Lane Block ความล้มเหลวของ “ชัชชาติ” ปิดวันเดียวจราจรเมืองกรุง “วินาศสันตะโร”
เผยแพร่ : 23 พ.ย. 2567 07:18:25
• โครงการดังกล่าวเปิดใช้งานเพียงแค่หนึ่งวัน
• เหตุผลการยุติโครงการยังไม่ชัดเจน (จากเนื้อหาที่ให้มา)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นโยบายของ “กรุงเทพมหานคร(กทม.)” ในการเปิดทดลองใช้ “Lane Block (เลนบล็อก)” โดยมีวัตถุประสงค์อันสวยหรูว่า เพื่อลดพื้นที่รถยนต์ให้กับคนเดินเท้าและจักรยาน บริเวณเส้นทางลัดเลี่ยง ซ.พร้อมจิต - ซ. สุขุมวิท 39 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เป็นอันต้องยุติไปเป็นที่เรียบร้อยหลังเปิดใช้งานเพียงวันเดียว
ทั้งนี้ เนื่องเพราะส่งผลกระทบกับจราจรในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 17 เส้นทาง ทำให้รถติดแบบวินาศสันตะโรเช้าจรดค่ำ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขรมไปทั่วทั้งเมืองว่าเหมาะสมกับการนำมาใช้หรือไม่? กระทั่ง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องตัดสินใจยกเลิก ด้วยสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาการจรจรในพื้นที่เมืองเสียมากกว่า
กล่าวสำหรับจุดเริ่มต้นของการทดลองใช้ Lane Block เป็นผลสืบเนื่องจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เริ่มการทดลองปรับกายภาพระยะสั้นในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2567 เพื่อศึกษา สำรวจ ออกแบบเส้นทางให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการความจำเป็นในการเดินและใช้จักรยาน และการสัญจรทางเลือกอื่นๆ ตามโครงการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจรเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน พ.ศ. 2567 – 2575
โดยทดลองปรับกายภาพเส้นทางสัญจรรอบสถานีรถไฟฟ้า 4 ย่านสถานี ได้แก่ 1. ย่านสุขุมวิท-พร้อมพงษ์ พื้นที่พาณิชยกรรม ศูนย์การค้า สำนักงานออฟฟิศ สถาบันการศึกษา (Central Business Districtrict) 2. ย่านสถานีสามยอด พื้นที่เมืองเก่า (Old town) 3. ย่านลาดพร้าว 71 ที่อยู่อาศัย ชุมชนเมือง และ 4. ย่านสถานีท่าพระ เมืองใหม่ (New Residential Zone) เชื่อมต่อที่ทำงานในเมืองกับที่อยู่อาศัยนอกเมือง ศูนย์กลางการเดินทางฝั่งธนูบุรี
ทั้งนี้ ออกแบบเส้นทางเดิน จักรยาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น ป้ายจราจร สัญลักษณ์บอกทาง จากบ้าน ชุมชน ที่พักอาศัยมายังสถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือ และจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ให้สะดวก ปลอดภัย โดยมีการลงพื้นที่สำรวจกายภาพ รับฟังความเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาปัญหาอุปสรรคของการเดินและการใช้จักรยาน และออกแบบให้ยืดหยุ่นตามบริบทของย่านนั้นๆ
สำหรับ ย่านสุขุมวิท-พร้อมพงษ์ ศึกษาข้อมูลและออกแบบโดยศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง หรือ Healthy Space Forum และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนตามแผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจรเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้อำนวยการศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) และผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังภาคและเมือง แสดงทัศนะผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งความว่า
“เรามักจะคิดว่า รถติดเพราะถนนน้อย ถ้าเอาเลนรถยนต์ออกแทนที่ด้วยเลนจักรยานก็ยิ่งทำให้รถติดเพิ่มขึ้นสิ สื่อ cbc ของประเทศแคนาดาไปสืบค้นผลของการเอาเลนจักรยานมาแทนเลนรถยนต์ในเมืองใหญ่ของทวีปอเมริกาและยุโรป กลับพบว่า รถติดน้อยลงด้วยซ้ำ”
แผนแม่บทกรุงเทพฯ เมืองเดินเท้าและจักรยานสัญจรเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืน พ.ศ. 2567 – 2575 ปักหมุด นำร่อง ซ.สุขุมวิท 39 หรือ ซ.พร้อมจิต จัดทำเป็น Lane Block สำหรับเลนจักรยานโดยเฉพาะ
ต้องยอมรับว่า แม้ผ่านกระบวนการ “คิด- วิเคราะห์” แต่สิ่งที่เกิดครั้งนี้ เรียกได้ว่า “ล้มเหลว” สืบเนื่องจาก Lane Block ลดพื้นที่รถยนต์ให้คนเดินเท้าและจักรยาน บริเวณเส้นทางลัดเลี่ยง ซ.พร้อมจิต - ซ. สุขุมวิท 39 การปรับสภาพผิวการจราจรเลนรถยนต์จาก 2 เลน ลดเหลือ 1 เลน เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลทำให้รถที่มาจาก ถ.เพชรบุรี เข้าแยกพร้อมพงษ์ จะเข้า ซ. สุขุมวิท 39 ไปออก ถ.สุขุมวิท ติดขัดอย่างหนักตั้งแต่เช้าจรดค่ำ อีกทั้งมีรายงานสภาพการจราจรจากสถานีวิทยุ สวพ.91ระบุว่าผลกระจาก Lane Block ซ.สุขุมวิท 39 - ซ.พร้อมจิต กระทบการจราจร 17 เส้นทางติดขัดอย่างหนัก
ชัดเจนว่า Lane Block ไม่เพียงเกิดปัญหาซ้ำเติมสภาพการจรจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ยังสะท้อนภาพความล้มเหลวของเจตนาสำหรับเป็นเส้นทางขับขี่จักรยานและเดินเท้า เพราะภาพความเป็นจริงที่ปรากฎขึ้นเต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์ใช้สัญจร
กระทั่ง พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ทองหล่อ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือได้ข้อสรุปในช่วงกลางดึกของวันเดียวกัน สั่งรื้อ Lane Block ทั้งหมด ปรับให้รถวิ่งได้ 2 เลนได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ น้อมรับเสียงติติงจากประชาชน โดยเปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และสถานทูตจากประเทศที่มีผู้ใช้จักรยานและเดินเยอะ ซึ่งศึกษาเตรียมงานกันมาหลายเดือน จุดประสงค์คืออยากโปรโมตกรุงเทพฯ ให้มีการใช้จักรยานและเดินเท้ามากขึ้น
“ต้องขอโทษประชาชนหากทำให้เกิดความลำบากในการเดินทาง แต่เชื่อว่ากรุงเทพฯ หากไม่มีการทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงเลย ก็จะเป็นเหมือนเดิมไปตลอด แม้จะเปลี่ยนแปลงผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ถือเป็นประสบการณ์ ซึ่งถ้าผิดเราก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ทุกคนหวังดีและอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ถนนแบ่งปันกัน ให้รถใช้ ให้จักรยานปั่นได้ ให้คนเดินดี” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
อย่างที่ทราบกันว่า ปัญหาการจราจรติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางกายภาพ ปัญหาเรื่องผังเมืองไม่รองรับการพัฒนาเมืองในอนาคต อีกทั้งจำนวนรถที่มีเยอะเกินกว่าถนนจะรองรับ ซ้ำเติมด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่พร้อมให้บริการได้อย่างครอบคลุม และการแก้ปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพฯ นับเป็นโจทย์ข้อยากของรัฐ
ล่าสุด รัฐบาลโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชงแนวคิดค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ตั้งเป้านำร่องย่านสุขุมวิท รัชดาภิเษก และสีลม เบื้องต้นเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 40 - 50 บาทต่อวัน โดยเป้าหมายจะเก็บในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า เพราะเมื่อมีรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะใช้รถส่วนตัวมันก็จะทำให้เกิดมลภาวะ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ ส่วนข้อสรุปคาดว่าใช้เวลาประมาณสัก 6 เดือน - 1 ปี
ทั้งนี้ โมเดลแก้รถติดจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ที่คิดค่าธรรมเนียมการเข้ามาในพื้นที่กำหนดไว้ในราคา 1 - 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็นจันทร์ -เสาร์ 06.00-22.00 ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งสามารถปรับลดปริมาณการจราจรในพื้นที่ได้ถึง 15%
หรือกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เก็บค่าธรรมเนียมในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์-ศุกร์ 07.00-18.00 วันเสาร์-อาทิตย์ 12.00 – 18.00 ยกเว้นวันหยุดธนาคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการจราจรในเขตพื้นที่เก็บค่าธรรมเนียมลดลง 16% ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นมากถึง 18% รวมทั้งกรุงลอนดอนยังมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 352 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้
แน่นอน สถานการณ์รถติดเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ เป็นโจทย์ข้อยากของทุกรัฐบาล คงต้องติดตามกันว่าแนวคิดการค่าธรรมเนียมรถติดจะมีความชัดเจนอย่างไร และจะนำมาใช้จริงๆ ไหม เฉกเช่นเดียวกับการทดลองใช้ Lane Block ของ กทม. ที่แม้มีแนวคิดที่ดี แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนชัดเจนว่า ไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา เพราะกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมวิกฤตการจราจรชั่วโมงโดยเฉพาะในเร่งด่วน
ที่มา : MgrOnline