“คิดเลขเร็วกัลยาณวัตร” จัดแข่งครั้งที่ 4 เลขาฯสพฐ.เผยเฟ้นหาเด็กเก่งรับสอบ PISA ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
เผยแพร่ : 23 พ.ย. 2567 15:39:15
• มีโรงเรียนระดับประถมและมัธยมจาก 26 จังหวัดเข้าร่วมกว่า 372 ทีม
• การแข่งขันมุ่งเฟ้นหาเด็กอัจฉริยะทางด้านคณิตศาสตร์
• เลขาธิการ สพฐ. เผยการแข่งขันครั้งนี้เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-จัดแข่งแล้วครั้งที่ 4 คิดเลขเร็วกัลยาณวัตร โรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาจาก 26 จังหวัด กว่า 372 ทีมร่วมประชันความอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ ขณะที่เลขาฯสพฐ. เผยจัดแข่งคิดเลขเร็วเฟ้นหาอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์เป็นตัวแทนประเทศ สู่การสอบPISA ยกระดับคุณภาพการศึกษาเด็กไทยในเวทีสากล
วันนี้ (23 พ.ย.) ที่หอประชุมอนุสรณ์ 100 ปีกัลยาณวัตร โรงเรียนกัลยาณวัตร อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมแข่งขันคิดเลขเร็วกัลยาณวัตร ครั้งที่ 4 มีนายประจวบ รักแพทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยดร.ศักดา ชัยภัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาขอนแก่น, ดร.อารยันต์ แสงนิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1, ตลอดจนตัวแทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 1 -5 ผู้บริหารสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครูและนักเรียนโรงเรียนกัลยาณวัตร เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้
การแข่งขันคิดเลขเร็วกัลยาณวัตรครั้งที่ 4 นี้ มีนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศ เปิดการแข่งขันแบบOPEN ทั้งสิ้น 372 ทีม จาก 26 จังหวัด แบ่งเป็นระดับประถมศึกษาตอนต้น 37 ทีม ประถมศึกษาตอนปลาย 86 ทีม มัธยมศึกษาตอนต้น 129 ทีม และมัธยมศึกษาตอนปลาย 120 ทีม ซึ่งนักเรียนที่เดินทางมาไกลที่สุด ได้แก่ จังหวัดระยอง คณะกรรมการตัดสินการแข่งขันเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากหลายสถานบันที่มีความรู้ ความสามารถ และเชี่ยวชาญในกติกาการแข่งขัน และเป็นที่ยอมรับจำนวน 38 คน คณะครู ตลอดจนผู้ปกครอง ร่วมในพิธีเปิด พร้อมทั้งให้กำลังใจการแข่งขันครั้งนี้
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่าการแข่งขันคิดเลขเร็ว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเรียนดี มีความสุข ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์จะตอบโจทย์สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญ คือการเตรียมสอบ PISA ในปี 2025 ที่จะจัดสอบในเดือนสิงหาคม ปี 2568 ซึ่งการสอบ PISA ถือเป็นการสอบที่สำคัญ เพื่อวัดความสามารถของคนทั้งโลก เพื่อจัดลำดับความสามารถของคนในประเทศต่างๆทั่วโลกโดย OCED
ส่วนประเทศไทยได้เตรียมการมาตั้งแต่ต้นปี กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะทำงาน มีการจัดประชุมติดตามความคืบหน้าทุกเดือน มีการสำรวจ จัดเตรียมเครื่องมือ ซึ่งการสอบครั้งนี้จะใช้คอมพิวเตอร์เบสเทสติ้ง คือใช้คอมพิวเตอร์ในการสอบ เราได้สำรวจคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต พบว่าทุกคนมีความพร้อม ที่สำคัญได้จัดทำชุดทดสอบ ทั้งการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งจะสอดคล้องกับการแข่งขันคิดเลขเร็ววันนี้
การแข่งขันคิดเลขเร็ว เป็นการเตรียมเด็กให้มีทักษะด้านคณิตศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งในการสอบ PISA ปี 2025 ให้มีความพร้อม ให้เด็กทุกคนมีความคุ้นชินกับข้อสอบ PISA และเตรียมที่จะสอบ PISA เป็นตัวแทนของประเทศไทยในโอกาสต่อไปด้วย ซึ่งการสอบ PISA ถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งประเทศ
ดังนั้นจะให้การสอบ PISA มีคุณภาพสูงจะต้องเตรียมการมาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาพร้อมกันทั่วประเทศ เราต้องไปพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน พัฒนาครูให้มีความพร้อม พัฒนาสื่อการเรียนการสอน สุดท้ายต้องตอบโจทย์ให้เด็กมีความรู้ความสามารถ มีคุณภาพพร้อมกันทั่วประเทศ
ด้านนายอภิชาติ อุ่นเกิด ผู้อำนวยการโรงเรียนกัลยาณวัตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าการแข่งขันคิดเลขเร็วถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยเฉพาะด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่เวทีแสดงความสามารถทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้นักเรียนจากทั่วประเทศได้มีส่วนร่วมพัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21
การแข่งขันคิดเลขเร็วกัลยาณวัตร ครั้งที่ 4 ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาให้มีความเท่าเทียมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนจากทุกภูมิภาคได้เข้าร่วมแข่งขัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในวิชาคณิตศาสตร์
ด้าน ดร.ศักดา ชัยภัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น (สพม.ขอนแก่น) กล่าวว่า การแข่งขันคิดเลขเร็วถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับนโยบายของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มุ่งเน้นพัฒนาคนไทยในทุกช่วงวัยให้เป็นผู้ที่ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” เพื่อเตรียมความพร้อมด้านศักยภาพสำหรับการพัฒนาประเทศให้เกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การแข่งขันยังช่วยปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เสริมความมั่นใจในตนเอง และพัฒนาความสามารถในการคำนวณอย่างรวดเร็ว ผลลัพธ์ดังกล่าวช่วยให้นักเรียนสามารถ "เรียนดี มีความสุข" พร้อมทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงครูและนักเรียนจากหลากหลายพื้นที่
สำหรับการสอบ PISA คือ โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment ;PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา หรือ OCED มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริง มากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน
ปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมการสอบ PISA มากกว่า 80 ประเทศ โดย PISA ประเมินสมรรถนะความฉลาดรู้ 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)
ที่มา : MgrOnline