TCMA ผนึกพลังชูจุดแข็งอุตฯ ปูนซีเมนต์ กำจัดวัสดุไม่ใช้แล้วอย่างยั่งยืน
เผยแพร่ : 22 พ.ย. 2567 13:09:00
• วิธีนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
• ลดพื้นที่ฝังกลบขยะ
• TCMA มุ่งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน
TCMA ชูกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing in Cement Kiln) จุดเด่นด้านความปลอดภัย ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ลดพื้นที่ฝังกลบ พร้อมเร่งเดินหน้าผสานความร่วมมือเชื่อมโยงทุกระบบนิเวศในสังคม ร่วมกำจัดวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) อย่างยั่งยืน ตามแนวคิดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Concept)
นายนภดล รมยะรูป อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย หรือ TCMA (Thai Cement Manufacturers Association) เปิดเผยว่า การจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) ทั้งจากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชน เป็นประเด็นที่สำคัญในประเทศไทย ซึ่งหากบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการคัดแยก ตั้งแต่ต้นทาง และจัดการอย่างเหมาะสม จะเป็นการลดของเสีย และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของ TCMA ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน (Alternative Raw Material: AR) หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน (Alternative Fuel: AF) ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ภายใต้แนวคิดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Concept) โดยการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial Cluster) เพื่อหมุนเวียนกากอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมหนึ่งนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบทดแทนในอีกอุตสาหกรรมหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สามารถหมุนเวียนนำกากอุตสาหกรรมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนหรือวัตถุดิบทดแทนได้หลายประเภท
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีจุดเด่น ด้านเทคโนโลยีและความพร้อมด้านการจัดการวัสดุไม่ใช้แล้ว (Waste) ด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing of Waste Materials in Cement Kiln) ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส นับเป็นการใช้จุดแข็งของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ มากำจัดวัสดุไม่ใช้แล้ว ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อมลพิษ ลดพื้นที่การฝังกลบ (Zero Landfill) และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
TCMA พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือร่วมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดการวัสดุไม่ใช้แล้ว ด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing in Cement Kiln) โดยในปี 2563 สามารถนำวัสดุไม่ใช้แล้ว มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน 10% และเพิ่มเป็น 23% ในปี 2565 ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4.7 ล้านตัน CO2 และพร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการใช้เชื้อเพลิงทดแทน 68% ในปี 2573
ที่มา : MgrOnline