โครงการคลองฟูนันเตโชกัมพูชาน่าเป็นห่วง หลังทุนสนับสนุนจากจีนเริ่มไม่แน่นอน
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 19:06:20
• นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์และรับพรจากพระสงฆ์
• โครงการคลองนี้มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจกัมพูชา
• พิธีมีการจุดพลุและปล่อยลูกโป่งเพื่อเฉลิมฉลอง
เอเอฟพี - ในพิธีวางศิลาฤกษ์ที่จัดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชานั่งรับพรจากพระสงฆ์ ท่ามกลางลูกโป่งหลากสีและพลุที่จุดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเริ่มต้นสร้างคลองสายใหม่ ที่เขามุ่งหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงโชคชะตาทางเศรษฐกิจของประเทศ
ฮุน มาเนต กล่าวปราศรัยต่อประชาชนหลายร้อยคนที่โบกธงชาติกัมพูชาว่า จีนจะสนับสนุนทุน 49% สำหรับการสร้างคลองฟูนันเตโช ที่จะเชื่อมแม่น้ำโขงกับอ่าวไทย และลดการพึ่งพาเวียดนามในการขนส่งทางน้ำของประเทศ
รัฐบาลกัมพูชาประเมินว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์นี้จะมีค่าใช้จ่ายราว 1,700 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำปีของกัมพูชา
แต่หลายเดือนต่อมา การสนับสนุนทางการเงินของจีนยังคงเป็นน่ากังขา
บุคคล 4 คน ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนการการลงทุนหรือได้รับข้อมูลสรุปเกี่ยวกับแผนดังกล่าวเผยกับรอยเตอร์ว่า ปักกิ่งแสดงความไม่มั่นใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และยังไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงินทุน
“เป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่บริษัทจีนจะช่วยเหลือกัมพูชาในการสำรวจการก่อสร้างโครงการอนุรักษ์น้ำอย่างครอบคลุมตามหลักการตลาด” กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุในคำแถลงทางอีเมลที่ส่งถึงรอยเตอร์ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับคลองดังกล่าว
กระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้ตอบคำถามโดยตรงเกี่ยวกับเงินทุน แต่ระบุว่าสองประเทศเป็นมิตรประเทศที่แน่นแฟ้น
รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเงินทุนของคลอง
ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ และนักการทูต ระบุว่าการที่จีนไม่แสดงคำมั่นสัญญาอย่างชัดเจนอาจส่งกระทบต่อแผนทั้งหมด นำมาซึ่งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของโครงการ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสถานะทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงวิธีการที่ปักกิ่งลดขนาดการลงทุนในต่างประเทศอย่างมาก ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศก็กำลังดิ้นรน แม้แต่ในประเทศที่จีนถือว่าเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเช่นกัมพูชา
จากที่เคยเป็นตัวอย่างของการสร้างชาติโดยได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกหลังอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองอันยาวนานซึ่งเกิดขึ้นหลังการล่มสลายของเขมรแดง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักการทูตและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศมองว่ากัมพูชาเป็นรัฐบริวารของจีน โดยเป็นหนี้ปักกิ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
แต่การลงทุนของจีนในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานไม่ประสบความสำเร็จหลายโครงการ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรที่มุ่งเป้าพลเมืองจีน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
คลองยาว 180 กิโลเมตรสายนี้ จะขยายเส้นทางน้ำที่มีอยู่เดิมอย่างมากและผันน้ำจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เป็นแหล่งปลูกข้าวไปยังอ่าวไทย ทำให้การขนส่งของกัมพูชาผ่านท่าเรือเวียดนามลดลง
หลายเดือนหลังจากรัฐบาลกัมพูชาลงนามในข้อตกลงกรอบการลงทุนในเดือน ต.ค.2566 กับ China Road and Bridge Corporation (CRBC) บริษัทก่อสร้างของรัฐ เจ้าหน้าที่กัมพูชาได้เปิดเผยต่อสาธารณะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเงินของจีน
ในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในเดือน พ.ค. สุ่น จันทอล รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า CRBC จะพัฒนาคลองและดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยให้สัมปทานเป็นเวลาหลายสิบปีเป็นการตอบแทน
แต่ในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อเดือน ส.ค. นายกรัฐมนตรีกัมพูชาระบุว่า CRBC ถือหุ้นในโครงการ 49% ส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทกัมพูชา
ในวันเดียวกัน ฮุนเซน อดีตผู้นำกัมพูชาที่ครองอำนาจมานานหลายสิบปีได้โพสต์คำแถลงบนเฟซบุ๊กเรียกร้องให้ญี่ปุ่นลงทุนในคลองดังกล่าว
ขณะที่สำนักข่าวซินหัวของจีนไม่ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของจีนในรายงานเกี่ยวกับการวางศิลาฤกษ์โครงการคลองของกัมพูชา
ไม่กี่วันต่อมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารของสุ่น จันทอล กล่าวกับรอยเตอร์ว่ากรรมสิทธิ์ในคลองที่พัฒนาร่วมกับ CRBC นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างของกัมพูชาที่ว่า CRBC จะถือหุ้น 49% เจ้าหน้าที่ของบริษัทกล่าวกับรอยเตอร์ในกลางเดือน ต.ค.ว่า ตัวเลขที่เผยแพร่ต่อสาธารณะยังไม่มีความชัดเจน และระบุว่า “มีความซับซ้อนมาก” โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
CRBC และบริษัทแม่ของ CRBC ไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์
บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงในแผนการลงทุนกล่าวกับรอยเตอร์ในต้นเดือน พ.ย.ว่า ขณะนี้ยังไม่มีเงินของจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งได้ยืนยันเรื่องนี้เช่นกัน
แหล่งข่าวจากหนึ่งในนักลงทุนกัมพูชาในโครงการกล่าวว่า ไม่น่าแปลกใจถ้าจีนจะไม่ลงทุนในคลองดังกล่าวเลย
เจ้าหน้าที่รายที่ 4 ที่ได้ข้อมูลสรุปในเรื่องนี้กล่าวว่าเมื่อต้นปี จีนได้วิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่กัมพูชาที่ประกาศว่าจีนให้ทุนสนับสนุนโครงการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ
แหล่งข่าวทั้งหมดปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อเนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว
นักข่าวของรอยเตอร์รายงานว่าหลังจากพิธีวางศิลาฤกษ์ผ่านไปกว่า 3 เดือน สถานที่จัดงานริมฝั่งแม่น้ำโขงก็ถูกทิ้งร้าง
การลังเลใจเกี่ยวกับคลองดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างเป็นทางการของจีนต่อกัมพูชา รวมถึงเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานกำลังลดลง
คาดว่าการเบิกจ่ายของจีนให้กัมพูชาจะลดลงเหลือ 35 ล้านดอลลาร์ในปี 2569 จากมากกว่า 420 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 และยังไม่มีเงินกู้ก้อนใหม่จากจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งลดลงจาก 567 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 และ 302 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน ตามข้อมูลทางการของกัมพูชา
“เงินทุนจากจีนสำหรับโครงการในต่างประเทศก็ลดลงเช่นกันในที่อื่นๆ แต่ในกัมพูชาผลกระทบอาจชัดเจนมาก” เกรซ สแตนโฮป จาก Lowy Institute ในออสเตรเลีย ระบุ
จีนยังคงสร้างถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ แต่ได้ถอนตัวออกจากโครงการสนามบินพนมเปญแห่งใหม่ ที่จีนตกลงในตอนแรกที่ 1,100 ล้านดอลลาร์
การถอนตัวดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ทางด่วนที่สร้างโดย CRBC เชื่อมกรุงพนมเปญกับเมืองชายฝั่งสีหนุวิลล์ ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากผู้ขับขี่รถยนต์และรถบรรทุกที่เลี่ยงค่าผ่านทาง จึงเลือกใช้ถนนสายเก่าที่แออัดแต่ฟรี ตามการสังเกตของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ และยืนยันโดยเจ้าหน้าที่ในกัมพูชาหลายคน
“สนามบินอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นานที่เสียมราฐก็เงียบมาก” อู วิรัค หัวหน้าสถาบันคลังสมองกัมพูชา Future Forum กล่าว พร้อมระบุว่านักลงทุนอาจเผชิญกับการขาดทุน
การลงทุนภาคเอกชนของจีนยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านทางการเงินและนักการทูตหลายคนในพนมเปญระบุว่า เงินทุนอย่างไม่เป็นทางการของจีนที่ไหลเข้าเป็นจำนวนมากไปยังอุตสาหกรรมการพนันและภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นก็เหือดแห้งลงเช่นกัน
การท่องเที่ยวของจีน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของกัมพูชา ยังคงดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการณรงค์ของจีนที่เตือนนักท่องเที่ยวถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลอกลวงทางออนไลน์ในกัมพูชา
ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและกัมพูชาพัฒนาขึ้น แต่ชะตากรรมและความยั่งยืนของโครงการคลองยังคงไม่แน่นอน
“เนื่องจากมีสิ่งที่ไม่แน่นอนมากมายหลายประการ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจะลังเลกับโครงการนี้” ไบรอัน อายเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคแม่น้ำโขงจาก Stimson Center ในสหรัฐฯ ระบุ.
ที่มา : MgrOnline