ปตท.ฟันธงน้ำมันปี68เฉลี่ย70-80เหรียญ/บาร์เรล สนพ.ชี้แผนพลังงานชาติเข้าครม.ไม่ทันปลายปีนี้
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 18:59:04
• ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2568 เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน เป็น 104.2 ล้านบาร์เรล/วัน
• ปี 2568 โลกยังเผชิญความท้าทายหลายด้าน (รายละเอียดไม่ระบุในเนื้อหาที่ให้มา)
• สนพ. เผยแพร่แผนพลังงาน (รายละเอียดไม่ระบุในเนื้อหาที่ให้มา)
กลุ่ม PRISM ปตท. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกในปี 68 เฉลี่ย 70-80เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยความต้องการใช้น้ำมันโตขึ้นอีก 1.2ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ระดับ104.2ล้านบาร์เรล/วัน ชี้ปีหน้าโลกยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน สนพ.เผยแผนพลังงานชาติเลื่อนชงเข้าครม.เป็นไตรมาส1/68
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum จัดขึ้นโดยความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่ม ปตท. ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 ว่าในปี2568โลกเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) เศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนผ่านพลังงาน นโยบายของสหรัฐฯหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ รวมทั้งนโยบายสิ่งแวดล้อมระดับโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ไทยและประเทศอื่นๆทั่วโลกต้องตระหนักเพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง
ซึ่งก๊าซธรรมชาติยังมีความสำคัญต่อประเทศไทยไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีการใช้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ควบคู่กับพลังงานสะอาดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งไฮโดรเจน, ระบบการกักและเก็บคาร์บอน ( CCS) และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR)
ภายในงาน ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ได้กล่าวถึงความต้องการใช้น้ำมันในปี 2568 ว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของสงครามการค้าจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้ ในส่วนของอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม Non-OPEC+ ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล และกายอานา มีกำลังผลิตน้ำมันดิบเพิ่ม 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน และกลุ่ม OPEC+ มีแผนจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตอีก1.1ล้านบาร์เรล/วัน คาดว่าปีหน้าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2568 จะโตขึ้นเพียง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี2568อยู่ที่ 104.2ล้านบาร์เรล/วัน
ขณะเดียวกันท่ามกลางความไม่แน่นอนของความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้ง รวมไปถึงมาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านที่เข้มข้นขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบใน ปี 2568 ยังคงมีความผันผวนและเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นางรุ่งนภา จันทร์ชูเกียรติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยได้มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีการเตรียมพร้อมในการจัดหาน้ำมันดิบ รองรับสถานการณ์ความผันผวน และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อให้มีปริมาณการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มโรงกลั่นได้เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด โดยพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันต่ำ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์โลกเรื่องพลังงาน หลังเลือกตั้ง USAว่า นโยบายสหรัฐฯหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่นั้น นโยบายด้านพลังงานที่กระทบต่อไทย ได้แก่ 1. นโยบายเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่จะทำให้ต้นทุนต่ำลงที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยจะส่งผลกระทบต่อไทยในช่วงสั้นๆ ทำให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลงหรือคงที่ ทั้งในตลาดโลกและไทย
นโยบายถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี ค.ศ. 2015 จะส่งผลต่อไทยด้านบวกคือช่วยลดแรงกดดันต่อธุรกิจส่งออกไทยในระยะสั้น กับการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนด้านลบคือทิศทางของอุตสาหกรรมที่สนับสนุนด้านการใช้พลังงานสะอาด จะเกิดการชะลอตัวการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero,นโยบายชะลอการดำเนินงานของ Inflation Reduction Act สำหรับการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ใช้งบ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และการชะลอกฎหมาย Clean Competition Act ซึ่งจะส่งผลลบต่อไทยให้เกิดการชะตัวในการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทย เสียโอกาสต่อการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นายนินนาท กล่าวในเวทีเสวนา “Future Energy in Thailand” ว่าการจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP) ไม่ได้มีการระบุเรื่อง OCA ภายหลังจากการทำประชาพิจารณ์ มีข้อเสนอแนะเยอะมาก จนต้องมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan)ค่อนข้างมาก จึงต้องเลื่อนนำเสนอแผนพลังงานชาติเข้าสู่ครม.จากเดิมปลายปี2567 เป็นไม่เกินไตรมาส1/2568แทน
ความล่าช้าในการจัดทำแผนพลังงานชาตินี้จะไม่ส่งผลต่อแผนการจัดหาพลังงานหมุนเวียนแต่อย่างใด
ที่มา : MgrOnline