อาร์ตทอยรีไซเคิลตัวแรกของโลก!! "Grom" ฮอตจนต่างชาติขอถือลิขสิทธิ์ร่วม

เผยแพร่ : 22 พ.ย. 2567 19:46:11
X
• ออกแบบโดยนักเซิร์ฟ มีความเชื่อมโยงกับทะเลและรักษ์โลก
• ดีไซน์โดดเด่น ได้รับรางวัลการออกแบบ
• ได้รับความนิยมสูงจนบริษัทต่างชาติขอซื้อลิขสิทธิ์

อาร์ตทอยสัญชาติไทย ฮอตจนได้บุกตลาดโลก!! เพราะจุดขายเก๋ๆ เก็บ "ขยะพลาสติก" ริมทะเล มา "รีไซเคิล" เสริมด้วยสไตล์รักษ์โลกจากเลือด "นักเซิร์ฟ" แฝงความรู้เรื่องทะเล ดีไซน์แน่นทุกมิติ โกยรางวัลออกแบบมาการันตี จนกลายเป็น "อาร์ททอยคิวฮอต" ที่บริษัทต่างชาติขอเซ็นสัญญาถือลิขสิทธิ์ร่วม
โต้คลื่นบันดาลใจ “อาร์ตทอยขยะรีไซเคิล”

“เราน่าจะเรียกได้ว่าน้องกรอมตัวนี้ เป็นอาร์ตทอยที่ทำจากรีไซเคิลตัวแรกๆ ของโลก เนื่องจากมันมีหนวด หนวดมันค่อนข้างจะโดดเด่น พอเราเอามาใช้เป็นส่วนหัว มันยังไม่มีคาแรกเตอร์ไหนในโลกนี้เลยที่ใช้ เพราะส่วนใหญ่เขาจะใช้เป็นหัวคนแล้วเป็นหนวด พอเราเอามาเป็นส่วนผมแทน มันก็เลยมีความแตกต่างโดดเด่นครับ และทำให้คนสนใจได้ง่าย”

“จินต์ สถาพรสถิตย์สุข” หนุ่มนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ก่อตั้ง Reborn Studio และดีไซเนอร์อาร์ตทอยรีไซเคิลสัญชาติไทยสุดฮอตจนผลิตไม่ทัน กล่าวกับทีมข่าว MGR Live



“กรอม” (Grom)
ที่เรากำลังพูดถึง คืออาร์ตทอยเจ้าหนูหัวหนวดหมึกผู้พิทักษ์ท้องทะเล ที่มีความพิเศษอยู่ที่ การนำวัสดุรีไซเคิล มาใช้ในการทำอาร์ตทอยเป็นตัวแรกๆ ของโลก ด้วยกระแสแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ล่าสุดอาร์ตทอยตัวนี้ ได้เดินทางไปโชว์ตัวที่จีน ตลาดอาร์ตทอยเจ้าใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว

สำหรับที่มาของน้องกรอม มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ จินต์ มีโอกาสไปใช้ชีวิตใกล้ชิดทะเลพังงา นานวันเข้าจนกลายเป็นความผูกพัน ซึ่งแต่ละวันก็ต้องเจอกับขยะมากมาย

ทำให้เขาและเพื่อนๆ คนเล่นเซิร์ฟบอร์ด ที่มีอุดมการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน นิ่งเฉยกับปัญหานี้ไม่ได้ ด้วยความรู้ด้านการออกแบบที่มี จึงตกผลึกไอเดียสุดเจ๋งออกมาเป็น “กรอม” ในที่สุด พร้อมกับก่อตั้ง Reborn Studio เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

“เริ่มมาจากที่ผมไปอยู่ริมหาด ใช้ชีวิตแถวนั้น แล้วก็จัดกิจกรรมจัดงาน festival เรื่อยๆ แล้วเราก็ผูกพันกับทะเล ตอนนั้นมันมี community ที่เล่นเซิร์ฟครับ ผมก็ไปเล่น พอไปเล่นทุกวัน เราก็ได้อยู่กับทะเลทุกวัน แล้วเราก็เห็นว่าขยะมันเยอะสุดๆ เลย พอไปหยิบดูมันเป็นของอินโดนีเซีย ของฟิลิปปินส์ ของจีน ของต่างชาติ ผมว่าเกือบครึ่งไม่ใช่ของไทยอย่างเดียว



เราก็เห็นว่าปัญหามันเยอะจริงๆ ก็เลยคิดกับเพื่อนๆ กันว่าเราจะพอทำอะไรได้บ้างไหม แล้วปรากฏว่าช่วงอาร์ตทอยมา เราก็เลยคิดกับเพื่อนๆ ว่าเราตั้งสตูดิโอกันไหม มีโรงงานทำเซิร์ฟบอร์ด อยู่ที่เขาหลัก เป็นกระดานโต้คลื่น เราคิดว่าเขาเข้าใจเรื่องพลาสติก เรื่องเรซิ่น เรื่องงานพวกนี้ดี เราก็เลยลองทำกันดูครับ

ตัวผมเองก็ไปชนะเลิศการประกวดมาสคอตประจำจังหวัดภูเก็ต แล้วก็ไปชนะการประกวดมาสคอตประจำ Thailand Biennale ที่ภูเก็ต เราพอจะมีด้านการออกแบบอยู่บ้าง เราก็เลยคิดว่าเราสร้างเองขึ้นมาเลย ผมก็เลยออกแบบ กรอม ขึ้นมา เพื่อจะได้มีเป้าหมายว่าเราเริ่มทำกันแบบนี้ ทดลองกันดูว่ามันจะไปได้ไปถึงไหนครับ

หลังจากนั้นก็เลยตั้งเป็นสตูดิโอ ชื่อว่า Reborn Studio ก็เป็นคนที่เล่นเซิร์ฟด้วยกัน มีเวลาว่างหลังจากเลิกงานที่เขาทำกระดานโต้คลื่น เขาก็เลยมาช่วยกันหาทางว่าเราจะรีไซเคิลมันยังไงได้บ้าง ค่อยๆ พัฒนากระบวนการผลิตกัน ผมก็ดูแลเรื่องการออกแบบ แล้วก็การตลาดครับ ส่วนเพื่อนๆ เขาก็รีไซเคิลพลาสติก ทำสี ทำ packaging แล้วก็ส่ง”


[ “จินต์” เจ้าของไอเดียอาร์ตทอยรีไซเคิลสัญชาติไทย ]

อาร์ตทอยตัวนี้ยังมีความแปลกใหม่ เพราะจุดเด่นขอมันคือ หนวดหมึก ที่ใช้เป็นส่วนผม พร้อมทั้งชูเอกลักษณ์ของชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลในบ้านเรา และการเล่นเซิร์ฟบอร์ดเข้าไปอย่างกลมกล่อมลงตัว

“กรอม (Grom) มันเป็นศัพท์แสลงของชาวออสเตรเลีย ที่เขาจะเรียกเยาวชนที่เล่นเซิร์ฟเก่งๆ ว่า กรอม แล้วในการแข่งขันระดับนานาชาติ ถ้าใช้คำว่ารุ่นกรอม หมายความว่าจัดแข่งระดับเยาวชนนะ พวกรุ่นอื่นๆ มาสเตอร์ เขาจะมีชื่อเป็นภาษาฮาวาย ภาษาอะไรไป เราก็เลยใช้ชื่อกรอมมาใช้ เพราะมันก็ติดหู เป็นคำเดียว มันก็แปลก แล้วมันก็เป็นตัวแทนได้เลย

เราเล่าเรื่องว่า น้องกรอมไปเติบโตที่เกาะสุรินทร์ จะมีหมู่บ้านมอแกน เราก็เลยอยากเล่าเรื่องให้ผูกพันกับชาวเผ่ามอแกนด้วย เพราะว่าชาวเผ่ามอแกนเป็นชาวเผ่าทางทะเลเร่ร่อน น่าจะเล่าเรื่องทะเลได้ลึกกว่า เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเลมากกว่า แล้วก็สิ่งแวดล้อมก็ส่งผลกระทบกับเขามากกว่า ก็เลยอยากเริ่มต้นที่นั่น



เป็นผู้พิทักษ์ท้องทะเล พยายามเล่าเรื่องว่ามีสัตว์ทะเลอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงคอลเลกชันที่ออกไปเจอชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเล ประเทศเรามีมอแกน มอแกลน มีอูรักลาโวยจ ก็อยากจะใช้น้องในการณรงค์ แล้วก็ให้ความรู้ด้วยว่าจุดดำน้ำระดับโลกของเรา มีอะไรอยู่ตรงนั้นบ้าง

มาถึงที่นี่ก็อยากใส่เรื่องเซิร์ฟเข้าไป เพื่อให้รู้ว่าที่นี่เขาเล่นเซิร์ฟ เป็นเมืองท่องเที่ยวด้าน Surfing ด้วย ก็สามารถเล่าเรื่องได้หลายมิติขึ้นครับ ทั้งการท่องเที่ยว ทั้งตัวสัตว์ทะเล แล้วก็สิ่งแวดล้อม

เราก็เลยออกแบบตัว กรอม เป็นคาแรกเตอร์ที่เล่นเซิร์ฟเพราะมันก็ผูกพันกับในพื้นที่เรา พอดีหาดบางสัก ตรงแหลม เขาเรียกว่าแหลมปะการัง มันจะเป็นปะการังที่ตายซากเต็มไปหมดเลย แล้วก็มีปลาหมึกเยอะมาก ทางใต้เรียกว่าโวยวาย ก็เลยเอาตัวคาแรกเตอร์นี้มาใช้ เพราะมันเป็นที่เรื่องเซิร์ฟด้วย ก็เลยใส่เรื่องราวเข้าไปครับ”
เจาะตลาด Craft ส่งออก ก่อนบูมในไทย

ย้อนกลับไปยังตอนแรก เดิมทีนั้น จินต์ เป็นชายหนุ่มจากเมืองหลวง ที่เจอเหตุให้ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ไปตั้งหลักกันใหม่ที่พังงา ณ ดินแดนท้องทะเลแห่งนี้ ได้เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตครั้งใหม่ของเขา

“เป็นคนกรุงเทพฯครับ เรียนจบทางด้าน Product Design ออกแบบผลิตภัณฑ์ ธุรกิจหลักทำงานคราฟต์เครื่องประดับทำจากแก้ว หลอมแก้วออกมา แล้วก็ใส่ลวดลายลงไปในชิ้นงาน จี้ ต่างหู เครื่องประดับ เรามีร้านอยู่ที่จตุจักร มีนักท่องเที่ยวมาแล้วก็สั่งไปขายที่เมืองต่างๆ ให้ในแบรนด์เขา แล้วก็แบรนด์เราด้วย

แล้วก็ส่งออกครับ ส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลกประมาณ 30 ประเทศได้ แล้วก็ตลาดหลักคือญี่ปุ่น ผมก็เลยไปทำธุรกิจที่ญี่ปุ่นเพราะว่างานคราฟต์เขาราคาสูง ก็เลยไปทำตลาดที่โน่น ไปออกงานแล้วก็รับออเดอร์มาผลิตที่เมืองไทยครับ



ตอนที่ผมไปรับออเดอร์พวกงานเครื่องประดับแก้ว ทาง Partner ที่ญี่ปุ่นก็จะมีการใส่คาแรกเตอร์ลงไปในสินค้า Ultraman, Pokémon ผมได้รู้ว่าตลาดนี้มีลิขสิทธิ์ เขาเรียกว่าตลาด licensing มันใหญ่มากเลยที่ญี่ปุ่น แต่ในไทยยังไม่เริ่มต้น พอกลับมาเมืองไทย เราก็พยายามหาออกแบบคาแรกเตอร์ใส่สินค้าลงไป

เมื่อตอนปี 54 กรุงเทพฯ น้ำท่วม แล้วเราก็มีออเดอร์อยู่ ถ้าเราไม่ย้ายมันจะไม่สามารถผลิตออเดอร์ส่งลูกค้าได้ ก็เลยตัดสินใจย้ายไปที่พังงา พอดีแฟนเป็นคนภูเก็ตแต่ว่าที่บ้านมีที่ ก็เลยย้ายไปที่โน่นเพื่อทำงานได้ จะได้ไม่ต้องขาดออเดอร์

ที่นู่นกลุ่มลูกค้ามันใช่ กลุ่มลูกค้าของเราคือชาวต่างชาติที่ชื่นชอบงานแฮนด์เมดอยู่แล้ว เราก็เลยย้ายไปอยู่ที่นั่น แล้วก็ขยายสาขาที่ภูเก็ต ที่พังงา ที่สมุย ที่หัวหิน ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ครับ

แล้วก็ตอนโควิดไปไหนไม่ได้ ไปรับงานเมืองนอกไม่ได้ ก็เลยเปิดคาเฟ่ขึ้นมาที่ริมหาดแถวบ้าน หาดบางสัก เป็นหาดเดียวที่เป็นหาดสาธารณะ มันจะเป็นหาดเดียวที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงหน้าหาดได้เลย โดยไม่ต้องเกรงใจโรงแรมห้าดาวครับ

หาดบางสัก ที่พังงา ตรงนั้นจะเป็นโซนท่องเที่ยว พวกสแกนดิเนเวีย ยุโรปเขาจะรู้จักว่าตรงนี้เขาเรียกว่าเขาหลัก แต่จริงๆ ชื่อทางการก็คืออำเภอตะกั่วป่า ตรงนั้นเป็นที่เล่นเซิร์ฟ สามารถเล่นเซิร์ฟได้”



ก่อนหน้าที่จะมี “อาร์ตทอยกรอม” ตัวจินต์เอง ก็ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการทำแคมเปญเชิญชวนผู้คนเก็บขยะพลาสติก เพื่อนำมาและไอศกรีมที่คาเฟ่ของเขามาแล้ว

“หลังจากลงมาที่ภูเก็ต ผมก็เปิดร้านเครื่องประดับแก้ว แล้วก็มันมีสาขานึงในเมืองเก่าภูเก็ต เราก็คิดว่าเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศ เราชอบทานไอติมเดินเที่ยวในเมือง ก็เลยเปิดไอติมด้วยในร้าน ปรากฏว่าไอติมขายดีมากๆ เราก็เลยต้องขยายไอติม ผมก็เลยผลิตไอติมขึ้นมาเอง ออกแบบเอง คาเฟ่เราก็เลยเน้นทางด้านไอศกรีมครับ

คนมาที่คาเฟ่เยอะมากช่วงตอนโควิด คาเฟ่ตอนนั้นบูมมาก เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราได้สื่อสารอะไรไปบ้างคงดี เราก็เลยพยายามเล่าเรื่องไป แล้วก็ไปสั่งทำมาสคอตตัวใหญ่มาแต่เป็นอีกคาแรกเตอร์นึงก่อนหน้าตัวนี้ แล้วก็ได้เล่าเรื่องไปให้เด็กสนใจ ให้เด็กเข้ามาดูตัวนี้ แล้วก็อ่านข้อความ อ่านสตอรี่ที่สร้างขึ้น

แล้วก็ได้รู้ว่าปัญหาขยะจริงๆ มันเริ่มจากในเมือง ที่ขยะมันไม่ลงถังแล้วมันก็ตกอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องจัดเก็บไม่ดี แยกไม่ดี หรือว่าหมาจรจัดทำให้เศษขยะมันตก เสร็จแล้วฝนตกมันก็ลงคูลงคลอง สุดท้ายออกสู่ทะเล แล้วก็มาหาเรา ก็เลยพยายามให้เขารู้ว่า แค่เขาทิ้งขยะลงถัง มันอาจจะช่วยได้นะ อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนช่วยกันได้

ทางภูเก็ตมีทีมงานที่เขาเข้าใจเรื่องพลาสติกดี แล้วเขาก็ออกแบบเป็นของที่ระลึก เป็นที่วางแก้ว ที่เปิดขวด เขาทำขายอยู่แล้ว แล้วก็มีคนสนใจเยอะ ทางเราก็เอาของเขามาขาย แล้วมันก็ขายดี คนก็ชอบซื้อกัน แต่เราก็ยังไม่มี product ของตัวเอง

ก็เลยมีการทำกิจกรรมให้ลูกค้าเดินเก็บรวบรวมขยะฝาขวด แล้วก็เอามาให้เรา ให้ไอติมไป เราก็เริ่มทำแบบนั้นมาครับ พอเราเก็บฝาพลาสติกได้ เราก็ส่งให้ทางภูเก็ตเขารีไซเคิล”



แม้ไอเดียว่าจะตกผลึกมาเป็น กรอม จะใช้เวลาไม่นาน แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กับการสร้างคาแรกเตอร์ยังไง ให้เป็นที่น่าจดจำ

“เมืองเราเป็นเมืองเขาหลัก เขาเรียกว่า Khaolak Surf Town เป็นแคมเปญท่องเที่ยวเนอะ เวลาใครมาลองเล่นแล้วจิตใจเขาจะย้ายมาอยู่เลย คนที่เก่งๆ คนที่มีธุรกิจที่กรุงเทพฯ เขาจะย้ายมาอยู่ที่นี่กันเลย มาซื้อบ้าน มาทำธุรกิจที่นี่เลย

ผมก็เลยอนุมานว่าใครที่ย้ายมาแล้วหลงรักกับมัน ก็กลายเป็น ตัวโวยวาย (หมึกสาย หรือที่คนท้องถิ่น อ.ตะกั่วป่า เรียกว่า ตัวโวยวาย) ทำเป็นปลาหมึกไปเลย ก็เปลี่ยนผมเป็นปลาหมึกครับ

ผมเองจบทางด้านออกแบบสินค้า แล้วก็ผลิตสินค้าขายอยู่ตลอดเวลา ก่อนหน้านี้ผมทำเบียร์ (หัวเราะ) เป็นคราฟต์เบียร์ของเมืองเขาหลัก ใช้ชื่อว่า Khaolak Ale แล้วผมก็นำคาแรกเตอร์นี้มาใช้อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นในแบบคนจริง เราก็ทำสินค้านี้ขายอยู่แล้ว แล้วเราก็เห็นว่าคนสนใจ พอมาเป็นตัวอาร์ตทอย เราก็เลยหยิบคาแรกเตอร์นี้มาต่อได้เลย

(การสร้างแบรนด์) สำคัญมากเพราะมันเป็นเรื่องเล่า ถ้าให้ผมเล่าบางคนไม่ชอบหน้าตาแบบผม เขาอาจจะไม่อยากฟัง แต่พอเป็นคาแรกเตอร์ ทำยังไงให้มันมีความโดดเด่น มันถูกใจง่ายกว่า มันก็เล่าเรื่องง่ายกว่า แล้วมันก็แตกต่างกว่าครับ”

แม้จะเพิ่งเดบิวต์ในฐานะอาร์ตทอยหน้าใหม่ในวงการมาได้ไม่นาน แต่ “น้องกรอม” ก็ได้รับความสนใจจนคว้ารางวัล Popular vote จากงาน Wonder Festival Bangkok 2024 มาครองเป็นที่เรียบร้อย


[ คว้ารางวัลในบ้าน ก่อนโต้คลื่นถึงตลาดอาร์ตทอยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ]

“ตอนนี้ต้องบอกว่าตลาดบ้าคลั่งมากครับ เพราะว่าทุกคนมันมีทั้งชอบ ไปซื้อสะสม แล้วก็เป็นการรีเซลด้วย พอมันมีการรีเซล มีการเพิ่มมูลค่าสินค้า คนก็เข้ามาจับจอง มาเต็งว่าตัวไหนมันจะดัง ซื้อเก็บก่อน มีคอลเลกชันใหม่ๆ ออกมาก็ซื้อเก็บ เพราะว่าเผื่อจะรีเซลได้ด้วย ทำให้ตลาดมันกว้างขึ้น

แล้วก็มี POP MART ที่เขาเป็นเจ้าตลาดอยู่ เป็นของจีน เขาก็ทำตลาดอย่างดี มีการทำกล่องสุ่ม ทำให้คนตื่นเต้น ลุ้นสินค้า ทำให้เขาขยายเป็นตลาดกว้างขึ้น แล้วตอนนี้เรียกว่าโอกาสเปิดมากเลย ผมก็เลยคิดว่าถ้าเรานำคอนเซปต์รีไซเคิลเข้ามา มันจะเป็นอาร์ตทอยคาแรกเตอร์แรกของโลกเลย ที่ใช้คอนเซปต์พลาสติกรีไซเคิลเข้ามาทำ

ผมคิดว่าจุดนี้น่าจะแข็งพอก็เลยลองส่งประกวดดู กับทางที่เขามีการจัดประกวดระดับประเทศ เขาจะเป็นบริษัทที่นำเข้าสินค้าลิขสิทธิ์ One Piece, Gundam มาขายที่ไทย ผมก็เลยส่งไป แล้วก็ได้รางวัล Popular vote ครับ แต่ตอนนั้นไม่ได้รางวัลที่ 1 ที่ 2 เพราะว่าเรายังเพิ่งออกแบบ เรายังไม่มีตัวอาร์ตทอยให้เขาเห็น ทำให้เขานึกภาพไม่ออก เป็นแค่รูปไปเฉยๆ ครับ

พอเราส่งประกวดเสร็จปุ๊บ ผมก็เริ่มกระบวนการทำอาร์ตทอยแล้วก็ไปออกงานที่พารากอน เขาก็ได้มาเห็นตอนที่อาร์ตทอยเสร็จแล้ว ตอนนี้เขาเลยติดต่อมาว่าอยากจะมาถือลิขสิทธิ์ร่วมกัน แล้วเขาจะผลิตในระดับแมส 1,000 ตัวขึ้นครับ”
ไทย-เทศ จองคิวแน่น ลองท้าทาย "รีไซเคิล 100%"

ในส่วนของขั้นตอนการผลิต จินต์ บอกว่าคุ้นเคยกับการทำงานคราฟต์เครื่องประดับจากแก้วมาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมาเป็นพลาสติกก็เป็นวัสดุที่ต้องเรียนรู้กันอีกที และทำทุกอย่างด้วยตัวเองไปร่วมกับทีมงาน

“จุดเริ่มต้นก็คือว่าเราก็เก็บจากหน้าหาด หาดบางสักมันจะมีความกว้างประมาณ 5-6 กิโลครับ แค่นี้มันมีมาทุกวัน ตอนที่ผมเล่นเซิร์ฟอยู่ ขวดพลาสติกชนขาด้วยซ้ำ เพราะมันเยอะมาก รวมถึงเราก็มีเครือข่ายร้านอาหาร โรงแรมห้าดาวแถวนั้น แล้วก็ผู้ประกอบการที่เรารู้จัก ก็คอนแทคไว้ว่าภายใน 1 เดือน จะมีรอบส่งประมาณอาทิตย์ละครั้ง มารวบรวมกันไว้ที่สตูดิโอ

ผมทำของตกแต่งบ้านจากแก้วแบบนั้นอยู่ เราหลอมแก้วออกมาเป็นตัวปลากระเบน เป็นช้าง เป็นสัตว์ แล้วก็ส่งออก ก็เลยพอจะเข้าใจ process แต่พอเป็นพลาสติก มันก็มีพลาสติกหลายชนิดมาก การรีไซเคิล อุณหภูมิ มันก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่กัน



อย่างที่บอกว่าทีมงาน Reborn Studio มาจากทีมโรงงานที่ผลิตกระดานโต้คลื่น เขาก็เข้าใจเรื่องพลาสติก เรื่องเรซินอยู่แล้ว มีการผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่ เขาก็แค่ย่อส่วนให้มันเล็กลง แล้วก็ทุ่มเทการทดลองกันทุกวันๆ อุณหภูมิไหน แบบไหน

เริ่มต้นก็คือไปสั่งผลิตก่อน ลองหาในเมืองไทยดูว่าที่ไหนเขารับผลิตออกมาได้เป็นตัวชิ้นงานต้นแบบได้บ้าง แต่พอเราไปถามราคา มันค่อนข้างจะไม่สมเหตุสมผล เพราะราคาตลาดของ POP MART เขาขายอยู่กล่องละ 400-500 บาท เวลาเราไปสั่งทำชิ้นงานตัวนึงมันเกินพัน มันไม่ตอบโจทย์ตลาด เราก็เลยคิดว่าเราเริ่มกันเองดีกว่า ก็เลยย้อนกลับมาที่เรากันเองหมดเลย

ทำการล้างทำความสะอาด เสร็จแล้วก็นำไปบดให้มันละเอียดเล็กลง แล้วก็นำมันไปหลอมให้มันไม่ถึงจุดเดือด ให้มันไม่ละลาย แล้วก็นำไปเข้าบล็อกถึงมาเป็นชิ้นงาน แล้วก็ทำสีครับ อันนี้ก็จะเป็นงานเพ้นท์สีกับมือ ทั้งใช้แอร์บรัช ทั้งใช้พู่กันเก็บรายละเอียด เพราะงานมันชิ้นเล็กมาก”


[ กว่าจะมาเป็น “กรอม” ]

อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วว่าอาร์ตทอยตัวนี้ มีส่วนผสมจากขยะพลาสติกในทะเลบ้านเรา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในวงการนี้ จนอาจกล่าวได้ว่านี่คืออาร์ตทอยที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลตัวแรกๆ ของโลก

“ถ้าพูดถึงตัวขวดพลาสติก นี่คือจากหน้าหาด 100 เปอร์เซ็นต์ครับ แต่เวลาไปรวมวัตถุดิบอื่น เราต้องมีการผสมเพื่อให้ขอบหรืออะไรมันดีขึ้น ออกแบบมาเป็นตัวมันมี 3 ท่า

แอ็คชั่นแรกเนื่องจากเรารีบทำ เรายังไม่มีคิดค้นการผลิตที่ดีพอ ตัวน้องกรอม เลยใช้วิธีการพิมพ์สามมิติขึ้นมา แล้วก็มาทำสี ตัวเซิร์ฟบอร์ดเราทำจากพลาสติกรีไซเคิล แต่เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว มันยังไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มันยังน้อยอยู่

พอตัวที่ 2 เราใช้เป็นตัวโต้คลื่น ตัวฐานที่เป็นตัวคลื่น เราทำจากพลาสติกรีไซเคิล พอรวมตัวชิ้นงานแล้วก็ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบบที่ 3 เป็นตัวยืนถือแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส ตัวฐานทำจากพลาสติกรีไซเคิล ตัวนี้ก็ประมาณ 40 - 50 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แต่เราก็ได้สื่อสารกับลูกค้า ว่าเราพยายามพัฒนา process มันอยู่ ให้มันได้ 100 เปอร์เซ็นต์



ในแต่ละแบบเราทำแล้วเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ก็มีแล้ว แต่เนื่องจากชิ้นงานมันไม่คม เราก็เลยต้องใช้เวลาในการผลิต แต่ถ้าทำเป็นตัวใหญ่ ชิ้นงานมันสามารถกดพลาสติกได้ชัด จมูกน้องหรือว่าปากจะคมขึ้น

อาจจะมีแต่ว่าเราอาจจะตกหล่นไป แต่วันนี้เราก็ได้มั่นใจว่าจะรีไซเคิลให้เต็มรูปแบบ น่าจะเป็นตัวแรกๆ ของโลก แล้วเราพยายามทำให้มันได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันอยู่ที่การผลิตอยู่ พอออเดอร์มาเราก็เร่งทำให้ลูกค้า เรายังไม่ได้แบ่งเวลาไปพัฒนา process ครับ

ที่สตูดิโอก็จะมีแบบผิดพลาดเต็มไปหมดเลย ก็เก็บไว้ให้คนมาเยี่ยมสตูดิโอได้เห็นว่ามันผ่านการทดลองมาเยอะนะ กว่าจะถึงขั้นไหนได้บ้าง มันยังไม่สมบูรณ์เลย ประมาณ 40 - 50 แบบได้ครับ ก็เก็บไว้เพื่อจะนำไปรีไซเคิลซ้ำครั้งนึงได้”

ใครที่อยากได้อาร์ตทอยเจ้าหนูโต้คลื่นตัวนี้มาครอบครอง คงต้องอดใจรอกันหน่อย เพราะเจ้าของไอเดียยอมรับว่าตอนนี้ยังผลิตได้ไม่มาก แต่ก็จะพยายามเร่งทำตามจุดประสงค์ที่ตั้งใจ คือการระบายขยะพลาสติกที่มีออกไปให้มากที่สุด

“ตอนนี้คือสั่งกี่ตัวทำแบบนั้นก่อนครับ เพราะว่าในแต่ละแบบมันมีความยาก-ง่ายต่างกัน อย่างตัวแบบที่ 3 จะเป็นน้องกรอมยืนถือแมงกะพรุนไฟออกจากชายหาด ก็จะมีชิ้นส่วนที่แยกได้ ทั้งตัวผม ตัวมือ บอดี้ ตัวฐาน พอแยกได้เยอะ มันก็ต้องทำรายละเอียดเก็บงานเยอะ process นี้ก็จะช้าหน่อยครับ เพราะมันต้องทำหลายขั้นตอนครับ



(ขายได้) ก็ประมาณเกือบๆ 300,000 บาทครับ มีตัวขนาด 200 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตัวเล็กด้วย ถ้าราคาขายอยู่ที่ 1,888 บาทครับ มันจะมีรุ่นนึงที่เป็นตัวตัวโต้คลื่น อันนั้นเราติดคริสตัลลงไปด้วยที่ตัวหนวด เราเลยขายที่ 2,888 ตัวนี้ก็จะมีความโดดเด่น ตอนที่ไปออกงานคนก็จะดูตัวนี้เพราะมันมีคริสตัล ซึ่งในงานอาร์ตทอยในตลาดยังไม่มีใครนำมาใช้ครับ

เราก็ผลิตยังได้ไม่เยอะ เพราะเรายังมีการพัฒนาโปรเจ็กต์ที่เล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย การจะเป็นกล่องสุ่มได้ มันจะต้องมีซัก 6 ท่า หรือว่า 10 ท่า 12 ท่าขึ้นไป แล้วก็มีตัวซีเคร็ทซ่อนอยู่ในนั้น มันถึงจะสนุกในการที่จะซื้อ เรายังเพิ่งทำได้ไม่กี่แบบครับ

เราไม่ได้อยากให้มันราคาสูง เราไม่ได้กะเพื่อให้มันเป็นรีเซลล์ ใจเราไม่อยากให้ราคาขายสูงกว่า 1,000 บาทด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตยังเป็นชิ้นงานอย่างนี้อยู่ ถ้าระดับแมส เราอยากให้ถึงมือลูกค้าที่ซื้อง่าย เราอยากระบายพลาสติกที่เรามีเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด นั่นคือเป้าหมายแรกครับ ต่อไปถ้างานไหนมันราคาลงได้ จับต้องได้ ก็อยากให้ไปถึงจุดนั้นครับ

ตอนที่ไปออกงาน เราก็ได้คุยกับลูกค้าว่าถ้าสนใจคอนเซ็ปต์การผลิตของเรา ถ้าคุณมีคาแรกเตอร์หรือคุณไม่มีคาแรกเตอร์ เราก็อยากรับผลิตออกมาให้นะ เพราะพลาสติกมีเยอะ เราสามารถผลิตตัวอื่นได้

ก็มีคนสนใจเยอะแยะเลยว่าอยากได้คอนเซ็ปต์นี้ อยากสั่งผลิตเหมือนกัน แต่เราได้ออร์เดอร์ของเรามันเยอะมาก เราก็เลยยังทำให้คนอื่นไม่ได้ Reborn Studio ก็อยากจะรับผลิตเหมือนกันครับในอนาคต”
ธรรมชาติรักษา แพนิกหาย เพิ่มแรงบันดาลใจ

ส่วนใครก็ตามที่คอยเป็นกำลังใจศิลปินคนนี้อยู่ ตอนนี้ก็มีอีกหนึ่งข่าวดี เพราะเขาได้มีโอกาสร่วมงานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเป็นแคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดพังงาอีกด้วย

“เมืองเราไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ มันเป็นเมืองที่ค่อนข้างธรรมชาติสูงมาก แล้วก็มีโรงแรมห้าดาวเยอะ คนอาศัยไม่ค่อยเยอะ เวลาทำกิจกรรมอะไรดี เราก็ช่วยกันจับกลุ่มกันเอง ก็เลยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเยอะครับ

ทางผู้อำนวยการ ททท.พังงา เขามีความแอคทีฟกับผู้ประกอบการ มีการติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาว่ามีอะไรใหม่ๆ ที่จะนำเสนอให้การท่องเที่ยวมีความน่าสนใจ แล้วพื้นที่ที่ผมอยู่ เขาจะเรียกมีแคมเปญ Khaolak Surf Town เราจะใช้การเล่นเซิร์ฟเป็นการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงหน้าฝน เพราะว่าในพื้นที่ฝนตก 8 เดือนนะ แล้วก็หน้า high ประมาณ 4 เดือน

ใน 8 เดือน สมัยก่อนก็คือจะต้องปิดโรงแรมกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว หน้าฝนสามารถมาเที่ยวได้เยอะขึ้น รวมถึงใช้แคมเปญ Surf Town ด้วย ก็ทำให้ดึงคนมาลองเล่นกีฬานี้เพิ่มขึ้น

ทาง ททท.เขายังไม่บอกเราว่าเขาจะเอาไปใช้อะไร อาจจะเป็นการโปรโมชั่นเกี่ยวกับโรงแรมก็ได้ จองพักโรงแรมมา ได้อาร์ตทอยไปเลย ตอนนี้ผมยังไม่ทราบ พอมีตัวที่เกี่ยวกับแคมเปญขึ้นมา ทาง ททท. ก็เลยทำการสนับสนุน เราก็ใช้สีการไล่สีพาสเทลที่โดดเด่น แล้วก็ถือตัวเซิร์ฟบอร์ด แล้วก็ทำท่าเซิร์ปอัป time to ready ได้เวลาไปเล่นเซิร์ฟกันแล้ว ชวนคนมาเที่ยวครับ”


[ คอลเลคชั่นพิเศษ “กรอม x ททท.” ]

ในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ แน่นอนว่าต้องมีช่วงที่ไฟมอดเป็นธรรมดา สำหรับวิธีการเติมไฟให้ตัวเองสำหรับเขาคนนี้ ก็คือการออกไปโลดแล่นบนเซิร์ฟบอร์ด ให้ร่างกายกายได้ปะทะกับเกลียวคลื่นและสายลม

“เราอยู่กรุงเทพฯ เราก็เห็นแต่ตึกกับกล่องสี่เหลี่ยม แล้วก็รถติด ตอนผมมาอยู่ใหม่ๆ พอฝนตกผมก็เบื่อมากเลยเพราะไม่มีอะไรทำ พอได้รู้จักกับกีฬาเซิร์ฟ ก็ทำให้ผมตั้งตารอตอนช่วงหน้าฝน เพราะมันก็จะมีคลื่น มุมมองการอยู่เมืองก็เปลี่ยนไป

แค่ไปเล่นเซิร์ฟก็พอแล้วครับ เพราะว่าตัวเราลงไปเล่นเซิร์ฟ เราอยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติจะใหญ่มาก เราแค่ control ตัวเอง บาลานซ์ตัวเอง มีสมาธิกับธรรมชาติ เราก็ตัวเล็กนิดเดียวเลยเมื่อเทียบกับธรรมชาติ แรงคลื่นนิดเดียวแล้วก็กลิ้งแล้ว

ทุกอย่างมันยิ่งใหญ่แล้วก็สวยงามครับ พอเจอ sunset สวยๆ เจออากาศดีๆ ทุกอย่างมันก็รีเฟรชเลยครับ มันก็จะมีแรงบันดาลใจอยากทำนู่นทำนี่ครับ เราเจอขยะริมหาดก็อยากจะจัดการมันแล้วครับ ถ้าไม่ได้มากก็ทำนิดหน่อยก็ยังดี

อันดับแรกสุขภาพดีขึ้นเยอะ ร่างกายแข็งแรงขึ้นเยอะ แล้วมันก็ทำให้เราสงบ เมื่อก่อนก็มีโรคแพนิค พอมาอยู่กับธรรมชาติ ค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัวกับมัน อาการแพนิคก็หายไปครับ”



ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ได้ย้ายมาสัมผัสวิถีชีวิตลูกทะเล ก็ทำให้ จินต์ ได้มองเห็นความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม และขอเป็นอีก 1 แรงที่ลงมือทำ และเป็นกระบอกเสียงในการแก้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้น

“(นักท่องเที่ยว) ขยะเขาก็ไม่ค่อยได้ทิ้งกันเพราะเขาเข้าใจกันดีครับ เพียงแต่ว่าขยะมันมาจากข้างนอกเยอะมาก มันเกินหน่วยงานหรือว่าเกินกำลังคนแล้ว มันเป็นเรื่องที่ต้องออกแบบนโยบายระดับประเทศแล้ว ที่จะป้องกันตรงนั้นครับ

มันไม่ลดลงเพราะว่าคนมาอยู่เยอะขึ้น อย่างที่บอกว่ามันมาจากทะเล เรียกได้ว่าเรากันไม่ได้เลย เพราะว่ามันมาทะเล ช่วงมรสุมมันก็ขึ้นทุกปีแล้วมันก็เยอะมากครับ ถ้าได้มีโอกาสมาที่ชายหาดที่เขาหลัก เดินได้เลยทุกวัน เราทำแคมเปญที่คาเฟ่ผม เก็บ 60 ฝา แลกไอติมได้ 1 ลูก ก็สามารถมาเก็บได้เลย ทำให้คนได้ตระหนัก ได้รู้ ก็ถือว่าดีใจแล้วครับ

อยากเล่าลงไปในตัวกรอม ตัวคาแรกเตอร์ก็คือว่า น้องจะออกเดินทางไปในอาเซียน ไปเจอเพื่อนต่างๆ พยายามจะเอาข้อมูลมาเล่าให้ฟังว่ามันมายังไง ขยะมายังไง แล้วเราจะช่วยกันยังไงให้เราตระหนักถึงปัญหาตรงนั้นครับ



เพราะเอาจริงๆ แล้วเราเองก็จัดการไม่ไหว พอเราเก็บขึ้นมาก็ได้แต่รีไซเคิลแล้วก็ส่งแยกขยะ ซึ่งการแยกขยะก็ยังอยากให้รู้ว่ามันเป็นเรื่องนโยบายท้องถิ่น นโยบายระดับจังหวัด ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลาในระยะยาวเหมือนกัน

เรื่องแยกขยะเรื่องนึง มันยังเกิดผลไม่ได้ เพราะต้องใช้ร่วมมือหลายทาง ในส่วนของริมทะเลก็อยากให้คนตระหนักถึงปัญหานี้ แล้วก็ออกหาทางร่วมกันในการกำจัด เก็บมาแล้วก็นำมาไปแยกขยะ หรือนำไปจัดการกับมันให้ดีขึ้น เพราะว่ามันยิ่งผ่านไปมันก็ยิ่งมาเรื่อยๆ มาเยอะขึ้นเรื่อยๆ กำจัดไม่ไหวครับ”

และการที่เขาได้เป็นเห็นการจัดการปัญหาขยะอย่างแข็งขันของญี่ปุ่น ก็ยิ่งอยากให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้นได้บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เป็นถึงระดับนโยบายที่ต้องแก้กันตั้งแต่ต้นตอ

“ผมอยู่ในเมืองธรรมชาติ แต่ว่าการเดินทางค่อนข้างจะลำบาก ไปเที่ยวต้องผ่านภูเก็ตก่อน จากภูเก็ตถึงเดินทางมาถึงเมืองนี้ได้ มันต้นทุนค่อนข้างสูง ก็อยากจะให้มีระบบขนส่งสาธารณะดีๆ ที่คนในเมืองใช้ได้ แล้วก็นักท่องเที่ยวใช้ได้ด้วย

จริงๆ เราใช้เวลาแค่ 5 นาที เราจะเจอธรรมชาติที่นึงเลย เจอน้ำตก เจอน้ำพุร้อน ที่พังงามีน้ำพุร้อนด้วยนะ เจอทะเลขึ้นเขาเจอหมอก เราสามารถไปถึงได้ทุกที่ ที่พังงามีครบครับ เราก็เห็นว่าธรรมชาติมันครบถ้วน



พอมาอยู่เมืองแบบนี้ เราก็พยายามหากิจกรรมทำ ผมก็จัดงาน festival จัดงานแข่งขันกีฬาซับเซิร์ฟ จัดงานสินค้า พยายามให้มันมีกิจกรรมขึ้น แล้วก็รวมตัวคนในจังหวัดมาช่วยกันทำ แต่ละคนพอกลับมาอยู่ก็อยากให้เมืองมันดีขึ้นครับ

ยิ่งเราไปเห็นญี่ปุ่น ไปเห็นเมืองที่เจริญแล้ว เวลากลับไปมันก็อยากทำครับ ผมเคยไปเปิดร้านที่ญี่ปุ่นโตเกียว เขาแยกขยะกันที 10 กว่าอย่าง ซึ่งผมก็มึนเลย เขาแยกทั้งฝา ทั้งฉลาก ทั้งชนิด มันเยอะมาก เขาแยกละเอียดมาก แล้วเขาสอนตั้งแต่อนุบาล ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะศึกษา

เราเองทำได้ก็คือเอาข้อมูลมาบอกว่ามันมีแบบนี้เกิดขึ้น มันเยอะจริงๆ ขณะที่คนอื่นก็ได้ไปต่อยอดด้านอื่น แล้วลงลึกไปถึงการศึกษา แล้วก็อยากให้ค่อยๆ ทำกันไปเรื่อยๆ ให้มันกว้างขึ้น แล้วก็ตระหนักจริงๆ

ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะฝากให้คนที่สนใจเรื่องนี้ ส่งฝาพลาสติกมาที่สตูดิโอ เพื่อเราจะนำกลับไปรีไซเคิล ถ้าส่งมาเยอะมากพอ เราอาจจะทำเป็นของที่ระลึกเล็กๆ ส่งกลับไป ให้เห็นว่าที่เขาส่งมามันเป็นสินค้าออกไปได้เป็นแบบไหนครับ”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย หนุ่มนักออกแบบคนนี้ ก็ฝากไว้ถึงการสนับสนุนอาร์ตทอยจากศิลปินชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะกระแสอาร์ตทอยกำลังบูมแบบนี้ ก็เป็นโอกาสและช่องทางให้ผลงานคนไทย ได้ฉายแสงในตลาดระดับโลก

“ในเดือนตุลาก็มีการนำคาแรกเตอร์กรอม ไปโชว์ที่เมืองตงกวน ที่ประเทศจีนนะครับ เพื่อจะดู feedback ว่าตลาดจีนเขามองคาแรกเตอร์แบบนี้ยังไงบ้าง ตอนนี้บริษัทที่ให้ความสนใจ เขานำไปออกงานที่นั่น แล้วเดี๋ยวเราจะได้รู้ว่ามีช่องทางไหนที่เราจะไปบุกตลาดจีน หรือว่านำกลับมาดูงาน ว่าสินค้าคาแรกเตอร์ตัวไหนที่น่าสนใจนำมาพัฒนาของเราต่อ

แล้วก็อยากฝากว่าสินค้าอาร์ตทอยของคนไทยมีน่ารักเยอะมาก
ทั้งเกี่ยวกับสายมู ทั้งเกี่ยวกับตัวสัตว์ท้องถิ่นต่างๆ มีคนออกแบบเยอะมากเลย แต่ว่ามันอาจจะติดขัดเรื่องการผลิตนิดหน่อย ทำให้ต้นทุนเราสูงแล้วก็ช้า

ก็อยากจะให้ช่วยสนับสนุนนักออกแบบไทยเยอะๆ เพราะว่าถ้าเราทำชิ้นงานออกมาได้เยอะ มันสามารถส่งออกไปตลาดใหญ่สุดก็คือประเทศจีนได้ เพราะว่าคนจีนเป็นตลาดใหญ่มาก ถ้าเราได้รับการสนับสนุนกันเอง สามารถให้นักออกแบบมีการผลิตเยอะขึ้น ทำให้เขามีทุนในการออกแบบเยอะขึ้น เราสามารถจะเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ขยายตลาดได้ครับ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : Facebook “Jin Jino”, “Reborn Studio” และ “Grom.arttoy”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



ที่มา : MgrOnline