เครดิตบูโรฉายภาพหนี้ครัวเรือน Q3/67 NPL ยังเร่งขึ้น ห่วงหนี้เสีย SME พุ่งแรง
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 12:11:22
• NPL (หนี้เสีย) ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปี 2567 สะท้อนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่น่ากังวล
• หนี้เสียของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
• เครดิตบูโรแสดงความกังวลต่อแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม SME
• ข้อมูลนี้สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2567 ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านหนี้สิน
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) หรือ NCB โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงรายงานภาระหนี้สินภาคครัวเรือน จากสถาบันการเงิน 157 แห่งที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ครอบคลุมประชาชนคนไทยและผู้มีถิ่นฐานในประเทศไทยที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินสมาชิก ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมประมาณกว่า 30 ล้านคน จากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ดังนี้
หนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโร อยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท (หนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด 16.3 ล้านล้านบาท) อัตราการเติบโต 0.5% yoy ถ้าเป็น QoQ จะ -0.2% สรุปคือสินเชื่อไม่โต เศรษฐกิจในไตรมาส 3 เติบโต 3% ในช่วง 9 เดือน โต 2.3% สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก -4.6% yoy สินเชื่อเบิกเกินบัญชี -4.5% yoy
ระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.8% ของหนี้รวม 13.6 ล้านล้านบาท โดยหนี้เสียเพิ่มขึ้นจาก 7.7% ในไตรมาส 4 ปี 66 มาสู่ 8.8% ในไตรมาส 3 ปีนี้
"วันก่อน IMF แวะมาคุยที่สำนักงาน ก็พยักหน้ากับผลกระทบหลังโควิด และยิ้มอ่อน เมื่อถามถึงตัวเลขความสำเร็จของการแก้หนี้แบบครบวงจร ตลอดเส้นทางการเป็นหนี้ โดยเฉพาะแก้หนี้เรื้อรัง ว่ามีจำนวนกี่บัญชีที่เข้ามาตรการแก้ไขปิดจบ หรือมาตรการ debt consolidation ว่ามียอดทำได้เท่าใด" นายสุรพล ระบุ
ทั้งนี้ NPLs ไตรมาส 3/67 ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทนั้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.1% และเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งพบว่า NPLs สินเชื่อบ้าน รถยนต์ เครดิตการ์ด และสินเชื่อส่วนบุคคลยังนิ่งๆ หรือโตไม่มากจากไตรมาสก่อน แต่ที่กังวลมาก คือ สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก หรือ SME ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 20% และเพิ่มขึ้น 5.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งนี่คือประเด็นที่สำคัญมาก
ส่วนหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) มียอดคงค้างของไตรมาส 3/67 อยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ลดลงทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเบาใจขึ้นได้บ้าง
สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสีย (TDR) ซึ่งตัวเลขสะสมอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.6% ของ 13.6 ล้านล้านบาท ติดลบจากไตรมาสก่อนประมาณ 3% ซึ่งไม่ค่อยดีเพราะมันอืด ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนเป็นหนี้เสีย (DR) มียอดสะสมตั้งแต่ เม.ย.67 มาหยุดที่ 1.2 ล้านบัญชี คิดเป็น 6.45 แสนล้านบาท
"ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหลายท่านจะได้นำไปประกอบการพิจารณากับมาตรการแก้หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้ SMEs ที่กำลังจะประกาศความชัดเจนในเร็ววัน" นายสุรพล กล่าว
ที่มา : MgrOnline