สนอง มท.หนู จี้ 76 จว.+ นายก อบจ. ตั้ง “ทีมงานประปาดื่มได้” หลัง “อนามัย” สุ่มแบคทีเรีย-อีโคไล พรึ่บ! ดื่มได้จริง 21 แห่ง

เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 16:52:33
X
• เน้นการพัฒนาระบบน้ำดื่มสะอาดจากประปาหมู่บ้าน 69,000 แห่ง ใน 7,000 อปท.
• สั่งการทุกจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการร่วมกับนายก อบจ.
• เร่งด่วนให้ อปท.ที่มีระบบประปาอยู่แล้ว ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ

อธิบดีกรมท้องถิ่นคนใหม่ เร่งสนอง มท.หนู ขับเคลื่อนน้้ำดื่มสะอาด จากประปาหมู่บ้าน 6.9 หมื่นแห่ง ใน 7 พัน อปท. สั่งทุกจังหวัด ตั้งคณะทํางาน บูรณาการร่วม “นายก อบจ.” จี้เร่งด่วน อปท.ที่มีระบบประปาอยู่แล้ว ปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพให้เข้าเกณฑ์ประปา 3C อย่างน้อย 1 แห่ง หวังดันต้นแบบระดับจังหวัด เผย ข้อมูลปี 67 “กรมอนามัย” สุ่มน้ำประปาหมู่บ้าน 880 แห่ง จาก 6.9 หมื่นแห่ง ปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย มากถึงร้อยละ 58.0 - เชื้ออีโคไล ร้อยละ 32.3 แถมสีน้ำเข้ม ขุ่น หลังผ่านการรับรองดื่มได้ แค่ 21 แห่ง

วันนี้ (25 พ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อนโยบายการขับเคลื่อนน้ำดื่มสะอาดบริการประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 นโยบายหลัก ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ล่าสุด นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) คนใหม่ เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ดำเนินการแจ้ง อปท.ทุกพื้นที่

ให้ใช้เป็นแนวทางในการดําเนินงานด้านการพัฒนา และจัดทําระบบประปาหมู่บ้าน ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพระบบประปาหมู่บ้าน

ทั้งนี้ ให้จังหวัดแต่งตั้งคณะทํางานขับเคลื่อนน้ำดื่มสะอาดบริการประชาชนของ อปท. ระดับจังหวัด โดยมีองค์ประกอบและอํานาจหน้าที่ (ร่าง) คําสั่งแต่งตั้งคณะทํางานระดับจังหวัด

“มีรองผู้ว่าฯ ที่รับมอบหมาย เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผอ.สนง.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ผจก.ประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.สาขาจังหวัด) โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด นายก อบจ.จังหวัดนั้นๆ รวมถึงท้องถิ่นจังหวัด เป็น คณะทำงาน”

เพื่อทําหน้าที่กําหนดกรอบ แนวทางปฏิบัติ วิธีการ สํารวจ วิเคราะห์ข้อมูลประปาหมู่บ้าน จัดทําแผน พร้อมกําหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน ส่งเสริมและสนับสนุน อปท.ในการผลิตน้ำประปาสะอาด

บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ระบบประปาหมู่บ้านที่ได้รับรองคุณภาพจากรมอนามัย ตามเกณฑ์ประปาดื่มได้ พ.ศ. 2563 (ประปา 3C) กํากับ ติดตาม และประเมินผลตามแผน พร้อมรายงานผลให้ สถ.ทราบ

ให้ จังหวัดดําเนินการพัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านฯ โดยใช้คู่มือหลักเกณฑ์และมาตรฐานคุณภาพระบบประปาหมู่บ้านของ อปท. เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการดําเนินงานประปาหมู่บ้าน

“ให้ทุกจังหวัด กําหนดเป้าหมายในระยะเร่งด่วน โดยให้ อปท.ทําการปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านฯ ให้สะอาดได้รับการรับรองคุณภาพ ตามประกาศกรมอนามัย อย่างน้อย 1 แห่ง เป็นต้นแบบให้กับ อปท.อื่นๆ ในจังหวัด”

พร้อมทั้ง ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการขยายเขตประปาให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ ให้จังหวัดแจ้ง อปท. 7,850 แห่ง ขับเคลื่อนระบบประปาหมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบทุกแห่งโดยใช้คู่มือหลักเกณฑ์ และมาตรฐานคุณภาพระบบประปาหมู่บ้าน

เป็นแนวทางในการดําเนินงานด้านการพัฒนา และจัดทําระบบ ประปาหมู่บ้านให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพระบบประปาหมู่บ้าน

เช่น จัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาด้วยเครื่องมือภาคสนามอย่างง่ายเป็นประจํา ทุกไตรมาส (3 เดือน) และส่งตัวอย่างน้ำประจําหมู่บ้านให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ตรวจสอบกรณีพื้นที่ใดมีความจําเป็นเร่งด่วนให้มีการติดตั้งระบบกรองน้ำและระบบผลิตน้ำดื่ม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด และรายงานผลการดําเนินการให้อําเภอ และจังหวัดทราบทุกเดือน โดยให้จังหวัดรวบรวมข้อมูลผลการขับเคลื่อน แจ้ง สถ. โดยเริ่มวันที่ 25 ธันวาคม 2567 นี้เป็นต้นไป

สัปดาห์ที่แล้ว นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุตอนหนึ่งว่า น้ำประปาหมู่บ้านอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของ อปท. ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 69,028 แห่ง จากกว่า 7,850 อปท. และจากการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านปี 2567 ด้วยการสุ่ม ตรวจสอบ

“จำนวน 880 แห่ง พบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียมากถึงร้อยละ 58.0 และพบเชื้ออีโคไล ร้อยละ 32.3 อีกทั้ง ยังพบสีของน้ำเข้ม และขุ่น ซึ่งระบบประปาของ อปท. ผ่านการรับรองประปาดื่มได้ 21 แห่ง และ ผ่านการรับรองประปาหมู่บ้านสะอาด 3C 430 แห่ง”

โดยกรมอนามัย ได้แนะนำให้ประชาชนปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาก่อนนำมาใช้งาน ด้วยการกรอง การต้ม หรือการเติมคลอรีน ก่อนที่จะนำมาบริโภคในครัวเรือน

ที่มา : MgrOnline