“ไอติม” อ้างได้คำตอบศาล รธน.ชัด ประชามติแก้ รธน. 2 ครั้ง โดนแช่ก็ไร้ปัญหา ปัดตอบตีความเป็น กม.การเงิน

เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 16:33:58
X
• นายพริษฐ์ เตรียมหารือประธานสภาฯ เพื่อทบทวนเรื่องดังกล่าว
• นายพริษฐ์ ปฏิเสธตอบคำถามกรณี นายชูศักดิ์ เสนอตีความ พ.ร.บ.ประชามติ ว่าเป็นกฎหมายการเงิน ต้องอยู่ในกรอบ 180 วัน
• นายพริษฐ์ มั่นใจว่าหากยึดโรดแมปทำประชามติ 2 ครั้ง แม้กฎหมายจะถูกแช่แข็ง ก็ยังไม่เกิดปัญหา

“พริษฐ์” อ้างหารือ ปธ.ศาล รธน.ได้คำตอบชัด ทำประชามติแก้ รธน. 2 ครั้ง เล็งหารือ ปธ.สภา หวังทบทวน ปัดตอบปม “ชูศักดิ์” เสนอตีความ พ.ร.บ.ประชามติ เป็น กม.การเงิน หนีกรอบ 180 วัน มั่นใจถ้ายึดโรดแมปทำประชามติ 2 ครั้ง แม้ กม.โดนแช่ก็ไร้ปัญหา

วันนี้ (21 พ.ย.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ความเห็นที่ออกมาจึงไม่ใช่ความเห็นที่เป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ได้พบกับตุลาการทั้งคณะ แต่พบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้เข้าร่วมประชุม สิ่งที่พูดคุยกัน จึงเป็นความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ไม่ใช่ความเห็นของทั้งองค์คณะ โดยจากการหารือเราได้มีการทบทวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งระบุไว้ชัดในย่อหน้าสุดท้าย ที่มีการพูดถึงประชามติ 2 ครั้ง คือ 1 ครั้งก่อนและ 1 ครั้งหลัง ซึ่งการหารือกันของความหมายดังกล่าวก็ไม่ได้มีการแสดงความเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง

ส่วนการทำประชามติทั้งก่อน และหน้าหลัง ขั้นตอนจะเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่ทางรัฐสภาต้องตัดสินใจร่วมกัน แต่ข้อเสนอที่พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย เคยพูดมาก่อนหน้านี้ คือ ให้ทำประชามติ 2 ครั้ง โดยใช้วิธีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป หากผ่าน 3 วาระ ของรัฐสภาแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติครั้งแรก เพื่อถามว่าประชาชนเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ ก่อนจะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจึงทำประชามติครั้งที่ 2 เพื่อถามว่าประชาชนจะเห็นชอบกับเนื้อหาที่ถูกจัดทำมาในฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งจากการหารือ ดูแล้วเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ดังนั้น ก็จะนำแนวทางนี้ไปหารือกันประธานรัฐสภาในวันพุธหน้า (27 พ.ย.) โดยหวังว่า ประธานรัฐสภาจะได้มีการทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเพิ่มหมวด 15/1 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้มีการพิจารณามุมมองต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และถ้าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากทางรัฐสภามาได้ ก็จะมีการจัดทำประชามติหลังจากที่ผ่านวาระที่ 3

เมื่อถามว่า ผลการหารือในครั้งนี้ทำให้มั่นใจมากขึ้นหรือไม่ ว่า หากมีผู้นำเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การวินิจฉัยก็จะเป็นคุณมากกว่าโทษ นายพริษฐ์ กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าการหารือไม่มีใครแสดงความคิดเห็น ว่าจำเป็นต้องทำประชามติ 3 ครั้ง คำวินิจฉัยที่ 4/2564 ก็พูดถึงการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง แต่ 2 ครั้งจะเกิดขึ้นตอนไหน อย่างที่บอกว่าพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย เสนอไปก็สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าผลของการหารือดังกล่าวจะนำไปสู่การพูดคุยกับทางสภาให้ทบทวนและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คิดว่าทางรัฐสภาก็จะเดินหน้าพิจารณาได้ แต่แน่นอนว่า เป็นสิทธิบางกลุ่มอาจจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งถ้ายื่น เราจะไปคาดการณ์คำวินิจฉัยที่จะออกมาคงไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าผลที่ออกมาจะยืนยันว่าสิ่งที่เราเสนอนั้นไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564

เมื่อถามว่า นอกจากเรื่องดังกล่าวได้มีการหาถึงเรื่องอื่นๆ ที่ยังติดใจอยู่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่หารือเป็นหลัก คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 และคิดว่า การที่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการที่จะทำให้เราสามารถจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทำต่อการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ส่วนจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่สภาจะเสนอให้มีการตีความว่ากฎหมายประชามติเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรอ 180 วัน ตามที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องไปดูในรายละเอียดตนยังไม่ทราบรายละเอียดที่นายชูศักดิ์เสนอ จึงขอไม่ให้ความเห็น แต่ถ้ามีการเสนอพรรคประชาชน ในฐานะพรรคการเมืองในสภาก็ต้องมีความเห็นในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ในภาพรวมขณะนี้หลายคนก็กังวลใจว่า เมื่อข้อสรุปของกรรมาธิการร่วมเห็นชอบร่างของ สว. เมื่อส่งกลับมาที่ สส. สภาผู้แทนฯ อาจยืนยันในหลักการเดิม คือ ใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้น ถ้าหากเป็นเช่นนั้นร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะต้องถูกชะลอไป 180 วัน ซึ่งถ้าจะยึดตามแผนเดิมให้มีประชามติ 3 ครั้ง และจะไม่จัดครั้งแรก จนกว่า พ.ร.บ.ประชามติจะแก้ไขเสร็จสิ้น ก็จะกระทบต่อกรอบเวลาแน่นอน แต่ถ้าผลสรุปที่ได้จากวันนี้สามารถทำให้เราโน้มน้าวทุกฝ่าย หันมาใช้โรดแมป ในการทำประชามติ 2 ครั้ง คิดว่า แม้ พ.ร.บ.ประชามติจะล่าช้า จะไม่กระทบต่อไทม์ไลน์ดังกล่าว เพราะถ้าเราทำประชามติ 2 ครั้ง ขั้นตอนแรกไม่ใช่เป็นการจัดทำประชามติเลย แต่เป็นการให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ส.ร. และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน 3 วาระ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในระดับหนึ่ง หากเราดำเนินการตามขั้นตอนแบบนี้ 6 เดือน ที่ชะลอไปก็คงจะไม่กระทบไทม์ไลน์ตรงนี้ พูดง่ายๆ คือ ถ้าเราไม่อยากให้ความล่าช้าของพ.ร.บ.ประชามติเป็นปัญหา ก็หันมาใช้กลไกหรือโรดแมปประชามติ 2 ครั้ง ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี

ที่มา : MgrOnline