“ทักษิณ”วางหมาก ฝ่ากระแสต้าน ! ดันสารพัดโครงการ“เกาะกูด-เช่าที่ดิน 99 ปี”ต้องเกิด

เผยแพร่ : 22 พ.ย. 2567 08:02:01
X
• แนะรัฐบาลเพื่อไทยเร่งสร้างผลงานดึงคะแนนนิยมก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า
• เพื่อไทยใช้นโยบายแบบหว่านแห ดำเนินการหลายโครงการพร้อมกัน เช่น โครงการเกาะกูด และการตั้งคาสิโน
• การกระจายโครงการพร้อมกันมีเป้าหมายลดแรงต้านต่อนโยบายต่างๆ

“ผศ.ดร.วันวิชิต” ชี้ “ทักษิณ”ต้องลงมานำทัพเอง เหตุคนไม่เชื่อมั่น “อุ๊งอิ๊งค์” สั่งรัฐบาลเพื่อไทย เร่งปูพรม สร้างผลงาน เรียกคะแนนนิยมก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า โดยขับเคลื่อนนโยบายแบบหว่านแห ทำทุกโครงการไปพร้อมกัน ทั้งเกาะกูด-ตั้งกาสิโน-ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี เพื่อลดกระแสต้าน ไม่ให้โฟกัสไปยังโครงการใดโครงการหนึ่ง ขณะที่เสียงคัดค้านสนั่นโซเชียล พบหลายโครงการกระทบความมั่นคง ! ด้าน “ธีระชัย” เตือน เงินดิจิทัล เฟส 2 ผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพราะกลุ่มอายุ 60 ที่รับเงิน มีอันจะกิน ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง แฉ สร้างหนี้สาธารณะ แลกความนิยมทางการเมือง

กล่าวได้ว่าขณะนี้“รัฐบาลเพื่อไทย”กำลังเดินหน้าทุกองคาพยพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง นั่นคือทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิม ตามที่ “นายทักษิณ ชินวัตร” ประกาศบนเวทีปราศรัยหาเสียงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะต้องได้ สส.200 คน ซึ่งแม้ทักษิณจะไม่ได้มีตำแหน่งใดๆในพรรคแต่ในทางพฤตินัยนั้นใครๆต่างก็รู้ดีว่าเขาคือ“เจ้าของพรรคตัวจริง”

โดยด้านหนึ่งรัฐบาลเพื่อไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายเพื่อซื้อใจประชาชน ผ่านมาตรการที่ใช้ชื่อว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” อันได้แก่ “โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท” โดยแจกเป็นเงินสดแทน เพราะไม่สามารถแจกในรูปแบบของเงินดิจิทัลได้เนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจนถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 2 เฟส โดยเฟสแรก แจกให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ส่วนเฟสที่ 2 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ แจกให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยต้องไม่ใช่ผู้ที่รับเงินจากเฟสแรกไปแล้ว มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท/ปี และเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท

“มาตรการปรับโครงสร้างหนี้” ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาเมื่อเร็วๆนี้ โดยกระทรวงการคลังสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ พักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะครอบคลุมลูกหนี้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีหนี้บ้าน ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ,กลุ่มหนี้รถยนต์ ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 800,000 บาท และกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ขณะที่สถาบันการเงินซึ่งให้ลูกหนี้พักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ จะได้รับการชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินส่วนนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทน

“โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว ให้ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ โดยขณะนี้ระหว่างการหารือในรายละเอียด

ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งรัฐบาลเพื่อไทยก็เดินหน้าฝ่ากระแสต้าน พยายามผลักดันนโยบายที่ทักษิณเคยประกาศไว้ โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในทะเลบริเวณเกาะกูด , โครงการกาสิโนถูกกฎหมาย ภายใต้ชื่อ“เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ,การเปิดเสรีอสังหาริมทรัพย์ โดยให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา , หรือแม้แต่ความพยายามในการแต่งตั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ลูกหม้อพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย(แบงก์ชาติ) ทั้งที่นายกิตติรัตน์อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เนื่องจากเขาเพิ่งพ้นจากการเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบปี ซึ่งการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ถูกมองว่าเพื่อเข้าไปแทรกแซงการทำงานชองแบงก์ชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายนโยบายของรัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การแจกเงินดิจิทัลฯ 

ทั้งนี้มีกระแสวิจารณ์สนั่นไปทั้งโซเชียลว่า การเร่งผลักดันนโยบายเหล่านี้อาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ที่สำคัญหลายโครงการเป็นเรื่องที่กระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจะจึงเร่งรีบดำเนินการ

แน่นอนว่าคนที่ถือธงนำในการผลักดันนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นหาใช่ “ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” แต่เป็น “นายทักษิณ ชินวัตร” เจ้าของนโยบายตัวจริง !
ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองปรากฏการณ์ครั้งนี้ ว่า การที่นายทักษิณเป็นหัวหอกทะลวงฟัน โดยมีรัฐบาลเพื่อไทยเร่งดำเนินนโยบายทุกอย่างตามที่ทักษิณได้ปูพรมไว้ ก็เนื่องจากปัญหาการสืบต่อตำแหน่งนายกฯของ น.ส.แพทองธารนั้นไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้เท่าทักษิณ ซึ่งพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่ากลยุทธ์ในลักษณะนี้จะได้มากกว่าเสีย เพราะการที่ทักษิณลงมาขับเคลื่อนเอง ไม่ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบแต่ก็มีคนติดตามข่าว อีกทั้งยังเป็นการแย่งซีนจากฝ่ายค้าน และลดพลังคุณค่าในการเติบโตของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ดังนั้นการที่ทักษิณลงมาเล่นเองไม่ว่าจะได้จะเสียทางพรรคเพื่อไทยก็มองว่าคุ้ม

“ การเดินหน้านโยบายเชิงรุกต่างๆของรัฐบาลเพื่อไทยตามที่คุณทักษิณได้เคยประกาศไว้ก็แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งปูพรมทำผลงานเพราะในอนาคตไม่รู้ว่าขบวนการนิติสงครามจะมาถึงเมื่อไหร่ จะส่งผลอย่างไรต่อพรรคเพื่อไทยบ้าง และคุณแพทองธารชะตากรรมจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยพรรคเพื่อไทยต้องมีผลงานที่ใช้ขับเคลื่อนในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า ” ผศ.ดร.วันวิชิต ระบุ

อย่างไรก็ดี มีคนตั้งข้อสังเกตว่าในเมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการคะแนนนิยมจากคนไทย เหตุใดจึงดึงดันที่จะขับเคลื่อนในหลายๆเรื่องที่ประชาชนไม่เห็นด้วยทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ซึ่งประเด็นนี้ “ผศ.ดร.วันวิชิต” วิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะทำนโยบายแบบหว่านแห คือดำเนินการไปพร้อมๆกันหลายๆเรื่อง อันไหนที่เข้าท่า เสียงตอบรับดี ก็เดินหน้าต่อ ส่วนอันไหนที่มีกระแสต่อต้านก็ถอย แต่จะไม่โฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้คนพุ่งเป้าจับผิดไปที่เรื่องนั้นๆมากเกินไป ซึ่งต่างจากช่วงก่อนที่นายทักษิณจะกลับมามีบทบาทในพรรค คือช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันโครงการเงินดิจิทัลแค่เรื่องเดียว พอทำไม่ได้ก็หยุดอยู่แค่นั้น

“ นี่เป็นทฤษฎีหว่านแหทางการเมือง เมื่อทำทุกเรื่องไปพร้อมๆกัน คนที่คิดต่าง คนที่อคติก็จะเหนื่อยพอสมควรที่จะไล่ตาม เป็นการกระจายความสนใจออกไป ไม่ให้น้ำหนักโฟกัสไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอเรื่องไหนถูกโจมตีหนักๆเขาก็จะปล่อยประเด็นอื่นออกมาแทรก ทำให้กระแสของประเด็นที่กำลังถูกวิจารณ์เบาลง ดังนั้นการทำหลายเรื่องๆ หลายๆโครงการไปพร้อมกัน ไม่ว่าเรื่องนั้นประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบ คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า ถ้าเรื่องไหนกระแสตอบรับดีก็ผลักดดันต่อ ก็ถือเป็นผลงาน แต่ถ้าเรื่องไหนคนคัดค้านกันมากก็ถอย ดีกว่าจะไปวางไทม์ไลน์ว่าวันนี้ทำเรื่องนี้ เดือนหน้าทำเรื่องนั้น มันคือวิธีคิดแบบนักธุรกิจ อะไรได้ประโยชน์ก็ทำทันที ไม่ใช่คอยให้กลไกรัฐมาขับเคลื่อนอย่างเดียว มันไม่ใช่แล้ว ซึ่งต่างจากช่วงที่คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ตอนนี้ผู้มีอำนาจตัวจริงมาขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ทำอะไรมันก็ง่าย ” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าว

ส่วนกรณีเกาะกูด ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยพยายามจะเปิดการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาเรื่องการนำพลังงานในทะเลบริเวณเกาะกูดขึ้นมาใช้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายฝ่ายนั้น “ผศ.ดร.วันวิชิต” มองว่า กรณีเกาะกูดอาจจะเป็นปัญหาในการสื่อสาร ซึ่งกลไกของรัฐบาลต้องออกมาช่วย คือเมื่อฝ่ายการเมืองออกมาชี้แจงแล้วคนไม่เชื่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ต้องออกช่วยชี้แจง ทั้งเรื่องเส้นแบ่งดินแดน การจัดสรรทรัพยากรพลังงาน ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เช่น ทรัพยากรพลังงานในทะเลในพื้นที่ดังกล่าวมีเท่าไหร่ ลงทุนแล้วคุ้มหรือไม่ รัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้แก่สังคมได้ คนที่คิดต่างก็เกิดความคับข้องใจ เกิดความคิดว่ามีการสร้างบิ๊กดาต้าที่เป็นข้อมูลเท็จหรือเปล่า หน่วยราชการก็ต้องออกมาช่วยชี้แจงว่ารวมมือกับกัมพูชาแล้วประเทศไทยจะได้อะไร คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร แต่ไม่มีตรงนี้

“ เมื่อไม่มี Action Plan ให้ประชาชนได้รับทราบ ทุกคนจึงรู้สึกกำกวมและตีความไปได้หลายมิติ กลัวว่าไทยจะเสียเปรียบ โดยเฉพาะบทบาทของคุณทักษิณซึ่งมีสายสัมพันธ์กับอดีตนายกฯฮุน เซน จนมาถึงรุ่นลูกคือ สมเด็จ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบัน จึงเกรงว่าจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน” ผศ.ดร.วันวิชิต ระบุ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่า“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ที่รัฐบาลเพื่อไทยผลักดันออกมาในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท , มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ โดยพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้ หรือโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท นั้นไม่ได้ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่เป็น“นโยบายประชานิยม” เพื่อหวังผลต่อคะแนนนิยมทางการเมืองมากกว่า

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า เมื่อพิจารณาทั้ง 3 โครงการแล้วพบว่ามีเพียงโครงการเดียวที่เข้าข่ายประชานิยม คือโครงการแจกเงินดิจิทัล ส่วนโครงการปรับโครงสร้างหนี้โดยพักชำระดอกเบี้ย และโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท นั้นถือว่าเป็นโครงการที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ประชาชนที่มีปัญหา จึงมีความสมเหตุสมผล อย่างไรก็ดีการเลือกกลุ่มลูกหนี้ที่มีสิทธิพักชำระดอกเบี้ยนั้นถือว่าไม่ตรงจุด ควรให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียเป็นเวลานานหลายปีมากกว่าให้กลุ่มลูกหนี้ที่มีหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เพราะลูกหนี้กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีปัญหาหนักจริงๆ

แต่นโยบายที่ผิดพลาดอย่างชัดเจนคือ โครงการแจกเงินดิจิทัล เฟส 2 ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท” เฟส 2 ซึ่งแจกให้แก่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องเอาเงินงบประมาณไปแจก เกณฑ์รายได้ของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินจากโครงการซึ่งกำหนดว่าไม่เกิน 840,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 7,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท ก็ถือว่ามีเงินพอกินพอใช้อยู่แล้ว อีกทั้งไม่ได้กำหนดด้วยว่ายกเว้น กลุ่มข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน/บำบาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ และข้าราชการการเมือง สส. สว. แปลว่ากลุ่มดังกล่าวก็มีสิทธิได้รับเงิน 10,000 บาทด้วย ทั้งที่กลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาในการดำรงชีพ

“ ที่สำคัญโครงการเงินดิจิทัล เฟส 2 ซึ่งแจกเงินแก่กลุ่มผู้มีอันจะกิน ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ โดย มาตรา 7 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ระบุว่า การกู้เงิน หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย ซึ่งการนำงบเงินประมาณมาแจกโดยไม่มีความจำเป็นก็เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศเป็นงบขาดดุล คืองบประมาณที่ประมาณการรายรับน้อยกว่ารายจ่าย และส่วนเกินของรายจ่าย รัฐบาลจะต้องกู้ยืมมาเพื่อให้ชดเชยรายรับที่ขาดไป โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟส 2 เป็นแค่การแจกเงินเพื่อเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง แต่ผลกระทบที่ตามมาคือภาระหนี้สาธารณะและความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ” นายธีระชัย ระบุ

ที่มา : MgrOnline