อาการแบบนี้ ใช่โรคหัวใจ หรือเปล่านะ?

เผยแพร่ : 22 พ.ย. 2567 11:44:59
X
• กล้ามเนื้อหน้าอกทำงานไม่เต็มที่หรือไม่มีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคหัวใจเสมอไป
• ควรตรวจสอบสาเหตุอื่นก่อน ก่อนสรุปว่าเป็นโรคหัวใจ

เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย แบบนี้จะเป็นโรคหัวใจไหม? ก่อนจะคิดไปไกล ลองมาเช็คกันก่อนนะคะ เพราะอาการที่คุณเป็น อาจแค่มาจากกล้ามเนื้อหน้าอกทำงานไม่เต็มที่หรือไม่มีประสิทธิภาพ

คุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) มาให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า มีหลายเคสที่เข้ามาปรึกษาด้วยอาการต่างๆ เหล่านี้ค่ะ

บางครั้งรู้สึกหน้าชาๆ อ้าปากกว้างไม่ได้

ชาๆ ล้าๆ ตามแขนและมือ

ตื่นเช้ามา มือและนิ้วแข็ง ปวดๆ ตึงๆ ตามข้อนิ้ว

จุกแน่นๆ ตรงลิ้นปี่ อาการเหมือนกรดไหลย้อน

เวลาหายใจลึกๆ จะเสียวแปล๊บๆ ตรงใต้สะบัก

ปวดตึงร้าวมาข้างกกหู ตึงต้นคอด้านหน้า

เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม

อึดอัดในอก เหมือนใครเอามือมากดอกไว้

บางคนเข้าใจว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ หรือ เป็นกรดไหลย้อนไหม แต่ยังไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะอาการเหล่านี้อาจเกิดจากกล้ามเนื้อหน้าอกมัดลึก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกางและยกชายโครง เพื่อให้ปอดขยาย ซึ่งหากกล้ามเนื้อเหล่านี้ หดสั้น เกร็งรั้งก็มีผลทันทีต่อการหายใจ ปอดจะขยายลำบาก เหมือนหายใจไม่เข้า หรืออาจแน่นๆ หน้าอก หรือแม้แต่อาการเสียวแปล๊บ ลึกๆ นั้น ก็มาจากกล้ามเนื้อใต้สะบัก (Serratus Posterior Superior muscle) หรือใต้ชายโครง (Serratus Anterior muscle) หดเกร็งค้างอยู่ เราอาจตกใจเกรงจะเป็นโรคหัวใจ

แต่มีเคล็ดลับแยกง่ายๆ ว่าเราเป็นที่กล้ามเนื้อ หรือเป็นโรคหัวใจกันแน่ หากอาการที่เป็น เราสามารถระบุตำแหน่งของร่างกายได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน นั่นคืออาการของกล้ามเนื้อ แต่หากเป็นความไม่ชัดเจนว่าปวดลึกๆ ส่วนไหน หรือจี๊ดตรงไหน อาจต้องปรึกษาแพทย์ และตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โรคหัวใจส่วนใหญ่จะรู้สึกหนักตรงหน้าอก เหมือนมีเท้าช้างเหยียบตรงหน้าอกไว้ จะหายใจไม่ออก จะรู้สึกได้ขนาดนั้นเลยค่ะ

สาเหตุหลักที่ทำให้มีอาการดังที่กล่าวมา เป็นจากการใช้งานร่างกายที่อยู่ในท่าทางที่ผิด โดยเฉพาะท่านั่ง หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น ก้มใช้โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ กอดอก หรือแม้แต่ท่านอนขดในตอนกลางคืน ท่าทางเหล่านี้ จะทำให้กล้ามเนื้อด้านหน้าหดสั้น ยึดติด ดึงให้ชายโครงพับกดลงด้านหน้า หลังจะโก่งงอ นานวันเข้าการหายใจจะสั้นถี่ กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจต้องทำงานหนัก เพื่อจะยกชายโครงขึ้น จนเกิดปัญหาดังกล่าวตามมา

การแก้ไข เบื้องต้นเมื่อรู้ตัว ให้ยืดหลัง ตั้งตัวตรง อยู่ในท่าที่ถูกต้อง ไม่ก้ม จนหลังค่อม/ไหล่งุ้ม ถ้าต้องทำงานต่อเนื่องนาน ควรยืดตัว หมุนหัวไหล่ไปด้านหลังเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ขยับ ปรับสมดุลไปด้วย ขณะใช้งาน เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันอาการดังกล่าวได้ แต่หากคนที่เป็นสะสมมานาน อาจจำเป็นต้องรักษา คลายกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นให้ข้อต่อหลัง และชายโครง กระตุ้นการหายใจ และการขยายตัวของปอด ซึ่งทั้งหมดคือการปรับโครงสร้างร่างกาย เป็นการรักษาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของนักกายภาพบำบัดค่ะ

ที่มา : MgrOnline