พรรคร่วมชิ่งคว่ำประชามติ เลิกรื้อรธน.!
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 23:52:35
• การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างใหม่ จึงมีความเป็นไปได้น้อยลง
• แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจึงยากที่จะเกิดขึ้น
เมืองไทย 360 องศา
สัญญาณแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างใหม่ ทำท่าเป็นไปได้ยากแล้ว หลังจากที่พรรคสำคัญในรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย และท่าทีจากแกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ มองเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความเร่งด่วนของนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของประชาชน อีกทั้งสัญญาณที่บ่งชี้คือ มีการโหวตในคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายการลงประชามติ โดยที่สส.ที่เป็นกรรมาธิการฯจากพรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง ทำให้แพ้มติ ทำให้ต้องใช้มติสว.ที่ต้องการให้การลงประชามติต้องใช้ “เสียงข้างมากสองชั้น”
ท่าทีชัดเจนว่า การไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขไม่ทันสมัยวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มาจากแกนนำสองคนของสองพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล เริ่มจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ยืนยันว่า พรรคมีความเห็นด้วยกับการลงประชามติด้วยเสียงข้างมากสองชั้น และเห็นว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ทันสภาฯ ชุดนี้ก็ไม่เป็นไร ให้รอสภาฯ ชุดหน้า
นายอนุทิน กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุหากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประชามติตามกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติรัฐสภา ทำให้ต้องยืดระยะเวลา 180 วัน และอาจเข้าเกณฑ์กฎหมายการเงินที่ต้องพักไว้ 10 วัน และจะขอหารือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นนี้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ได้แสดงจุดยืน ว่าควรจะเป็นการทำประชามติ2ชั้น หรือ Double majority ซึ่งจุดยืนตรงนี้เราก็เห็นความจำเป็นอยู่ เพราะพอมีประเด็นเรื่องเกาะกูด และการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติต่างๆ เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการแก้ไขกฎหมายให้รอบคอบ เนื่องจากหากมีการลงมติไปแล้วจะได้ไม่มีใครพูดว่าผิดพลาดในภายหลัง หรือว่าเราทำไม่รอบคอบ
“นี่เป็นเจตนารมณ์ของพรรคภูมิใจไทย อะไรที่จะทำประชามติต้องเป็นการทำประชามติจริงๆ และต้องมีส่วนร่วมจริงๆ เพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญ และเกี่ยวข้องกับประเทศของเขา ไม่ใช่ประชามติของคนแค่มาออกเสียง” นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่า หากนำผลกรรมาธิการร่วมประชามติมาโหวตในสภาล่าง ก็จะยืนยันกรณีเสียงข้างมาก 2 ชั้น ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบเราแสดงเจตนารมณ์ของเราแล้ว ใครเห็นด้วยกับเราก็โหวตตาม ใครไม่เห็นด้วยก็โหวตไม่เหมือนกัน ผลออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องเคารพ ขอยืนยันว่า ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันได้ใช้หลักการประชาธิปไตยในการตัดสิน สิ่งใดที่จะมาบังคับใช้
เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จภายในรัฐบาลนี้ตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างมีเงื่อนเวลา มีขั้นตอน ถ้าแก้ได้ก็แก้ถ้าแก้ไม่ทันก็ต้องรอสภาฯ ชุดหน้า
สอดคล้องกับท่าทีก่อนหน้านี้ของ นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ต่อการนัดประชุม กมธ. เพื่อลงมติในความเห็นต่างระหว่าง สส.และ สว. ต่อหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ แม้ว่าเห็นด้วยกับประนีประนอมให้ออกเสียงประชามติเป็นแบบ “ชั้นครึ่ง” ว่า ตนสนับสนุนในแนวทางที่ต้องกำ หนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิส่วนเสียงเห็นชอบเรื่องที่ทำประชามตินั้น ให้ถือเสียงข้างมากก็ตาม ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เขาเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละเรื่อง ซึ่งเป็นไปได้มากกว่าเสนอแก้ทั้งฉบับ หรือมีส.ส.ร.
“กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินไปตามกระบวนการ และทำ ตามระบบประชามติส่วนจะประชามติกี่รอบ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แม้จะได้ส.ส.ร.มาแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะแก้ได้บางส่วน อีก 90% อาจเป็นของเดิม ดังนั้นหากเขาอยากแก้ไขจริง ควรเสนอมาทีละเรื่อง ผมเชื่อว่าหากเสนอแก้ทีละเรื่องได้คงเสร็จไปแล้ว ดังนั้นหากจะเอาทั้งชามทีเดียว ยกซดอาจลวกคอได้หากจิบทีละคำ ก็สามารถกินได้ดังนั้นอยู่ที่หลักคิดว่า ต้องการแค่คำ ว่ารัฐธรรมนูประชาธิปไตย มาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับประยุทธ์เท่านั้น” นายวิทยา กล่าว
สำหรับผลการลงมติของคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติแถลงผลการประชุมครั้งที่ 3 เพื่อหาข้อยุติในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติปี2564 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาเห็นแย้งกัน โดยวุฒิสภาเสนอให้แก้ไขเป็นหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น นำ มาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อหาข้อยุติดังกล่าว
โดยผลลงมติเสียงส่วนใหญ่ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข 13 เสียง และ 9 เสียง ลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติมตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ และงดออกเสียง3 คน จากองค์ประชุมทั้งหมด 25 คน
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะนำร่างกฎหมายกลับเข้าสู่แต่ละสภาเพื่อพิจารณาความเห็น หากสภาใดไม่เห็นชอบ สามารถลงมติยับยั้งร่างกฎหมายและเสนอกลับเข้ามาใหม่ โดยเชื่อว่า สส. คงไม่เห็นด้วยการแก้ไขของ สว. โดยต้องพักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 180 วัน แล้วจึงจะเสนอเข้ามาใหม่ได้
อย่างไรก็ดีมีกำหนดการ วันที่ 6 ธันวาคม จะยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่แต่ละสภาฯ โดยหลังจากเปิดสมัยประชุมแล้ว คาดว่าวันที่ 16 ธันวาคม จะเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา และวันที่ 18 ธันวาคม จะเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ดีที่น่าสนใจก็คือ กรรมาธิการที่งดออกเสียง 3 คน นอกจากพล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ แล้วกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย ทั้ง 2 คน คือ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์เลขาธิการพรรค และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย
แน่นอนว่า เมื่อผลมติของคณะกรรมาธิการร่วมฯดังกล่าวออกมาให้ใช้วิธีแบบ “เสียงข้างมากสองชั้น” ตามความเห็นของวุฒิสภา ขณะเดียวกัน ก็ยังเชื่อว่า ฝ่าย สส.หรือสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังคงยืนแบบเดิมคือ “เสียงข้างมากชั้นเดียว” ทำให้ร่างกฎหมายนี้ต้องค้างไว้ 180 วัน เพื่อให้สภาผู้แทนฯได้ลงมติยืนยันอีกครั้ง
แต่ความหมายก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นพรรคหลักในรัฐบาล และสอดคล้องกับวุฒิสภา มีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน แต่ถึงแม้ว่าในที่สุดจะกลับลำ กลับมาหนุนแบบเสียงข้างมากชั้นเดียวก็ตาม แต่เมื่อพักไว้ 180 วัน แล้วทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้อง “รวน” ไปด้วย และเมื่อนับเวลาแล้วก็คงไม่ทันวาระของสภาฯชุดนี้ที่เหลือเวลาแค่2 ปีเศษเท่านั้น เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านการลงประชามติก่อน และนอกจากนี้ยังไม่รู้ว่าจะต้องลงประชามติสองหรือสามครั้ง เพราะต้องมีการตีความตามมาอีก มีขั้นตอนเงื่อนไขด้านเวลาบังคับมากมาย
เอาเป็นว่า เมื่อจับท่าทีของแกนนำสองพรรคหลักในรัฐบาล อย่างภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติแล้ว และจากสัญญาณการลงมติในคณะกรรมาธิการร่วมฯ จนทำให้เห็นชอบการลงประชามติสองชั้น ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เป็นไปได้ยาก อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากอารมณ์ของชาวบ้านที่เฉยเมยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่จำเป็นและเปลืองงบประมาณ เป็นแค่ความต้องการของพวกนักการเมืองเท่านั้น ซึ่งท่าทีของบางพรรคดังกล่าว มองอีกมุมมันก็เหมือนกับการจับสัญญาณจากข้างนอกเหมือนกัน !!
ที่มา : MgrOnline