อย่าไว้ใจ “บ่อร้าง” แหล่งเพาะพันธุ์ปลาหมอคางดำ
เผยแพร่ : 20 พ.ย. 2567 12:44:59
• พบปลาหมอคางดำจำนวนมากในบ่อร้างทั่วประเทศไทย
• ปลาหมอคางดำเป็นปลาต่างถิ่น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์
• บ่อร้างกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาหมอคางดำที่สำคัญ
• การกำจัดปลาหมอคางดำต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
• การไม่ไว้ใจบ่อร้าง หมายถึงการตระหนักถึงความเสี่ยงในการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น และควรมีการตรวจสอบและจัดการอย่างเหมาะสม
โดย นิกร ประกอบดี
สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่หลายจังหวัดให้ข้อมูลตรงกันคือความห่วงใยเกี่ยวกับ “บ่อร้าง” ซึ่งเป็นน้ำนิ่งที่ปลาหมอคางดำชื่นชอบ เหมาะต่อการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ และกลายเป็นข้อจำกัดในการกำจัดปลาหมอคางดำในทุกๆ พื้นที่ที่มีบ่อร้าง ยิ่งในพื้นที่ภาคใต้อย่างนครศรีธรรมราชและสงขลา ซึ่งเคยเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งที่ใหญ่มากติดอันดับ Top Ten ของประเทศไทย แต่ด้วยปัญหาโรคกุ้งทำให้ปัจจุบันเกษตรกรเลิกเลี้ยงกุ้งไปเป็นจำนวนมาก “บ่อกุ้งร้าง” จึงหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน บ่อเหล่านี้กลายเป็นจุดรวมน้ำนิ่ง ภายใต้ความเค็มที่เหมาะสม ทำให้ปลาหมอคางดำใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ได้ดี ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีแนวโน้มว่าแผนการกำจัดปลาหมอคางดำให้เหลือน้อยที่สุดนั้นน่าจะมีขวากหนามและมันพร้อมจะกลับมาระบาดได้ทุกเมื่อ หากปลาหลุดรอดออกจากบ่อร้างสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ทำไมต้องกังวลกับบ่อร้าง? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในทะเลสาบสงขลามีปราการธรรมชาติป้องกันมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหล่าปลานักล่าในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่หากปลาหมอคางดำกล้าแหยมก็คงไม่เหลือชีวิตรอด หรือการที่มีคันดินของชลประทานกั้นลำคลองหัวไทรที่เชื่อมต่อกับระโนดก่อนไปถึงทะเลสาบสงขลาก็นับเป็นกำแพงอย่างดี รวมถึงระดับความเค็มของน้ำ ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าปลาหมอคางดำจะรวมตัวกันอยู่ได้เพียงช่วงลำคลองเชื่อมอ่าวไทย แต่ถ้าเลยไปกว่านั้นที่ความเค็มระดับ 25-30 ppt จะไม่มีปลาหมอคางดำอยู่เลย นี่คือเหตุผลที่มันจะไม่ลงทะเลลึกเพราะมีความเค็มมากเกินไป ปราการด่านนี้จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่าปลาหมอคางดำจะไม่สามารถฝ่าด่านทะเลน้ำเค็มออกไปถึงประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างที่บางคนโจมตี (ยกเว้นจะมีการขนย้ายไปโดยมนุษย์ พาข้ามน้ำเค็มไปปล่อยในน้ำกร่อยฝั่งเพื่อนบ้าน) เมื่อปราการธรรมชาติไม่น่ากังวล การหันมาใส่ใจแก้ปัญหาสุ่มเสี่ยงอย่างบ่อร้างจึงเป็นสิ่งจำเป็น
จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจันทบุรี พบปัญหาบ่อร้าง-กระชังร้างอยู่มากเช่นเดียวกัน รัฐจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ต้องหาวิธีหรือมาตรการที่จะจัดการปลาหมอคางดำในบ่อร้างในพื้นที่ส่วนบุคคลให้ได้ หากละเลยและปล่อยทิ้งไว้ให้เหตุการณ์บานปลายจนควบคุมได้ยากจะเท่ากับการจับปลาหมอคางดำจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาต้องเสียเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งถ้ารู้ว่าใครจงใจปล่อยให้บ่อร้างของตนเป็นแหล่งเพาะปลาหมอคางดำเพื่อหวังประโยชน์ในการจับขายให้แก่โครงการรัฐ ยิ่งต้องจัดการขั้นเด็ดขาด
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐและเอกชนร่วมมือกันจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อปลาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เกิดเป็นแรงจูงใจให้มีการจับปลากันมากขึ้นจนได้ผล ปริมาณปลาหมอคางดำลดลงจริงในหลายพื้นที่ แต่เรื่องนี้หยุดไม่ได้ จำเป็นต้องทำการกำจัดปลาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตอนนี้งบสำหรับรับซื้อปลาในราคา กก.ละ 15-20 บาทมันหมดลง เจ้าของบ่อร้างที่ไหนก็คงไม่อยากจ้างแรงงานมาเอาปลาขึ้นจากบ่อเพื่อไปขายแพปลาในราคา กก.ละ 5-8 บาท โดยอ้างว่าไม่คุ้มค่าแรง-ค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นสัญญาณแห่งการระบาดระลอกใหม่ที่น่ากลัว เพราะเวลามีน้ำขึ้นน้ำลง ปลาในบ่อร้างย่อมลอยออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้เสมอ
จริงอยู่ว่าทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยงบประมาณและโลกนี้คงน้อยคนนักที่จะรักสิ่งแวดล้อม ถึงขนาดเฉือนเนื้อตัวเอง ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นเรื่องจริงที่ต้องยอมรับ ความหวังจึงอยู่ที่งบประมาณของรัฐซึ่งอาจต้องใช้เวลา
แต่ในระหว่างนี้หากไม่สามารถสร้างแรงจูงใจด้วยงบประมาณรับซื้อปลาได้ น่าจะบังคับใช้กฎหมายที่มีให้เข้มข้นขึ้นก่อน อ้างถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยเรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 โดยห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยรัฐทั้งประมงจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องผนึกกำลังเข้าตรวจสอบบ่อร้างของเกษตรกรในแต่ละจังหวัด หากบ่อไหนมีปริมาณปลาหมอคางดำในจำนวนมากจะเข้าข่ายเพาะเลี้ยงซึ่งเอาผิดได้ทันที
ฟังดูอาจจะเข้มสักหน่อยแต่จะทำให้สามารถกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่เสี่ยงตามบ่อร้างได้อีกมาก เจ้าของบ่อคนไหนไม่เร่งกำจัดหรือรอแต่งบประมาณรัฐมารับซื้อแพงๆ คงต้องทบทวนการกระทำของตนไม่มากก็น้อย
ที่มา : MgrOnline