“เขากระโดง-สนามกอล์ฟอัลไพน์” สงครามประสาทเพื่อไทย-ภูมิใจไทย

เผยแพร่ : 23 พ.ย. 2567 17:55:05
X
• กรมที่ดินไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาล ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
• รมว.สุริยะ แสดงท่าทีแข็งกร้าว ยืนยันที่ดินเป็นของการรถไฟฯ
• แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาศาล แม้เวลาผ่านมานานแล้ว

กรมที่ดินหักดิบคำพิพากษาของศาลไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเขากระโดง “สุริยะ” ทำท่าขึงขังประกาศที่ดินต้องเป็นของการรถไฟฯ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ออกแอ็กชันเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลทั้งที่เวลาผ่านมาเนิ่นนาน เหมือนแค่เอามาเล่นสงครามประสาทกับพรรคภูมิใจไทยเพื่อลดความเหิมเกริมไม่ให้ขี่คอพรรคเพื่อไทยจนเกินไป ขณะเพื่อไทยเองก็มีชนักติดหลังในคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่อาจทำให้ “อุ๊งอิ๊ง” ตกเก้าอี้นายกฯ

ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งทุกอย่างควรจะจบตั้งแต่ศาลฎีกาและศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว แต่เรื่องนี้กลับยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

ผู้ครอบครองที่ดินบริเวณดังกล่าวนอกจากชาวบ้านจำนวนหนึ่งแล้วยังมีนักการเมืองตระกูลชิดชอบ เครือญาติในตระกูล “ชิดชอบ” ที่ดินบางแปลงดังกล่าวปัจจุบันเป็นที่ก่อตั้งสนามกีฬาฟุตบอล และสนามแข่งรถของตระกูลชิดชอบ

ในรัฐบาลที่แล้วพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้มีบารมีในพรรคนั้น ผู้ดูแลกระทรวงคมนาคมก็คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนในสมัยนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลกรมที่ดิน

ที่ดินที่มีปัญหาข้อพิพาทบริเวณเขากระโดงนั้นมีจำนวนประมาณ 850 แปลง เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 5,083 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นของเครือญาติในตระกูล “ชิดชอบ” จำนวน 20 แปลง เนื้อที่รวม 288 ไร่ 2 งาน 4.7 ตารางวา ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยยืนยันว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ

เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 876/2560, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462

เมื่อกรมรถไฟแผ่นดินใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง จึงถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดี คือการรถไฟแห่งประเทศไทย

ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดงเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟ แลทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 และถือเป็นที่ดินของรัฐประเภทหนึ่ง กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองและป้องกันที่ดินบริเวณดังกล่าวตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2557 ประกอบกับคำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี

ไม่เพียงคำพิพากษาของศาลฎีกาเท่านั้นแต่ยังมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ระบุให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 842 - 876/2560 และที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนจัดทำรายงานการสอบสวนให้แล้วเสร็จตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป

แต่ทุกอย่างก็มาพลิกผัน เมื่อคณะกรรมการของกรมที่ดินมีมติไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง 5,000 ไร่ โดยอ้างว่า เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย !?!

เมื่อข้อสรุปของ “กรมที่ดิน” ออกมาเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมนำมาซึ่งความสงสัยมากมาย

ในเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยชนะคดีมาทุกศาลจนศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุด รวมทั้งมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่รับรองคำพิพากษาของศาลฎีกาอีกชั้น อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาสามารถบังคับได้ทุกกรณีที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีเหตุผลใดที่คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินจะมีมติหักดิบคำพิพากษาศาลเช่นนั้น เพราะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้ยุติในชั้นศาลไปแล้ว
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน
จึงไม่แปลกใจที่ทัวร์จะลงไปที่ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน เข้าอย่างจัง ซึ่งเมื่อย้อนดูประวัติและเส้นทางชีวิตราชการในกระทรวงมหาดไทยแล้วก็น่าจะทำให้หลายคนถึงบางอ้อกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดย นายพรพจน์ เป็นทายาทของ นายพร เพ็ญพาส อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มรับราชการในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในตำแหน่งหัวหน้าสำนัก ปภ.จังหวัดบุรีรัมย์ ไปเติบโตในสายงานปกครองเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

จากนั้น มาได้ดีในตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตรงกับการศึกษาที่ผ่านมาในฐานะวิศวกรรมมหาบัณฑิต จาก Northrop University สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาในตำแหน่งใหญ่อย่างอธิบดีกรมที่ดิน ต่อจาก นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดินคนเก่า ที่ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพซึ่งความจริงแล้วคนในกระทรวงมหาดไทยรู้กันทั่วว่าเจอแรงกดดันจากกรณีพิพาทที่ดินเขากระโดง
นายชยาวุธ จันทร
อายุราชการของ นายพรพจน์ เพ็ญพาส ยังเหลืออีกประมาณ 2 ปี ซึ่งตามกำหนดจะต้องเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2569 ซึ่งภายใต้ฝ่ายการเมืองที่คุมกระทรวงมหาดไทยอยู่ในปัจจุบันนั้นทำให้พรพจน์ถือเป็นตัวเต็งอีกคนหนึ่งที่มีสิทธิขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการมหาดไทย คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม จากกรณีเขากระโดงนั้นอาจทำให้เส้นทางไปสู่ดวงดาวของนักปกครองรายนี้มีอุปสรรคพอสมควร หรือไม่แล้วชีวิตหลังเกษียณอาจต้องมาชี้แจงองค์กรอิสระหรือขึ้นศาลก็เป็นไปได้ เพราะอย่างที่ทราบเรื่องนี้มีคนจองกฐินอีกเป็นจำนวนมากนั่นเอง ถ้าสุดท้ายจะต้องเป็นอย่างนั้นก็คงโทษใครไม่ได้นอกจากโทษตัวเอง

“ที่ดินอัลไพน์-เขากระโดง” สนามวัดพลัง “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย”

การออกโฉนดทับที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้แก่การรถไฟฯ เป็นการทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น และผู้ทำผิดกฎหมายก็คือกรมที่ดินนี่เอง การตรวจสอบไต่สวนเรื่องนี้ควรจะตรวจสอบไต่สวนให้ครอบคลุมไปถึงการออกโฉนดที่ดินด้วยว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบและยังสามารถเอาผิดใครได้บ้าง

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากว่า สามารถหรือบังอาจกระทำความผิดขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะที่ดินเขากระโดงนั้นชัดเจนว่าเป็นที่ดินที่มีพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้แก่การรถไฟฯ เป็นเนื้อที่ 5,083 ไร่ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้เป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซ้ำเข้าไปอีก จะอ้างว่าไม่ทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกาและพระบรมราชโองการย่อมไม่ได้เพราะเป็นกฎหมาย เท่ากับอ้างว่าไม่รู้กฎหมายย่อมอ้างไม่ได้ และเมื่ออ้างไม่ได้ ก็ต้องถือว่ากรมที่ดินรู้กฎหมาย รู้เรื่องนี้ แล้วยังบังอาจเอาที่ดินพระราชทานแบ่งออกเอกสารสิทธิให้นักการเมืองได้อย่างไร

มาแบบนี้เมื่อศาลสูงสุดถึง 2 ศาล พิพากษาว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ และให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ ก็ยังบังอาจดื้อแพ่ง ฝ่าฝืนคำพิพากษาไม่ยำเกรงอำนาจตุลาการ ไม่ยอมเพิกถอนเอกสารสิทธิ

สำหรับนักการเมือง และข้าราชการที่ยังดื้อแพ่งไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลสูงสุดนั้น แสดงว่ากำลังละเมิดพระบรมราชโองการ พระราชกฤษฎีกา แม้คำพิพากษาของศาลสูงสุด ใช่หรือไม่?

การที่นักการเมืองและข้าราชการที่มีอำนาจบังอาจกระทำการเช่นนี้ แสดงว่ามีโมหะ บ้าอำนาจ เหลิงอำนาจ หลงอำนาจ เข้าครอบงำจิตใจจนไม่เป็นผู้เป็นคนไปแล้ว

จึงเป็นอันตรายร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน ดังนั้น ผู้มีหน้าที่ในการปราบปรามทั้งหลายจะต้องเร่งมือเพื่อไม่ให้บ้านเมืองบอบช้ำเสียหายไปมากกว่านี้

การออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของรัฐมนตรีหลายคนเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดงในช่วงนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นโดยบังเอิญ

เหตุของเรื่องนี้ก็คือที่ดิน “สนามกอล์ฟอัลไพน์” ซึ่งมีการร้องเรียนแล้วว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ การที่ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ถือครองในนามของบริษัทอัลไพน์กอล์ฟจึงเป็นการผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่จะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ตามบรรทัดฐานเดียวกับ ปารีณา ไกรคุปต์ และอีกหลายคน

ซึ่งแม้จะมีข่าวเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาลจนกระทั่งมีการยื่นคำร้องต่อองค์กรอิสระที่รับผิดชอบ แต่ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยไม่สนใจ เพราะคงเล็งเห็นแล้วว่ากว่าองค์กรอิสระจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบไต่สวนก็คงจะใช้เวลาอีกหลายปี แม้กระทั่งเลือกตั้งครั้งใหม่แล้วก็ยังไม่แน่ว่าการตรวจสอบไต่สวนจะแล้วเสร็จ ดังนั้นจากเวลาดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการรับมือกับปัญหาที่ธรณีสงฆ์นี้

แต่จู่ๆ หลังจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล ไปลงนามข้อตกลงกับกัมพูชาหลายเรื่อง ในการนำผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไปประชุมกับกัมพูชานั้น ในข้อ 8 ของข้อตกลงก็มีข้อความชัดว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศจะเร่งรัดให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนเจรจาทำการปักปันเขตแดนกันต่อไปโดยเร็ว

ทำให้เห็นว่าปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะตรงหลักเขตที่ 72-74 นั้นยังไม่ชัดเจน คือยังไม่ชัดเจนว่าแดนอธิปไตยของกัมพูชาอยู่ที่เกาะกงติดกับอ่าวไทย โดยฝ่ายไทยยังแย้งว่าหลักเขตที่ 73 และ 74 ที่ปักปันกันในสมัยรัชกาลที่ ๕ ระหว่างคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-ฝรั่งเศส ได้ปักเขตที่ 73 และ 74 ไว้บนยอดเขาแห่งหนึ่งของเกาะกง ซึ่งเป็นไปตามหลักการในการปักปันเขตแดนที่เป็นพื้นที่ภูเขาที่จะต้องปักเขตบนยอดเขา และถ้าเป็นร่องน้ำหรือแม่น้ำก็จะถือเอาร่องน้ำลึกซึ่งเป็นการปักปันเขตแดนสากล

ข้อตกลงข้อ 8 ดังกล่าวนี้จึงเท่ากับเป็นการปฏิเสธว่าเขมรไม่ได้มีดินแดนมาจนถึงฝั่งทะเลอ่าวไทย ดังนั้นแดนอธิปไตยเขมรในอ่าวไทย 200 ไมล์ทะเลจึงไม่มี เป็นผลให้พื้นที่ทับซ้อนไม่มี ความพยายามที่จะยอมรับว่ามีพื้นที่ทับซ้อนเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กันจึงส่อไปในทางที่จะทำให้เสียดินแดน เสียอธิปไตยทั้งทางบกและทางทะเลด้วย

ข้อตกลงดังกล่าวจึงกระเทือนแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่างร้ายแรง แต่จำเป็นต้องเก็บความรู้สึกนั้นไว้ เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่ารัฐบาลนี้อยู่ได้ก็ต้องพึ่งการแบกของพรรคภูมิใจไทย

แผลลึกแผลนี้ยังไม่ทันสมานก็เกิดแผลสองขึ้น จู่ๆ กระทรวงมหาดไทยในอำนาจของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ก็มีคำสั่งให้ “เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินมรดกยายเนื่อม” เสียทั้งสิ้น ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามกฎหมาย

เป็นผลให้บรรดาผู้ซื้อที่ดินและบ้านจัดสรรทั้งหมดหลายร้อยรายของที่ดินแปลงนี้ รวมทั้งบริษัทอัลไพน์กอล์ฟซึ่งเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ และนายกฯ อุ๊งอิ๊งเป็นกรรมการมาก่อนต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่จะต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งนี้เสียภายใน 90 วัน มิฉะนั้นก็จะเป็นอันยุติว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ และจะเป็นผลให้นายกฯ อุ๊งอิ๊งตกเก้าอี้ทั้งยังถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

หรือถ้าจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองใน 90 วันก็จะทำลายประโยชน์ของเวลาที่วาดหวังว่ากว่าองค์กรอิสระจะทำการตรวจสอบไต่สวนก็อีกนานไป

แผลใจแผลนี้จึงนับว่าเจ็บมาก ดังนั้นไม่ถึงสามวันต่อมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ดินเขากระโดงเป็นที่สุดแล้ว ผูกพันทุกส่วนราชการ ที่จะต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิตามคำพิพากษานั้น แต่เป็นการแถลงเพื่อให้กระทบไปถึงใครที่สั่งการต่ออธิบดีกรมที่ดินนั้นก็ยากที่จะกล่าว

ทว่า การที่ พ.ต.อ.ทวี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม แถลงอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมทราบความจริงแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ว่ากระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ทำให้รัฐเสียหาย เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 20 ให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินปฏิบัติการตามคำพิพากษาของศาล คือเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ ให้เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องติดตามดูกันต่อไปว่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ เพราะถ้าไม่ดำเนินการก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือทุจริต

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงไม่ทันขาดคำ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทันทีว่าได้มีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการตามคำพิพากษา เข้าครอบครองที่ดินเขากระโดงซึ่งเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามคำพิพากษา

เมื่อสองรัฐมนตรีแถลงไปในทางเดียวกันอย่างนี้ ก็ย่อมกระเทือนกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน ท่ามกลางเสียงเฮของประชาชน

ปรากฏว่าในวันถัดมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ก็รีบออกมาแถลงยืนยันว่าจะไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ เพราะเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาตามกฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นการสนับสนุนการแถลงของ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ทีมงานสำคัญและแกนนำสำคัญของสำนักเขากระโดง ที่แถลงก่อนหน้านี้ว่าเรื่องที่ดินเขากระโดงจบแล้ว จะไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ
นายทรงศักดิ์ ทองศรี
ซึ่งหมายความว่าที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ ที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของการรถไฟฯ และรัชกาลที่ ๖ ได้ตราพระราชกฤษฎีกามอบที่ดินนี้ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยซ้ำเข้าไปอีก เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ และคำพิพากษาของศาลสูงทั้งสองศาลก็ไม่มีความหมายที่จะต้องปฏิบัติ อำนาจตุลาการซึ่งศาลใช้ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไม่มีผลบังคับ !?!

สงครามประสาท เพื่อไทย-ภูมิใจไทย

ปัญหากรณีพิพาทในที่ดินบริเวณเขากระโดง ต้องถือเป็นกรณีศึกษาครั้งสำคัญของคนในแวดวงนิติศาสตร์ เนื่องจากแม้ศาลยุติธรรมจะได้พิพากษาเด็ดขาดถึง 3 ครั้ง ประกอบด้วย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 876/2560
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561และ
3. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563

ซึ่งเป็นการประกาศให้เห็นชัดเจนว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462 หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นที่ดินรถไฟ แต่หน่วยงานภาครัฐอย่างการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้ที่ดินกลับคืนมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ถ้าคำพิพากษาศาลฎีกายังไม่เพียงพอที่ยืนยันถึงความเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวของการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ยังมีคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่รับรองถึงการเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับยังสั่งให้กรมที่ดินดำเนินการตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม

จนถึงปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังดูไร้วี่แววการรถไฟฯ จะได้คืนที่ดิน ภายหลังกรมที่ดินยุติการตรวจสอบหาแนวเขตที่ดิน ด้วยการอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยขาดหลักฐานที่มีความชัดเจน และโยนความรับผิดชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปใช้สิทธิฟ้องศาลเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินแทน

ท่าทีขึงขังที่ออกมาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งการประกาศว่าที่ดินเป็นของรถไฟทุกตารางนิ้ว การยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของกรมที่ดิน หรือการดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

ด้านหนึ่งถึงจะดูดีว่าเป็นการเอาจริงเอาจัง แต่อีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความหย่อนยานของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเช่นกัน

โดยถ้าว่ากันตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อศาลยุติธรรมพิพากษาเป็นที่สุดแล้วว่าให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ควรใช้อำนาจในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิในที่ดินดังกล่าวเร่งดำเนินการบังคับคดีเพื่อเอาที่ดินคืนมาเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย

แต่ก็ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังมาอีกหลายปีและต้องไปเสียเวลาโดยไม่จำเป็นในการฟ้องศาลปกครอง จนกลายมาเป็นประเด็นปัญหาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน


มีประเด็นหนึ่งที่น่าสงสัย คือ ท่าทีขึงขังและแข็งกร้าวของ 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' นั้นเป็นการเล่นสงครามประสาทในทางการเมืองหรือไม่ โดยพุ่งเป้าไปที่พรรคภูมิใจไทยโดยตรง เนื่องจากเวลานี้พรรคภูมิใจไทยเองอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลที่ขี่คอพรรคเพื่อไทยอยู่

อีกทั้งยังมีกองหนุนอย่างไม่เป็นทางการจาก ส.ว.สายสีน้ำเงินหลายชีวิตในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สะดวกเท่าใดนัก จากการชะงักงันของการแก้กฎหมายประชามติที่ต้องให้ ส.ว.เห็นชอบด้วย

เมื่อพรรคเพื่อไทยเห็นว่าพอมีช่องทางที่ส่งสัญญาณกดดันทางการเมืองไปยังพรรคภูมิใจไทยก็ต้องทำ เพื่อไม่ให้พรรคภูมิใจไทยตัวใหญ่ไปมากกว่านี้ เพราะยิ่งพรรคภูมิใจไทยใหญ่คับรัฐบาลมากเท่าใด พรรคเพื่อไทยเองต้องตกที่นั่งลำบากมากเท่านั้น

ถ้าจะให้เกิดความสง่างามมากที่สุดสำหรับ นายสุริยะ รมว.คมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายที่ตนเองมีเร่งเอาที่ดินรถไฟกลับมาเป็นของรัฐโดยเร็วที่สุดด้วยการยึดถือตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเป็นสำคัญ ไม่ควรสร้างเงื่อนไขเพื่อซื้อเวลาหรือเพื่อเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อให้ที่ดินรถไฟสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายในการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติต่อไป ไม่ใช่เพียงประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ที่สำคัญ การใช้อำนาจของนายสุริยะครั้งนี้ แท้จริงแล้วคือการเดิมพันในการธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในสามของอำนาจปกครองที่ประกอบไปด้วย ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

ถ้าไม่ทำ หรือทำไม่สำเร็จ ก็เปรียบได้กับการสูญสิ้นอำนาจ หรือหมดความหมายไปของ “อำนาจฝ่ายตุลาการ” และใช่หรือไม่ว่าก็คือ การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นเอง

ที่มา : MgrOnline