"ไอติม" หวังศาลรธน.ตอบทำประชามติแก้รธน. 2 ครั้ง ปลดล็อคมีฉบับใหม่ก่อนเลือกตั้ง ปัดมาบีบปม "แม้ว"
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 14:33:54
• ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้ง
• ยืนยันไม่ได้กดดันศาลรัฐธรรมนูญก่อนการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องกรณี ทักษิณ
"พริษฐ์" หวังศาลรัฐธรรมนูญให้คำตอบทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง ปลดล็อคกระบวนการ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนเลือกตั้ง ลั่นไม่ได้มากดดันก่อนศาลถกรับไม่รับคำร้องปม "ทักษิณ"
วันนี้ (21พ.ย.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง การมีส่วนร่วมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ เข้าหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้สัมภาษณ์ก่อนการหารือว่าวันนี้มาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเป็นวาระที่รัฐบาลเสนอและพรรคฝ่ายค้านก็เห็นชอบด้วย ซึ่งรัฐบาลประกาศจะใช้กระบวนการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง โดยจะทำประชามติครั้งแรกหลังจากที่มีการจัดทำพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติแล้วเสร็จ ส่วนตัวเห็นว่าหากใช้แนวทางดังกล่าวโอกาสที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบันการแก้ไขกฎหมายประชามติก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
ขณะที่คณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาลงมติเห็นชอบตามร่างของวุฒิสภาที่ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น และสภาผู้แทนราษฎรยืนยันหลักเกณฑ์เดิมใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 1 ชั้น จึงทำให้กระบวนการดังกล่าวต้องขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน หากจะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จทันก่อนการเลือกตั้งนั้นหนทางเดียวจะต้องลดจำนวนการจัดทำประชามติให้เหลือ 2 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการถกเถียงถึงจำนวนครั้งในการจัดทำประชามติ เนื่องจากตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ไม่เหมือนกัน โดยอดีตพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเห็นว่าจะทำประชามติ 2 ครั้งแต่มีบางฝ่ายรวมถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง วันนี้จึงเข้าหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้จัดทำประชามติกี่ครั้ง หวังว่าการหารือจะได้ความชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง จาก 3 เหตุผลคือ 1 จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ไม่ได้มีระบุว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้ง แต่ระบุให้ต้องทำประชามติ 1 ครั้งก่อน และ 1 ครั้งหลัง ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าการทำประชามติก่อนนั้นคือก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสสร.เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ขณะที่มุมมองของพรรคประชาชนเห็นว่าในคำวินิจฉัยกลางพูดถึงการทำประชามติ 2 ครั้ง
นายพริษฐ์ ยังระบุว่าจากคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน จะเห็นว่าตุลาการเสียงข้างมากได้ระบุไว้ชัดในคำวินิจฉัยส่วนตนสามารถตีความได้ว่าจำเป็นต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง และจากข้อมูล infographic โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าขั้นตอนที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่มีการจัดทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ดังนั้นจึงหวังว่าการมาหารือในวันนี้จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการจัดทำประชามติตามกรอบของกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแค่ 2 ครั้ง หากได้ข้อสรุปดังกล่าวเป็นเรื่องง่ายที่จะโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายมายืนอยู่ร่วมกัน และหลังจากนี้เมื่อได้รับข้อสรุปที่ชัดเจนว่าต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ก็จะทำให้ประธานรัฐสภาเกิดความสบายใจและทบทวนการออกแบบ ก่อนหน้านี้ และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของอดีตพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้เคยยื่นก่อนหน้านี้ และริเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งได้นัดหมายเข้าพบในวันที่ 27 พ.ย. และจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อพยายามหารือกับพรรคในซีกรัฐบาล หากเห็นตรงกันว่าจะต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 ครั้งโอกาสที่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก็มีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างไร
นายพริษฐ์ ยังเห็นว่าหากได้รับความชัดเจนว่าจะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งทั่วไป และหากการตีความของอดีตพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะทำให้ประธานรัฐสภาทบทวนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในวาระที่ 1 ไปจนถึงวาระที่ 3 เมื่อผ่านเสร็จก็จะต้องทำประชามติครั้งแรกสอบถามว่าประชาชนเห็นชอบกับการมี สสร.หรือไม่ หากเห็นชอบก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งสสร.โดยจะมีเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนที่จะนำไปทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนครั้งที่ 2 ก็จะทำให้มีความหวังมากขึ้นว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งทั่วไป
เมื่อถามว่าการมาวันนี้จะถูกมองเป็นนัยยะเมืองว่ามากดดันศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เนื่องจากพรุ่งนี้จะมีการพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องกรณีนายทักษิณชินวัตรและพรรคเพื่อไทยใช้สิทธิเป็นการล้มล้างการปกครอง นายพริษฐ์ ระบุว่าเรื่องนี้ถูกกำหนดมานานแล้วไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยพรรคประชาชนเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คืออาจจะมีการกระทำบางอย่างที่เกี่ยวข้องตามข้อกล่าวหา พรรคฝ่ายค้านอยู่ระหว่างตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องคำถามเกี่ยวกับกรณีนายทักษิณหรือการจับตามองเรื่อง MOU 2544 ซึ่งในมุมมองของพรรคประชาชนมองว่าเหตุผลดังกล่าวไม่ควรนำไปสู่เหตุผลของการยุบพรรค ซึ่งเราแสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค พร้อมเชิญชวนทุกพรรคการเมืองรวมถึงสมาชิกวุฒิสภามาร่วมแก้ไขกฎหมายโดยเฉพาะพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทำให้การยุบพรรคไม่เกิดขึ้นในอนาคต
"เราในฐานะพรรคประชาชน และแกนนำฝ่ายค้านเห็นว่ามีบางการกระทำของรัฐบาล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่สมควรถูกตรวจสอบ แต่เราไม่เห็นด้วยกับวิธีการในการนำเรื่องดังกล่าวมาใช้เป็นเหตุยื่นยุบพรรคเพื่อไทย เราคิดว่าถ้ามีการตรวจสอบ ผ่านกลไกทางสภาแล้วมีการกระทำอะไรที่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบหรือเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมท้ายสุดแล้วรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบผ่านผลการเลือกตั้ง"
ที่มา : MgrOnline