“พาณิชย์” กางแผนตรวจนอมินี ปี 68 ลุยเช็กนิติบุคคล 26,830 ราย

เผยแพร่ : 25 พ.ย. 2567 09:17:46
X
• ตั้งเป้าตรวจสอบนิติบุคคล 26,830 ราย ทั่วประเทศ
• เน้นตรวจสอบธุรกิจท่องเที่ยว, อสังหาฯ, โรงแรม, โลจิสติกส์, อีคอมเมิร์ซ และคลังสินค้า
• เพื่อป้องกันชาวต่างชาติแอบอ้างทำธุรกิจในไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำแผนปราบปรามนอมินี ปี 68 ตั้งเป้าตรวจสอบนิติบุคคล 26,830 ราย โฟกัสธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ต โลจิสติกส์ ขายออนไลน์ คลังสินค้า ในทุกจังหวัด เพื่อป้องกันคนต่างด้าวแอบอ้างทำธุรกิจในไทย เผยสำหรับธุรกิจอื่นๆ หากประชาชน เอกชน มีข้อมูลก็ให้แจ้งมา พร้อมเข้าไปตรวจสอบทันที

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงแผนการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ว่า กรมมีแผนที่จะตรวจสอบธุรกิจที่มีแนวโน้มเข้าข่ายเป็นนอมินี ในปี 2568 มีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคลจำนวน 26,830 ราย ซึ่งจะเน้นในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต โลจิสติกส์และการขนส่ง แพลตฟอร์มออนไลน์ และคลังสินค้า เป็นต้น โดยพุ่งเป้าในทุกจังหวัด ตามที่ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน ภาคธุรกิจ หรือมีข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวมาแอบอ้างใช้คนไทยเป็นนอมินี และทำธุรกิจที่สงวนไว้ให้กับคนไทย

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบ จะตรวจตั้งแต่ขั้นการจดทะเบียน โดยก่อนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลจะตรวจสอบเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยที่ลงทุนหรือถือหุ้นในนิติบุคคลร่วมกับคนต่างด้าว เพื่อแสดงความน่าเชื่อถือว่าคนไทยที่ร่วมลงทุนมีฐานะทางการเงินที่สามารถลงทุนด้วยตนเองได้ และเมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะพิจารณาในเรื่องการถือหุ้น ซึ่งเดิมดูตั้งแต่สัดส่วน 40% ขึ้นไป ก็จะดูว่าควรจะปรับสัดส่วนการดูหรือไม่ รวมไปถึงดูเรื่องกรรมการบริษัท อำนาจกระทำการ ทั้งสิทธิออกเสียง สิทธิรับเงินปันผล การรับคืนทุนเมื่อเลิกกิจการ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมกำลังพิจารณาจัดทำระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคคลที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (Intelligence Business Analytic System หรือ IBAS) ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์นิติบุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นนอมินี โดยจะมีโจทย์ใส่เข้าไปในระบบ เช่น ชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยง ที่ได้รับจากหน่วยงานพันธมิตร หรือชื่อบุคคลที่ต้องจับตา อย่างคนคนเดียวแต่มีชื่อในหลายบริษัท หรือศักยภาพในการทำธุรกิจ โดยคาดว่าจะทำเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งจะนำมาใช้ตรวจวิเคราะห์นิติบุคคลที่เสี่ยงเป็นนอมินีได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบนิติบุคคลที่เป็นนอมินี กรมไม่ได้ปิดกั้นเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในเป้าหมาย แต่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้ประกอบการ SME ที่มีข้อมูล หรือได้รับผลกระทบจากการแอบแฝงเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างด้าว ในธุรกิจต่างๆ สามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้ กรมก็พร้อมที่จะเข้าไปตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหมือนกับที่เคยตรวจสอบธุรกิจค้าเหล็กมาก่อนหน้านี้

ที่มา : MgrOnline