“มาดามแป้ง” ร่วมมือ AFC เปิดโครงการ Football Emergency Medicine and Anti-Doping Regional Course

เผยแพร่ : 23 พ.ย. 2567 14:29:11
X
• การอบรมเป็นโครงการ AFC Football Emergency Medicine and Anti-Doping Regional Course (ASEAN East)
• โครงการมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฟุตบอลและการต่อต้านสารกระตุ้น

"มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานเปิดการอบรมให้ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฟุตบอล ในโครงการ AFC Football Emergency Medicine and Anti-Doping Regional Course (ASEAN & East) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี กับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลกรุงเทพ ประเทศไทย โดยมี แพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา จากชาติในอาเซียน และ เอเชียตะวันออก รวมถึง ทีมแพทย์ของทีมชาติไทย และสโมสรไทยลีก ส่งบุคคลากรเข้าร่วม กว่า 50 คน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.30 น.

"มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวว่า "สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะเจ้าภาพ ต้องขอขอบคุณ แพทย์หญิง เมธินี ไหมแพง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ และ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 1 BDMS , แพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการจำกัด (มหาชน) , ดาโต๊ะ ดร.กุรชารัน ซิงห์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย และ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ. ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่มีส่วนสำคัญในการจัดงานในครั้งนี้"

"สำหรับโครงการ AFC Football Emergency Medicine and Anti-Doping Regional Course (ASEAN & East) ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวนักกีฬา โดยเฉพาะนักกีฬาฟุตบอลที่มักจะมีการเข้าปะทะระหว่างเกมการแข่งขัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้ ในข้อนี้ทาง คณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของเอเอฟซี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงมีนโยบายส่งต่อความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ฟุตบอล (Football Medicine) แก่ แพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ของประเทศสมาชิก"

“หวังว่าคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของสมาคมฯ ตลอดจน นักกายภาพบำบัด และนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ใช้การอบรมในครั้งนี้เก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ นำไปยกระดับ และส่งเสริมความรู้ทางเวชศาสตร์ฟุตบอล กับสโมสรต่างๆ ให้มีความพร้อมในการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการรักษาอาการบาดเจ็บให้นักกีฬากลับมามีความพร้อมสำหรับแข่งขันให้มากที่สุด เพราะ แป้ง พูดอยู่เสมอ โลกของฟุตบอล เรื่องนอกสนามสำคัญไม่แพ้ในสนาม”

สำหรับ การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยมี ดาโต๊ะ ดร.กุรชารัน ซิงห์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอฟชี พร้อมด้วย วิทยากรทางการแพทย์ของ เอเอฟซี ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.มิชิโกะ โดฮิ (ญี่ปุ่น), ดร.เฟนตัน อาร์โนลด์ เดอซูซ่า (อินเดีย), ดร.แรนดอล์ฟ โมโล (ฟิลิปปินส์), ดร.รัชวินด์ ซิงห์ สระ (มาเลเซีย), นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ (ไทย) ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ ดร.ภคภณ อิสรไกรศีล (ไทย) ให้ความรู้ใน หัวข้อการอบรมหลักๆ ดังนี้

วันที่ 1
1. ภาพรวมเกี่ยวกับเวชศาสตร์ฟุตบอลในทวีปเอเชีย
2. แนวทางบูรณาการในการตรวจประเมิน
3. ภาวะฉุกเฉิน - ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (SCA)
4. การดำเนินการในภาวะฉุกเฉิน และการเฝ้าระวัง
5. สาธิตการทำ CPR (การปัมหัวใจเพื่อกู้ชีพ) และ การใช้เครื่องมือ AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ)

วันที่ 2
1. ฟุตบอลในสภาวะที่สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม (ร้อนจัด-หนาวจัด)
2. โภชนาการสำหรับนักฟุตบอล
3. ความแตกต่างทางเพศของฟุตบอล
4. การเดินทางกับทีมฟุตบอล - ภาวะเจ็ตแล็ก, การใช้เมลาโทนิน และความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง
5. การกระทบกระเทือนทางสมอง จากเหตุการณ์ในสนาม
6. ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ (EIA ภาวะหอบหืดจากการออกกำลังกาย, การสำลัก, ภาวะการแพ้อย่างรุนแรง, อาการชักและอื่นๆ)
7. การดำเนินการ และการจัดเตรียมการตรวจการใช้ยาและสารกระตุ้นในการแข่งขัน
8. การแสดงวิธีการที่เหมาะสมในการประเมินกระดูกสันหลังระดับต้นคอ, การใส่คอลลาร์, การทำล็อกโรล รวมถึงภาวะนอนคว่ำหน้า

วันที่ 3
1. PCMA (แบบตรวจประเมินทางการแพทย์ก่อนการแข่งขัน)
2. มลพิษทางอากาศที่มีส่วนกับการเล่นฟุตบอล
3. การป้องกันอาการบาดเจ็บ - (แบบอบอุ่นร่างกาย ฟีฟ่า 11+)
4. การบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อในสนาม, ภาวะกระดูกหัก
5. ภาวะการบาดเจ็บ - แผล
6. การดูแลนักฟุตบอลหญิง
7. การรักษาแบบทางเลือก
8. การสาธิตวิธีการที่ถูกต้อง สำหรับอุบัติเหตุบริเวณที่ศีรษะ และใบหน้า, อก, ลำตัว และ สะโพก

วันที่ 4
1. วิวัฒนาการของการต่อต้านการป้องกันการใช้สารกระตุ้น
2. รายชื่อสารต้องห้าม วิธีการและการตรวจสารกระตุ้น
3. แบบฟอร์มขออนุญาตการใช้ยาเพื่อการรักษา (TUE)
4. บทนำสู่ระบบการควบคุมการใช้สารกระตุ้นแบบดิจิตอล
5. Biological Passport (ABP) การตรวจสารกระตุ้นแบบละเอียด
6. การตรวจสารกระตุ้นด้วยปัสสาวะ, เลือด (ตรวจเส้นเลือดดำและ DBS)





ที่มา : MgrOnline