“ชูศักดิ์” ลั่น สส.ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แม้ที่ประชุมร่วม สส.- สว.เห็นต่าง เตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 12:10:18
“ซูศักดิ์” ชี้ แม้ สส.- สว. เห็นต่างปมทำประชามติ 2 ชั้น แต่สุดท้าย สส.จะยืนตามมติเดิม ก่อนนำทูลเกล้าฯ พร้อมเปิดประเด็น รธน.ให้กฎหมายการเงินไม่ต้องรอ 180 วัน เพื่อปลดล็อกการทำประชามติ ย้ำ ถ้าออกกฎหมายไม่ทันจริง อย่างน้อยขอให้เลือก ส.ส.ร.มายกร่างฯ ก่อน
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (21 พ.ย.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข คือ การทำประชามติ 2 ชั้น ว่า จากนี้เนื่องจะนำสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาจะมีมติอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่ในแนวโน้มก็คงเห็นชอบตามกรรมาธิการร่วม ขณะที่เดิมสภาผู้แทนราษฎรก็มีมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา ไม่มีคัดค้านอะไรเลย ซึ่งตนคาดว่า สภาผู้แทนราษฎรก็คงเอาตามความเห็นเดิม คือ ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วม โดยให้ใช้มติของสภาผู้แทนราษฎร ก็แปลว่ากฎหมายนี้ต้องถูกยับยั้งไว้รอไว้ 180 วัน แล้วหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ ถ้าว่าสภาผู้แทนราษฎรยืนตามความเห็นเดิม เอาเสียงข้างมากธรรมดา (รัฐธรรมนูญได้ระบุให้ถือสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก) ถ้าเป็นแบบนี้ก็สามารถนำเอาร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเคยมีมติไว้ ขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้เลย เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ถ้ารอไว้ 180 วัน สื่อก็คงจะถามต่อไปว่า ท้ายที่สุดจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันหรือไม่ คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับว่าถ้าทำประชามติ 3 ครั้ง ไม่ทันแน่ เพราะรัฐบาลเหลือระยะเวลา 2 ปีเศษ แต่ถ้าความเห็นเป็นอย่างอื่น ถ้าย่อการทำประชามติมาเหลือ 2 ครั้งก็อาจจะทัน แต่ 2 ครั้งนี้พูดง่ายๆก็คือ ความเห็นของพรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะฝ่ายสภาที่เป็นฝ่ายประจำ ที่เสนอเสนอแนะต่อประธานสภาฯ ว่าต้องมีการทำประชามติครั้งแรกก่อน โดยยังไม่มีร่าง เท่ากับว่าทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งตนและทีมงานก็อยากจะขอพูดคุยเรื่องนี้กับคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง และสภา ซึ่งถ้าสามารถทำได้ประชามติ 2 ครั้ง ก็อาจจะทัน
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตรงนี้ยังไม่เคยเปิดประเด็นขึ้นมา โดยมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่นิดหนึ่ง ถ้าใครไปดูรัฐธรรมนูญละเอียด จะมีมาตรา 137 วรรคท้าย บอกไว้ว่าถ้าเป็นกฎหมายการเงิน ระยะเวลา 180 วัน ให้ลดลงเหลือ 10 วัน ซึ่งกฎหมายการเงินก็คือต้องใช้งบประมาณ ตนก็มองว่า กฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ฝากไว้ให้คิด แล้วก็เสนอรัฐบาลว่าไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน เพราะมาตรา 137 วรรคท้ายบอกว่าลดลงเหลือ 10 วัน แต่นี่ก็เป็นความเห็นเท่าที่ตนอ่านรัฐธรรมนูญ แต่ก็คงต้องหารือในวิปอีกที
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะหารือกับพรรคร่วมอีกครั้งหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วเรื่องก็ต้องเข้าวิป วิปก็ต้องหารือกันว่าจะลงมติอย่างไร ยืนตามเดิมหรือไม่ ซึ่งตนก็เข้าใจว่ายืนตามเดิม แต่เงื่อนไข 180 วัน อาจไม่ต้องใช้ก็ได้
เมื่อถามว่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไรที่ลดลงมาเหลือ 10 วัน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็จะทำประชามติได้ทัน ซึ่งเคยคิดกันมาในอดีตว่าถ้ามันไม่ทันจริงๆ อย่างเช่นต้องใช้ 180 วัน จะทำอย่างไร ความคิดของพวกเรามองว่ก็ต้องดันไป อย่างน้อยถ้าถ้าไม่ทันจริงๆก็ขอให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมา เพื่อยกร่างฉบับใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย เพราะนี่คือนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ตนได้บอกกับ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาลแล้วว่า มีข้อกฎหมายตรงนี้ ลองดูแล้วกัน
เมื่อถามว่า ประเด็นนี้แกนนำพรรคร่วมควรหารือหรือไม่ โดยเฉพาะการให้นายกฯ ส่งสัญญาณไปยังหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็คงต้องผ่านวิปก่อน วิปก็คงหารือกับแกนนำรัฐบาลอีกที
ส่วนจะมีโอกาสจะหารือกับฝ่ายค้านหรือไม่ นายชูศักดิ์ บอกว่า จริงๆ ฝ่ายค้านก็มีความตั้งใจอยู่แล้ว อะไรที่มันเป็นไปได้ก็เชื่อว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือ เท่าที่ทำงานกันมาก็เห็นความตั้งใจของฝ่ายค้านที่จะทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝั่งรัฐบาลก็มีความตั้งใจ และเขียนเป็นนโยบายไว้ว่า จะเร่งรัดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็ว
เมื่อถามว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาการเมืองหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวติดตลกว่า “ผมไม่อยากทะเลาะกับใคร”
ที่มา : MgrOnline