ม.หอการค้าฯ มองนโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบส่งออกไทย ฉุด GDP ลด 0.87%

เผยแพร่ : 20 พ.ย. 2567 14:26:52
X
• การส่งออกของไทยจะลดลงทั้งทางตรงและทางอ้อม
• การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจชะลอตัวลง เนื่องจากผลกระทบดังกล่าว


นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ต่อ GDP ของไทย จากการลดลงของมูลค่าการส่งออก (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงบางส่วน
โดยศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า จะมีผลกระทบต่อ GDP ไทยลดลง 0.87% คิดเป็นมูลค่ารวมลดลง 160,472 ล้านบาท (แบ่งเป็น 1. ผลกระทบทางตรง การส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง 108,714 ล้านบาท และ 2. ผลกระทบทางอ้อม การส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ ลดลง 49,105 ล้านบาท และการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน ลดลง 2,653 ล้านบาท)

สำหรับผลกระทบทางตรง ได้แก่ ค่าเงินบาท มีแนวโน้มอ่อนค่าหากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบายกีดกันทางการค้า และการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า

ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจลดลง 3,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 10 8,714 ล้านบาท) คิดเป็น -1.03% ต่อการส่งออกรวม และ -0.59% ต่อ GDP สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ยานพาหนะ และยางและผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" และการสนับสนุนให้ย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ ทำให้แรงจูงใจในการลงทุนในไทยลดลง

ส่วนผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ การขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 60% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับจีนไปกว่า 1,403 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 49,105 ล้านบาท) คิดเป็น -0.46% ของการส่งออกรวม และ -0.27% ของ GDP

การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน หากจีนมีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนอาจลดลงอีก 75.8 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 2,653 ล้านบาท) คิดเป็น -0.03% ของการส่งออกรวม และ -0.01% ของ GDP

การทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดไทย นโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทำให้จีนอาจจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และสิ่งทอ

อย่างไรก็ดี ไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ กล่าวคือ ไทยมีโอกาสในการขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ แทนสินค้าจีน โดยเฉพาะในหมวดเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และของเล่น หากไทยสามารถปรับตัว และขยายการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้

นายพูนทวี ชัยวิจิตมลากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยทิศทางการส่งออกของไทยว่า สำหรับไตรมาส 4/67 คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอตัว หรือฟื้นตัวช้าลง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การส่งออกไตรมาส 4/67 ชะลอตัว ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงของยุโรป และอาเซียน ค่าเงินบาทที่ผันผวน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ

ส่วนปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไตรมาส 4/67 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในประเทศต่าง ๆ ทำให้หลายประเทศลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภค และการลงทุนของประเทศต่าง ๆ สำหรับสินค้าส่งออกหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไตรมาส 4/67 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ทองคำ เครื่องจักรกล อาหารและเครื่องดื่ม และอัญมณี ส่วนตลาดหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยไตรมาส 4/67 คือ สหรัฐฯ อาเซียน สหภาพยุโรป อินเดีย และออสเตรเลีย

ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า การส่งออกในไตรมาส 4/67 จะขยายตัว 1.20% จากปีก่อน โดยช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 0.12-2.21% มูลค่า 71,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายพูนทวี คาดว่า ภาพรวมการส่งออกไทยทั้งปี 67 จะขยายตัวที่ 3.21% (กรอบ 2.95-3.46%) หรือมีมูลค่า 294,231 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กรอบ 293,474 – 294,945 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

สำหรับการส่งออกของไทยปี 68 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.8% (กรอบ 2.55-3.03%) หรือคิดเป็นมูลค่า 302,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กรอบ 301,741 – 303,213 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การส่งออกปี 68 เติบโต ได้แก่ เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ขยายตัว อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว การลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ และการบริโภคที่ฟื้นตัวในหลายประเทศ

ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน

ส่วนสินค้าส่งออกหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยปี 68 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่แข็ง และอัญมณี โดยตลาดหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยปี 68 คือ สหรัฐฯ อาเซียน ยุโรป อินเดีย และออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเสี่ยงถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จากเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 9 ซึ่งถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10% และ 60% กับจีน อาจะทำให้การส่งออกไทยปี 68 จะขยายตัวได้ 1.24% แต่ถ้ากรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 15% และ 60% กับจีน การส่งออกไทยปี 68 จะขยายตัวได้เหลือเพียง 0.72%

ที่มา : MgrOnline