ระวังไฟย้อนศร! นักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ คว่ำบาตร ‘ก๊าซพรอมแบงก์’ ปิดทางยุโรปจ่ายเงินซื้อก๊าซรัสเซีย เท่ากับผลักมอสโกใกล้ ‘จีน’ มากขึ้น
เผยแพร่ : 23 พ.ย. 2567 11:27:55
• การคว่ำบาตรปิดช่องทางการชำระเงินสำหรับก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรป
• คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์ในรัสเซียออกมาเตือนวานนี้ (22 พ.ย.) ว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อธนาคารก๊าซพรอมแบงก์ (Gazprombank) เท่ากับปิดช่องทางสุดท้ายไม่ให้ลูกค้ายุโรปจ่ายเงินซื้อก๊าซจากรัสเซียได้อีก ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศของรัสเซียทวีความผันผวน และอาจผลักมอสโกให้หันเข้าหา “จีน” มากขึ้น
สหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อธนาคารก๊าซพรอมแบงก์เมื่อวันพฤหัสบดี (21) ซึ่งจะทำให้ก๊าซพรอมแบงก์ไม่สามารถจัดการธุรกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ ที่ต้องเกี่ยวพันกับระบบการเงินของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังพุ่งเป้าคว่ำบาตรสถาบันการเงินรัสเซียอีก 50 แห่ง และระบบ System for Transfer of Financial Messages (SPFS) ที่รัสเซียพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการโอนเงินระหว่างประเทศ
ฮังการีและสโลวะเกียซึ่งมีสัญญาสั่งซื้อพลังงานระยะยาวกับก๊าซพรอมกำลังอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงนี้ ขณะที่ พาเวล โซโรคิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเมื่อถูกถามว่า ก๊าซพรอมแบงก์จะยังคงรับชำระเงินจากลูกค้าในยุโรปอยู่หรือไม่
“การชำระเงินค่าพลังงานโดยอียูผ่านทางก๊าซพรอมแบงก์น่าจะเป็นไปไม่ได้อีกแล้วหลังสิ้นปี 2024” ทีมนักวิเคราะห์จากธนาคาร Sinara Investment Bank ของรัสเซียให้ความเห็น
มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังกำหนดช่วงเวลาผ่อนผันสำหรับธุรกรรมการเงินที่ต้องผ่านก๊าซพรอมแบงก์จนถึงวันที่ 20 ธ.ค. และสำหรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการน้ำมันและก๊าซ Sakhalin-2 ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียไปจนถึงวันที่ 28 มิ.ย. ปี 2025
ทำเนียบเครมลินออกมาระบุวานนี้ (22) ว่า สหรัฐฯ จงใจปิดกั้นการส่งออกก๊าซของรัสเซีย ทว่ามอสโกก็จะหาทางออกจนได้ ขณะที่ก๊าซพรอมแบงก์ยืนยันว่ามาตรการคว่ำบาตรไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานของธนาคาร แต่ยังไม่ให้คำตอบว่าจะแก้ปัญหาเรื่องการรับชำระเงินค่าก๊าซอย่างไร
เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2022 มอสโกกำหนดให้ประเทศต่างๆ ที่มีนโยบายไม่เป็นมิตรกับรัสเซียต้องจ่ายค่าก๊าซด้วยวิธีแปลงสกุลเงินแข็งเป็นรูเบิล โดยผู้ซื้อเหล่านั้นต้องเปิดบัญชี 2 บัญชีกับก๊าซพรอมแบงก์ โดยบัญชีหนึ่งเป็นสกุลรูเบิล และอีกบัญชีเป็นสกุลเงินต่างประเทศ
มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อาจทำให้รัสเซียและบรรดาลูกค้าเหล่านี้ต้องแสวงหาตัวกลางอื่นแทน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้อนุมัติการทำธุรกรรมด้านพลังงานกับสถาบันการเงินรัสเซียประมาณ 10 กว่าแห่งไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. ปี 2025 ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ก๊าซพรอมแบงก์อาจจะถูกเพิ่มชื่อลงในบัญชีดังกล่าว
โอเล็ก คุซมิน และอันเดร เมลาชเชนโก สองนักเศรษฐศาสตร์จาก Renaissance Capital ชี้ว่า “การกระชับมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้สอดคล้องกับความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันจะพยายามงัดทุกเครื่องมือที่มีออกมาใช้ ภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่”
โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายอุดหนุนยูเครนทำสงครามต้านรัสเซีย อาจจะเข้ามายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้หลังจากที่สาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า
เยฟเกนี โคกาน อาจารย์จาก Higher School of Economics ในกรุงมอสโก เตือนว่าสหภาพยุโรปคงต้องยอมทนกับภาวะพลังงานขาดแคลน ในขณะที่รัสเซียเองก็ต้องเร่งแสวงหาช่องทางรับชำระเงินใหม่
“ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบหนักพอสมควร ทั้งต่อค่าเงินรูเบิลและเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่รัสเซีย” โคกาน ให้ความเห็น
ด้านนักวิเคราะห์จากธนาคาร Alfa Bank มองว่า การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรก๊าซพรอมแบงก์และระบบ SPSF จะยิ่งทำให้รัสเซียประสบความยุ่งยากในการทำธุรกรรมกับบรรดาประเทศคู่สัญญา และอาจกระตุ้นให้บริษัทของ “จีน” เข้ามามีสัดส่วนทางการค้ากับรัสเซียเพิ่มขึ้นไปอีก
“ในระยะยาว (มาตรการคว่ำบาตรใหม่) อาจทำให้บรรดาบริษัทจีนพิจารณาทางเลือกในการเข้ามาลงทุนโดยตรงในเศรษฐกิจรัสเซีย และการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนก็จะยิ่งใกล้ชิดมากขึ้น” นักวิเคราะห์ของ Alfa Bank ระบุ
ที่ผ่านมา รัสเซียก็ประสบปัญหาเรื่องการรับชำระเงินอยู่แล้ว หลังถูกตะวันตกปิดกั้นไม่ให้สถาบันการเงินแดนหมีขาวเข้าถึงตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงระบบชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT อีกทั้งบรรดาคู่ค้าของมอสโกก็ยังต้องเสี่ยงกับมาตรการคว่ำบาตรขั้นทุติยภูมิ (secondary sanction) ด้วย
ที่มา : รอยเตอร์
ที่มา : MgrOnline