“เปิด 6 ทักษะสีเขียว” ที่องค์กรยุคคาร์บอนต่ำต้องการ
เผยแพร่ : 21 พ.ย. 2567 09:28:00
• สภาวะโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
• การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ
• ทักษะสีเขียว (Green Skills) เป็นส่วนสำคัญของแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance)
• การพัฒนาทักษะสีเขียวจำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
สภาวะโลกเดือด ความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ครองบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ‘ทักษะสีเขียว’ หรือ Green Skills หนึ่งในกระบวนการสู่แนวทาง ESG ถูกนำมาใช้กับองค์กรยุคใหม่ที่เปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะธุรกิจ SME ยิ่งจำเป็นมาก หากต้องการอยู่รอดต่อยาวๆ
ปัจจุบันโลกอยู่ในเส้นทางเข้าสู่สภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ที่มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น การให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) จึงมีแนวโน้มที่จะเข้มข้นขึ้น
โดยเฉพาะเทรนด์เรื่องการกำหนด ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs 17 เป้าหมาย ที่ต้องการจะบรรลุภายในปี 2030 และในภาคธุรกิจเองก็มีเทรนด์เรื่อง ESG ที่มีแนวคิดว่าการทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)
ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญอันดับแรกที่ทำให้องค์การหรือบริษัทชั้นนำหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย หันมาใส่ใจกับการปฏิบัติงานสีเขียวและการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการลงทุนฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานของตนเองให้มีความรู้และทักษะสีเขียวเพื่อนำมาปรับเปลี่ยนองค์กรสู่แนวทาง ESG มากขึ้น
ชวนไปดูกันว่า “ทักษะสีเขียว” ที่เป็นกุญแจสำคัญในการนำทางไปสู่การเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้อีกทางหนึ่งนั้น มีอะไรบ้าง
จากการศึกษาของบริษัทลิงค์อิน (LinkedIn) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจ้างงานและหางานระดับโลก พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีงานที่ต้องใช้ ทักษะสีเขียว เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตของจำนวนแรงงานสีเขียวซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ต่อปี
โดยทักษะสีเขียวที่มักนำมาใช้จะเป็นงานด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น ช่างเทคนิคด้านกังหันลม และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะที่ทักษะสีเขียวที่จำเป็นมากขึ้น มักเป็นงานด้านความยั่งยืน เช่น ผู้จัดการด้านความยั่งยืน
ในทางตรงข้าม “ธุรกิจสีน้ำตาล” หรือธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล ธุรกิจรถยนต์สันดาป ธุรกิจเกษตรแบบเดิมที่ใช้สารเคมีสูงและทรัพยากรธรรมชาติมาก จะหดตัวลงและทำให้งานบางส่วนหายไป โดยแรงงานที่น่าจะได้รับผลกระทบสูงหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงมักเป็นแรงงานที่มีทักษะและระดับการศึกษาไม่สูงนัก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 8 ล้านคนในประเทศไทย
ทั้งนี้ แนวโน้มในอนาคต ทุกสายงานคงต้องมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การเตรียมทักษะบุคลากรให้พร้อม โดยบริษัทสามารถลงทุนกับการปรับและเพิ่มทักษะของแรงงานและบุคลากร ซึ่งทักษะสำหรับงานในอนาคตนอกจากทักษะด้านเทคโนโลยีและข้อมูลแล้ว เช่น การมีความรู้ด้าน Big Data ปัญญาประดิษฐ์ และ Cloud computing เป็นต้น รวมไปถึงการมีทักษะสีเขียวที่องค์กรต้องสรรหามาเพื่อเปลี่ยนผ่าน (transition) สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น ทักษะการออกแบบระบบพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการทำแบบจำลองพลังงาน ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SME ไม่น้อยขาดองค์ความรู้เรื่องทักษะสีเขียวทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
ดังนั้น องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องเร่งสร้างทักษะที่สำคัญให้แก่บุคลากร ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme – UNEP) ได้สรุป 6 ทักษะสีเขียว ข้อสำคัญที่นอกเหนือจากทักษะด้านเทคโนโลยี ดังนี้
1.ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เพราะเศรษฐกิจในอนาคตจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงาน บุคลากรที่มีทักษะทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นักชีววิทยา นักอุทกวิทยา และนักชีวเคมี เนื่องจากว่าบุคลากรในวงการนี้จะเข้ามาทำหน้าที่ติดตาม จัดการ และปกป้องทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อม อาทิ ที่ดิน และแหล่งน้ำ
2.ทักษะการวางแผนและสถาปัตยกรรม ช่วยตอบโจทย์เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและอาคารที่จะต้องมีโครงสร้างและคุณสมบัติที่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับกฎระเบียบทางสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารสีเขียว
3.ทักษะด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมสีเขียว เพื่อออกแบบและรักษาพลังงานสะอาด อาทิ แผงโซลาเซลล์ กังหันลม ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว
4.ทักษะด้านเกษตรกรรม สำหรับเรื่องอาหารยังคงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ แต่จะต้องเป็นการทำการเกษตรและแหล่งอาหารที่ยั่งยืน โดยสามารถใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำเกษตรได้
5.ทักษะความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าสายอาชีพที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ต้องการแรงงาน และบุคลาการที่สามารถทำงานอย่างเข้าใจจุดร่วมและความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักรู้ถึงประเด็นทางสังคม กฎหมาย และประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้มนุษย์ทำผิดซ้ำรอยเดิมที่อาจจะเป็นการผลิตซ้ำความไม่ยุติธรรมทางเชื้อชาติ สังคม หรือส่งผลลบต่อสุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
6.ทักษะการคิดและมองอย่างเป็นระบบ ในภาพรวม เนื่องจากงานสีเขียวต้องการแรงงานและบุคลาการที่สามารถออกแบบ ดำเนินการ และติดตามระบบที่หลากหลาย เช่นการประเมินระบบต่าง ๆ กับตัวชี้วัดประเมินผลการดำเนินการ โดยสามารถหาวิธีการที่จะปรับปรุงการดำเนินการทั้งหมดได้ ทักษะที่ควรมีคือทักษะในเศรษฐศาสตร์มหภาคเพื่อที่จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้ในโครงการระยะยาว
นอกจากนี้ ควรมีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะสีเขียวที่สำคัญ เช่น ทักษะการจัดการและพัฒนากลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทักษะเกี่ยวกับพลังงาน การหมุนเวียนทรัพยากรและการลดคาร์บอน รวมถึงการประเมินโครงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ทักษะด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางสีเขียว รวมถึงการจัดการและบำรุงรักษารถไฟฟ้า และทักษะการเงินเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการวิเคราะห์และรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability)
ทั้งนี้ ‘ทักษะสีเขียว’ อาจพัฒนาและต่อยอดไปสู่ ‘ธุรกิจสีเขียว’ ที่เป็นธุรกิจใหม่หรือขยายตัวขึ้น ซึ่งนำมาสู่การสร้างงานใหม่ เช่น ธุรกิจจัดการของเสียและรีไซเคิล ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจสร้างและปรับปรุงบ้านและอาคารประหยัดพลังงาน ธุรกิจการลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจบริหารจัดการและการเงินสีเขียว หรือธุรกิจบริการด้านที่ปรึกษาสีเขียว
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ท็อปส์-แลบ คอนซัลแตนท์ จำกัด (TLC) ธุรกิจบริการด้านที่ปรึกษาสีเขียว หรือ Green Consulting Service มีบทบาทสำคัญที่ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ดำเนินกิจกรรมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของข้อปฏิบัติตามกฎหมาย การพิจารณาความเสี่ยงด้านการลงทุน มิติด้านสังคม สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ทุกสถานประกอบการปรับเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) เมกะเทรนด์ของการค้าและอุตสาหกรรมยุคใหม่
ดังนั้น องค์กรหรือบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ควรหันมาให้ความสำคัญกับทักษะสีเขียว เพื่อปรับตัวดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ดูอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่มีโอกาสเป็นไปได้ หากมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่อาจจะวัดเป็นตัวเงินในระยะสั้นได้ยาก และทำให้โอกาสของการมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero และการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทยเป็นไปได้มากขึ้น
ที่สำคัญส่งผลดีกับองค์กรหรือบริษัทโดยตรง เพราะเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที ซึ่งส่งผลต่อรายได้และชื่อเสียงที่จะดีขึ้นในระยะยาวด้วย
เทรนด์ทักษะสีเขียว-งานสีเขียว โลกต้องการมาก
คนทำงานที่มี Green Skills หรือ ทักษะสีเขียว และคนที่ทำงานในกลุ่ม Green Jobs หรือ กลุ่มงานสีเขียว มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า Green Jobs หรือกลุ่มงานสีเขียว เข้ามาช่วยตอบโจทย์ธุรกิจและโลกเพื่อการอยู่รอดและยั่งยืนต่อไป
ขณะที่ รายงานของ ECMC Group พบว่า Gen Z 40% ในอเมริกา แสดงความกังวลต่อสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งโลกต้องให้ความสนใจ
สำหรับกลุ่มงานสีเขียวที่น่าจับตามองในปี 2024-2025 ประกอบด้วย
1.ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน (Sustainability Manager) : มีหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบทางนิเวศวิทยาและสังคมของบริษัท พัฒนากลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาวในการปรับโมเดลและการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตแบบหมุนเวียน และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
2. ช่างเทคนิคกังหันลม (Wind Turbine Technician) : รับผิดชอบในการติดตั้งใช้งาน บำรุงรักษา และซ่อมแซมกังหันลม โดยข้อมูลจาก World Wind Energy Association (WWEA) พบว่า มูลค่าธุรกิจกังหันลมในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในปี 2021โดยกังหันลมที่มีกำลังการผลิตรวม 97.5 กิกะวัตต์ ได้ถูกติดตั้งแล้วทั่วโลก
3. นักนิเวศวิทยา (Ecologist) : ทำหน้าที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพืช สัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยสำรวจผลกระทบที่ต่างฝ่ายมีต่อกัน รวมถึงศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำความเข้าใจสาเหตุและพัฒนาวิธีการแก้ไข
4. ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Consultant) : เนื่องด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกในปี 2020 ที่ขยายตัวกว่า 45% จากปีก่อนหน้า ทำให้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและช่วยเหลือลูกค้าในการเลือกระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามความต้องการ
5. ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (Environmental Health and Safety Specialist) : ทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามเทคโนโลยี เครื่องจักร และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนด โดยจำเป็นต้องมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับนโยบายและข้อกำหนดในหลายอุตสาหกรรม
แม้หลายคนอาจไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พลังงาน หรือความยั่งยืนโดยตรง แต่ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะสีเขียวที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไว้ เพื่อรับมือและเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่กำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน
ที่มา : MgrOnline