพบว่าจังหวัดเลยยังมี Soft Power อื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น งานดอกฝ้ายบาน ซึ่งเป็นงานกาชาดประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อโปรโมทผ้าฝ้ายของจังหวัด จึงได้นำเสนอไอเดียการต่อยอดผ้าฝ้ายจากงานดอกฝ้ายบานสู่วงการแฟชั่น โดยใช้ “ผ้าไหม” ซึ่งเป็น Soft Power ที่คนทั่วไปยังไม่รู้จักมาเป็นตัวเชื่อม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และทำให้ Soft Power ของจังหวัดเลยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

“จริงๆ ไม่คิดว่าจะได้รับรางวัลชนะเลิศ เพราะรู้สึกว่าตัวเองนำเสนอได้ไม่ดี และทำเวลาไม่ทัน แต่รู้สึกมั่นใจในช่วงตอบคำถาม เนื่องจากได้ค้นคว้าข้อมูลมาเป็นอย่างดี ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบงานศิลปะอยู่แล้วก็เลยทำให้ผมนึกถึงแค่ผีตาโขน แต่พอได้ใช้ AI ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ผมก็พบว่าเลยมีอะไรมากกว่านั้นมากมาย พอประกาศผลก็รู้สึกดีใจและรู้สึกคุ้มค่ากับความเหนื่อยที่ทุ่มเทให้กับโปรเจกต์มาตั้งแต่ Workshop แรก”

น้องอิคคิว ยังเผยถึงเคล็ดลับความสำเร็จในการคว้ารางวัลชนะเลิศว่า เกิดจากการใช้ AI อย่างชาญฉลาดและการเตรียมตัวอย่างหนักเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการใช้ AI ที่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่เครื่องมือที่ทำงานตามคำสั่ง ซึ่งต่างจากเดิมที่เคยใช้ AI เพื่อช่วยทำงานทั่วไป มาเป็นการใช้ AI เพื่อช่วยในการวางแผนหาข้อมูล การวิเคราะห์ และการนำเสนอ รวมถึงการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งทั้งหมด AI ช่วยให้เขาได้เรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นเยอะมาก อีกทั้งยังพัฒนาความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เป็นอย่างดี

“เหมือนกับเราอยู่กับคนที่เก่ง เราก็จะเก่งขึ้น ถ้าเรารู้จักใช้ AI อย่างชาญฉลาด นำมาพัฒนาตัวเองก็จะสามารถค้นพบเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน แตกต่างจากก่อนหน้าที่เราเคยใช้ Google เป็นเครื่องมือหลักในการค้นหาข้อมูล ต้องเสียเวลาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายเว็บไซต์ แต่พอใช้ AI ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยที่คัดกรองข้อมูล ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ซึ่งช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด”

น้องอิคคิว กล่าวเสริมอีกว่า ส่วนตัวเขาเชื่อว่า AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญคือ ‘มนุษย์’ ต้องรู้จักใช้ AI ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบท เพราะข้อมูลที่ได้จาก AI อาจจะไม่ครบถ้วน ถูกต้อง และเหมาะสมกับทุกสถานการณ์

“นอกจากทักษะต่างๆ เรื่อง AI ที่ผมได้ในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ อนาคตผมวางแผนไว้ว่าจะต่อยอดนำทักษะที่ได้รับในโครงการนี้ไปต่อยอดการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะ AI เป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การหาข้อมูลเกี่ยวกับสารอาหารและการออกกำลังกายที่ผมทำเป็นงานอดิเรก ก็อยากฝากถึงผู้ที่มองว่า AI เป็นเรื่องไกลตัวว่า AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ หากรู้จักใช้ให้ถูกวิธีและเหมาะสม”

สำหรับบรรยากาศการนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศวันนี้ เป็นไปอย่างเข้มข้นและคึกคักไปด้วยเหล่าคนรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ต่างมุ่งมั่นนำเสนอ Soft Power ของจังหวัดตัวเองอย่างเต็มความสามารถ โดยคณะกรรมการทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณพันธุ์รวี บุนนาค หัวหน้างานส่งเสริมการประกอบการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), ผศ.บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ รองคณบดี วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี, ผศ.ทิพย์ลักษณ์ โกมลวณิช รองคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ต่างได้ให้คำแนะนำและชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์ ของนักศึกษาที่สามารถนำเสนอ Soft Power ของแต่ละจังหวัด ในมุมมองใหม่ๆ รวมถึงการใช้ AI ในการค้นคว้า และนำเสนอข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน และผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือ การให้นักศึกษาได้เรียนรู้การใช้ AI เป็นเครื่องมือในการทำงานและการเรียน เช่น การค้นหาข้อมูล การสร้างไอเดีย และการมองมุมมองใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดแคมเปญหรือโครงการ ที่น่าสนใจนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อ Soft Power ของจังหวัดนั้นๆ

“โครงการนี้มุ่งเน้นให้เห็นภาพจริง เพื่อให้เกิด impact และนำไปสู่การสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ ซึ่งนอกจากนักศึกษาได้เรียนรู้การใช้ AI ในการทำงานสำหรับค้นหาข้อมูล สร้างไอเดียหรือมุมมองใหม่ๆ โครงการนี้ยังช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และได้เรียนรู้การสื่อสาร อีกทั้งยังเสริมสร้างความมั่นใจในความสามารถให้กับนักศึกษา และที่สำคัญคือ นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ปฏิบัติได้จริง”

ผศ.ไพรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยังมีแผนที่จะพัฒนาโครงการนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น การผลักดันให้นักศึกษาต่อยอด Soft Power สู่เชิงพาณิชย์ การจัด Workshop เชิงลึก รวมถึงการเปิดเวทีให้นำเสนอผลงานในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

“อนาคตสิ่งที่มหาวิทยาลัยจะทำควบคู่คือการ พัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการใช้ AI ควบคู่ไปกับการพัฒนานักศึกษา เพื่อให้บัณฑิตมีความพร้อมสำหรับโลกการทำงาน เพราะอาจารย์ผู้สอนเป็นบุคลากรสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา การพัฒนาอาจารย์ให้ทันต่อเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อให้อาจารย์สามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะที่จำเป็น นอกจากนี้เราก็จะขยายประเด็นให้ครอบคลุมในด้านต่างๆ ที่นักศึกษาชอบและทำมากขึ้น โดยปีนี้ที่เราเน้นด้าน AI เพราะขณะนี้ AI เป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตเราแล้ว เราต้องใช้ประโยชน์ให้เป็นและให้ได้”

โครงการ “77 Soft Power Thailand Hackathon” ถือเป็นก้าวสำคัญของ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการพัฒนาให้นักศึกษาก้าวทันโลกในยุคปัจจุบัน โดยไม่เพียงส่งเสริมให้นักศึกษา ใช้ AI เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการนำเสนอ แต่ยังมุ่งเน้นให้เกิด “ผลกระทบเชิงรูปธรรม” โดยเชื่อมโยง Soft Power ของแต่ละจังหวัด กับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน และการจัดอีเวนต์ เพื่อโปรโมท นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ การพัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้และทักษะที่จำเป็น ให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับโลกการทำงานในอนาคต และสะท้อนให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า





ที่มา : MgrOnline