สงคราม “แดง-ส้ม” เปิดทุกแนวรบ ตัดจบทุก “ดีลลับ”
เผยแพร่ : 23 พ.ย. 2567 07:19:03
• ทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร กลับมาปรากฏตัวอย่างเปิดเผยทางการเมือง หลังจากที่เก็บตัวเงียบมาระยะหนึ่ง
• การปรากฏตัวของทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากที่ลูกสาวดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่ถึง 3 เดือน
• การกลับมาของทักษิณ อาจส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมือง (ข้อนี้เป็นการคาดการณ์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในข่าว)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังเก็บเนื้อเก็บตัว คอยเก็บกวาดงานอยู่ “หลังม่าน” มาตลอดตั้งแต่ “ลูกอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเถลิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ที่สุดยังไม่ถึง 3 เดือนดี “พ่อนายกฯ” ทักษิณ ชินวัตร ก็อดรนทนไม่ไหว ต้องขอออกโรงมายืดเส้นสาย “หน้าม่าน” บ้าง
ตามคิวที่เดินทางไปเปิดเวทีปราศรัยหาเสียงช่วย “เสี่ยป๊อป” ศราวุธ เพชรพนมพร อดีต สส.หลายสมัย ที่งวดนี้ลงชิงชัยเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเป็นการขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีของเจ้าของสมญา “นายใหญ่เพื่อไทย” ด้วย
การไปเยือน “เมืองหลวงเสื้อแดงอีสาน” ในครั้งนี้ ก็มองได้ว่า ไม่ใช่แค่เพียงไป “เมกชัวร์” ว่าเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี จะไม่หลุดไปไหน เพราะเอาเข้าจริง ไม่ว่าจะส่งใครลงสมัคร พรรคเพื่อไทย ก็เหนือกว่าคู่แข่งอยู่หลายช่วงตัว
แต่ดูเหมือน “ทักษิณ” หวังใช้เวทีที่อุดรธานีในการเปิเเกมรุกทางการเมือง และส่งสานส์ท้ารบไปถึง “ค่ายสีส้ม” พรรคประชาชน อย่างเป็นทางการ ที่เผอิญว่าเป็นส่ง “ทนายแห้ว” คณิศร ขุริรัง ลงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ในนามพรรค มากกว่า
เพราะเนื้อหาในการปราศรัยของ “ทักษิณ” ดูจะไม่ได้มุ่งเน้นเชิดชูตัว “ศราวุธ” ผู้สมัครของพรรคอย่างที่ควรจะเป็น แต่เป็นการพร่ำเพ้อถึงการเมืองสนามใหญ่ และเปิดฉากพาดพิงฟากฝั่ง “ค่ายสีส้ม” ลากไปถึงบรรดาผู้นำจิตวิญญาณ ทั้ง “ตี๋เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้า, “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมไปถึง “ตี๋เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนคนปัจจุบัน
โดยเน้นในเรื่องของอุดมการณ์-ยุทธศาสตร์การเมืองของ “ค่ายสีส้ม” ที่ดูจะ “หมกหมุ่น” อยู่กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ ซึ่งระหว่างบรรทัดก็ได้เผยเป็นนัยๆ ว่า เคยเตือน “ธนาธร” ในการพูดคุยกันส่วนตัวว่า แนวคิดของ “ค่ายสีส้ม” นั่นเกิดขึ้นยาก และควรจะค่อยเป็นค่อยไป
และเป็นสาเหตุสำคัญที่ “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับ “ค่ายสีส้ม” หรือพรรคก้าวไกลในขณะนั้นหลังการเลือกตั้ง 2566 ได้
ตรงนี้เองที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักกระแสข่าวที่ว่า “ทักษิณ-ธนาธร” มี “ดีลลับ” โดยได้นัดพูดคุยกันที่เกาะฮ่องกง ช่วงเดือนเกิดของฝ่ายแรก คือเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ยังมีสัตยาบันร่วมรัฐบาลกันอยู่
สิ้นเสียง “ทักษิณ” ไม่ทันไร ฝ่าย “ธนาธร” ก็ใช้สิทธิ์ถูกพาดพิง ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์สวนทันควันว่า ประเด็นการหารือเรื่องมาตรา 112 (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) นั้น ไม่ใช่ “สาเหตุ” ที่ทำให้ “ส้ม-แดง” จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
ไม่เท่านั้นยังตอกกลับด้วยว่า “ทักษิณ” น่าจะรู้ดีที่สุดว่าเกิดจากเหตุผลอะไรกันแน่ และก็เป็นคนที่เข้าใจปัญหาโครงสร้างดีที่สุด แทนที่จะร่วมแก้ปัญหา กลับเลือกเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
จะเห็นได้ว่าวิวาทะของ 2 ผู้นำ “แดง-ส้ม” นั้นเหนือกว่าประเด็นช่วงชิงเก้าอี้นายก อบจ.อุดรธานี และเชื่อว่าจะเป็นประเด็นถูกไปขยายความผ่านสนามเลือกตั้ง อบจ.ทั่วผระเทศในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ที่ “แดง-ส้ม” ต้องชนกันอีกหลายสนาม
และเข้าใจว่า “ค่ายสีส้ม” ก็ยินดีอย่างยิ่งที่ “แดงตัวพ่อ” อย่าง “ทักษิณ” ออกมาเปิดเกมโจมตีกันเช่นนี้ ทำให้ได้โอกาสในการสวนกลับ และได้พื้นที่สื่อไปในตัว เพราะต้องยอมรับว่า หลังจากที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ ผลัดเอา “แกนนำแถว 3” อย่าง “เท้ง-ณัฐพงษ์” และชาวคณะขึ้นมานำแทน “แอร์ไทม์” ของพรรคประชาชนดูจะตกต่ำลงมาก ด้วยไม่มี “แม่เหล็ก” จุดขายเหมือนแกนนำ 2 รุ่นที่ผ่านมา
ทำให้บรรยากาศหาเสียงนายก อบจ.อุดรธานี ของพรรคประชาชน คึกคักขึ้นถนัดตา ทั้ง “พิธา” ที่จับเครื่องบินตรงมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อช่วยหาเสียงช่วงโค้งสุดท้าย หรือแม้แต่ “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกคน ก็ปรับโหมดปราศรัยดุดัน สาดซัดทั้ง “ทักษิณ” ไปจนถึง “ศราวุธ” จนล่าสุดกำลังจะได้หมายศาล ฐานหมิ่นประมาทว่า ภรรยา “ศราวุธ” ไปเกี่ยวข้องกับขบวนการผิดกฎหมาย
แต่อย่างที่บอก ใครได้ไม่ได้เก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี ดูจะเป็นแค่ผลพลอยได้ของเกมการเมืองที่ “ทักษิณ” ลงมาเปิดกระดานด้วยตัวเองไปแล้ว
เพราะเกมนี้ถูกยกระดับไปเป็นศึกระหว่าง “ศาสนาแดง” ปะทะ “ศาสดาส้ม” ที่เชื่อว่าคงไม่จบง่ายๆ เพราะเป้าหมายหาใช่แค่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังมาถึง แต่ยังผลไปถึงฐานเสียงแฟนคลับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ในเฉดสีแดง-ส้ม ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า
ทั้งนี้ แม้จะดูซบเซา แต่หากกล่าวถึงการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่า “ค่ายสีส้ม” ก็คงมีความสามารถในการปั่นกระแสขึ้นมาได้อีก ไม่ว่าจะมีใครเป็น “ตัวชูโรง” ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ติ่งส้ม” ที่ดูจะยังเหนียวแน่นมั่นคงอยู่กับพรรค ที่ไม่ว่าจะถูกยุบหรือเปลี่ยนชื่อไปกี่ครั้งก็ตาม
ผิดกับ “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ที่ลงทุนแทบหมดหน้าตักแลกกับการได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มีส่วนผสมของ “2 ลุง” ทำเอาต้องสูญเสียแนวร่วมไปพอสมควร จนเชื่อว่า หากมีการเลือกตั้งสนามใหญ่วันนี้-พรุ่งนี้ จำนวน สส.ก็คงไม่เท่าที่ได้มาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 อย่างแน่นอน
แต่ที่ยอมแลกก็ด้วยมั่นใจว่า หากได้เป็นแกนนำรัฐบาล และครอบครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ก็ยังมีโอกาสในการกอบกู้ศรัทธาให้กลับคืนมาได้ ทว่า ผ่านมาร่วม 15 เดือนของ ”รัฐบาลเพื่อไทย“ ก็ยังไม่เห็นมุมที่ได้โกยแต้มกลับคืนมาได้
โดยเฉพาะช่วงเกือบ 3 เดือนแรกในฐานะผู้นำประเทศของ “นายกฯ ลูกอิ๊งค์” ที่ยังไม่มีวี่แววของผลงานระดับมาสเตอร์พีซให้เห็นเลย ขนาดมี “พ่อทักษิณ” ที่คอยเปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าคัดท้ายให้แล้วก็ตาม
นโยบายเรือธงอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่โปรยเงินไปแล้วเฟสแรก และกำลังจะโปรยเฟส 2-3 ทำไปทำมา ไม่ได้ผลลัพธ์ระดับพายุหมุนทางเศรษฐกิจใดๆ ออกมาเลย
หนักไปกว่านั้นคือ ดูเหมือนว่า เป้าหมายในการแจกเงินหมื่นหรือนโยบายเศรษฐกิจรอบนี้ ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าพุ่งเป้าไปที่ “กลุ่มฐานเสียงเพื่อไทย” อย่างตรงไปตรงมา นั่นก็คือ “ชาวนา” และ “กลุ่มผู้สูงอายุ” ยิ่งเมื่อดูจังหวะในการแจกก็ยิ่งต้องร้อง “อห.โอ้โห” เพราะการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น (อบจ.) ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
ทำให้ยิ่งอยู่ไปๆ โดยที่รัฐบาลไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งตัว “แพทองธาร” ก็จะถูกเปลือยความเป็น “นายกฯฝึกงาน” ออกมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็จะฟ้องว่า “ทักษิณ” ตกยุคไปแล้วเช่นกัน
อันน่าจะเป็นเหตุที่ “ทักษิณ“ เลือกจังหวะมาออกอาวุธทางการเมืองกลบเกลื่อนผลงานรัฐบาล ที่แม้ยังไม่มีเรื่องทุจริตคอรัปชันให้ถ่ม แต่ก็ไม่มีเรื่องดีๆ ชูหน้าชูตาเช่นกัน
อีกนัยสำคัญก็เพื่อชิงธงประชาธิปไตย ชี้ให้เห็นว่า “ประชาธิปไตยสีส้ม” ยังเร็วเกินไปสำหรับบ้านนี้เมืองนี้ และต้องเป็น “ประชาธิปไตยสีแดง” ที่จับต้องได้ และกินได้
น่าสนใจไม้น้อยกับความเห็นของ “จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตแกนนำคนเสื้อแดง และอดีตขุนพลข้างกาย ”ทักษิณ“ ที่วิเคราะห์การเคลื่อนไหวของทักษิณว่า ไม่ต่างจากการประกาศอาสาปราบ “ปีศาจส้ม” ที่คิดจะรื้อโครงสร้างประเทศ
ทั้งๆ ที่ในอดีต “ทักษิณ” ก็เคยโอดครวญหลายต่อหลายครั้งว่า ตัวเองถูกวาดภาพให้เป็น “ปีศาจ-อสูรกาย” คาบเกี่ยวไปถึงเรื่องโครงสร้าง-สถาบันฯ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557
มาวันนี้ก็มองได้ว่า “ทักษิณ” พยายามพลิกบทบาทมาเป็น “พระเอก” ที่ขันอาสามารับมือกับ “ภัยความมั่นคง” อย่าง “ค่ายสีส้ม” นั่นเอง
ด้วย “นายใหญ่เพื่อไทย” คงประเมินแล้วว่า หากวัดกันตรงๆ ในมุมประชาธิปไตย ชั่วโมงนี้คงสู้ “ค่ายสีส้ม” ที่ “สุดโต่ง” มากกว่ายาก
ไม่ต้องอื่นไกล เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น ต่างชูประเด็นสำคัญ คือ “ปิดสวิตซ์ 3 ป.” และ “มีลุง ไม่มีเรา” ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน แต่ผลการเบือกตั้งออกมาก็ปรากฎ พรรคก้าวไกล ที่ลฃเลือกตั้งแค่สมัยที่ 2 ก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์โค่นแชทป์ตลอดกาลอย่าง “พรรคทักษิณ” ลงได้
โดยต้องไม่ลืมว่า ในการลงคะแนนเสียงวันนั้นก็เป็นไปโดยพื้นฐานความเชื่อว่า พรรคเพื่อไทย จะไม่ร่วมมือกับ “อำนาจลุง” ของรัฐบาลก่อนเด็ดขาด
ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า หากวัดกันในเรื่องประชาธิปไตยหรือแนวคิดก้าวหน้าแล้ว “ค่ายสีส้ม” มีเครดิตมากกว่า “ค่ายสีแดง“ ที่วันนี้แทบหมดความน่าเชื่อถือ หลังได้เป้นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มี “พรรค 2 ลุง” ร่วมด้วย
เมื่อสถาการณ์เป็นเช่นนี้ “ทักษิณ” ในฐานะ “ศาสดาแดง” ก็จำเป็นต้องหาจุดยืนใหม่ให้กับพรรคเพื่อไทยที่มีลูกสาวเป็นหัวหน้าพรรคเสียใหม่
นั่นคือการเปิดหน้ารบกับ “ค่ายสีส้ม” อย่างเต็มตัว หวังได้เสียง “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” เข้ามาเติม เพื่อหวังพลิกเสียงสนับสนุนให้กลับมาชนะ “พรรคสีส้ม” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ในภาวะที่ปัจจุบันดูจะยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่สามารถชิงธงเป็น “หัวหอกฝ่ายขวา” ได้อย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็น “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ดูจะขยายฐานเพิ่มขึ้นจาก 36 ที่นั่ง สส.ลำบาก หลังไม่มี “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวชูโรง
หรืออย่าง “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แม้จะประกาศอาสาทำหน้าที่ก็ตาม แต่ก็พันตูกับปัญหาการเมืองในพรรคจนพรคคใกล้แตก หรือแม้แต่ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยมีบทบาทสำคัญมาก่อน ก็ห่างไกลที่จะกลับมาเป็นพรรคการเมืองใหญ่ได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานะ “หัวหอกฝ่ายขวา” หรือต้นขั้วอนุรักษ์นิยมนั้น ก็เป็นเรื่องที่ “ฝ่ายการเมือง” กำลังให้ความสนใจ และเห็นว่ามีศักยภาพในการผลักดันให้พรรคการเมืองขึ้นมามีลุ้นถึงชนะเลือกตั้งครั้งหน้า ดังจะเห็นได้จาก “ทักษิณ” ที่เคยไม่ปฏิเสธความเป็น “อนุรักษ์นิยมใหม่” มาก่อน ก็เริ่มขยับกลับมาให้ความสนใจ
หรือแว่วว่า “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่มีจุดยืนหนักแน่นมาตลอดในเรื่องชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ แต่ที่ผ่านมาก็ถูกฉาบไปด้วยความเป็นบ้านใหญ่-ความเขี้ยวทางการเมือง ทำให้ภาพความเป็นอนุรักษ์นิยมไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
ทำให้มีบัญชาจาก “บ้านใหญ่เขากระโดง” สั่งการให้รีแบรนด์พรรคขนานใหญ่ ทั้งโลโก้ และสี รวมถึงมอตโต้นโยบายต่างๆ ให้มีความเป็น “ขวาสุดขั้ว” เพื่อชิงความเป็นหัวหอกอนุรักษ์นิยมเต็มตัว
ล่าสุดก็มีความเคลื่อนไหวของบรรดาอดีตข้าราชการระดับสูง ที่จู่ๆมาร่วมตัวกันเปิดตัวพรรคการเมืองที่ชื่อ “พรรคโอกาสใหม่” ทั้งที่อีกร่วม 3 ปีถึงจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม
ความน่าสนใจของพรรคโอกาสใหม่ไม่ใช่เพียงบรรดาข้าราชการเกษียณ มาจากสายปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคน รวมทั้งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยมี “สุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี รับบทเป็นหัวหน้าพรรค ธงชัย ลืออดุลย์ อดีตผู้ว่าฯนครราชสีมา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นเลขาธิการพรรค และ โสภณ ทองดี อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเหรัญญิกพรรค
ตามรายชื่อที่ออกมา สามารถฉายภาพไปถึง “คีย์แมน” ผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และซี้ปึ๊กอย่าง “ปลัดตุ๋ม” จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่งได้ต่ออายุราชการอีก 1 ปีไปเกษียณในปี 2568
แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ แว่วว่ามี “ทุนใหญ่” ให้การสนับสนุนอยู่อีกด้วย เพราะในทางการเมืองการเปิดพรรคการเมืองใหม่ล่วงหน้า โดยที่ไม่รู้จะมีเลือกตั้งเมื่อใดนั้น ย่อมต้อง “ทุนหนา” พอตัวด้วย
เดาไม่ยากว่า หากพรรคโอกาสใหม่ ได้เดินไปต่อถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยกลุ่มผู้บุกเลิกล้วนเป็นข้าราชการเกษียณ ก็คงยึดธีม “อนุรักษ์นิยม” เป็นหลักอย่างแน่นอน
และว่ากันว่า พรรคโอกาสใหม่จะเป็นศูนย์รวมใหม่ของ สส.และนักการเมืองในซีกอนุรักษ์นิยมที่ต้นสังกัดเดิมทำท่าจะไปจ่อไม่ได้ ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ รวมถึงดูดเอา สส.จากพรคคเพื่อไทย-ภูมิใจไทย ที่อาจไม่สะดวกใจไปต่อกับพรรคมาร่วมด้วย
ลือเลื่องหนาหูอีกว่า ที่จับจองตีตั๋วย้ายมาพะยี่ห้อ “โอกาสใหม่” แล้ว ก็มีอย่าง “ค่ายด้ามขวาน” พรรคประชาชาติ และ “ค่ายลาดปลาเค้า” พรรคไทยสร้างไทย เป็นอาทิ
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ยังตั้งไข่อยู่ก็เดายากว่า พรรคโอกาสใหม่ จะไปได้ถึงไหน โดยเฉพาะ “นายทุน” จะไปด้วยถึงขนาดไหน
เพราะต้องยอมรับว่า นาทีนี้พรรคที่พอจะสู้รบปรบมือกับ “ค่ายสีส้ม” ได้ก็คงไม่พ้นพรรคเพื่อไทยนั่นเอง หากว่าไม่สะดุดขาตัวเองหัวทิ่มไปเหมือนครั้งก่อนๆ
และที่สำคัญต้องทำให้ “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ไว้วางใจด้วย เพราะต่างก็รู้กันดีถึงวีรกรรมของ “ทักษิณ” ในอดีต
ดังที่ “จตุพร” ฉายภาพไว้ว่า ปีศาลที่น่ากลัวที่สุดอยู่ที่ตัว ”ทักษิณ” นั่นแหละ.
ที่มา : MgrOnline