“ครูธัญ ”ร่วมรำลึกวันผู้เสียชีวิตจากการเกลียดชังคนข้ามเพศ ชวนจับตาท่าทีรัฐบาลต่อกม.อัตลักษณ์ทางเพศ

เผยแพร่ : 20 พ.ย. 2567 12:27:06
X
• ครูธัญ เรียกร้องให้จับตาการตอบสนองของรัฐบาลต่อร่าง พ.ร.บ. อัตลักษณ์ทางเพศ
• ปชน. เตรียมผลักดันร่างกฎหมายให้บุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเลือกใช้คำนำหน้านามและแก้ไขข้อมูลทางทะเบียนได้

“ครูธัญ ”ร่วมรำลึกวันผู้เสียชีวิตจากการเกลียดชังคนข้ามเพศ ชวนจับตาท่าทีรัฐบาลต่อกม.อัตลักษณ์ทางเพศ เผยปชน. จ่อดันร่างกม.คำนำหน้านามให้18 ปี ขอแก้ไขข้อมูลทางทะเบียนได้

นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่าวันที่ 20 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันแห่งการรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากการเกลียดชังคนข้ามเพศ Transgender Day of Remembrance (TDOR) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่คนข้ามเพศที่ต้องเผชิญในสังคมโลก โดยการรำลึกนี้ไม่เพียงเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการยอมรับและปกป้องสิทธิของคนข้ามเพศในทุกมิติของชีวิต

นายธัญวัจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อคนข้ามเพศในองค์กรอนามัยโลก(WHO) ที่ในอดีต เคยจัดให้คนข้ามเพศอยู่ในหมวดของความผิดปกติทางจิต แต่ในปี พ.ศ. 2562 WHO ได้ประกาศปรับปรุงการจำแนกโรค โดยระบุว่าความเป็นคนข้ามเพศไม่ใช่โรคทางจิตอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของ สุขภาพทางเพศ การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงการยอมรับในระดับสากลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและอัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ พร้อมทั้งช่วยลดการตีตราทางสังคมที่คนข้ามเพศต้องเผชิญในระบบสาธารณสุข และเรื่องการข้ามเพศเป็นเรื่องของสุขภาพ

สำหรับประเทศไทย จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด วันที่ 15 มีนาคม 2562 มีผู้ฟ้องคดีร้องขอให้แก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร เปลี่ยนคำนำหน้านามจาก “นาย” เป็น “นางสาว” และเปลี่ยนเพศจากชายเป็นหญิง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพจิตใจและร่างกายที่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ว่าผู้ฟ้องคดีมี โรคความผิดปกติของเอกลักษณ์ทางเพศ และได้ผ่านกระบวนการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว

ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่าการแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎรต้องเป็นไปตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งกำหนดให้ข้อมูลในทะเบียนสะท้อนข้อเท็จจริงตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังไม่มีบทบัญญัติที่รองรับการเปลี่ยนแปลงเพศและคำนำหน้านามในเอกสารทะเบียนราษฎร แม้จะมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันก็ตาม จึงไม่สามารถอนุญาตให้แก้ไขข้อมูลดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการแก้ไขข้อมูลดังกล่าวจำเป็นต้องรอการแก้ไขเพิ่มเติมในกฎหมายเพื่อให้รองรับสิทธิของบุคคลข้ามเพศในอนาคต

“เพื่อตอบสนองต่อปัญหานี้ พรรคประชาชนกำลังผลักดันร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการระบุเพศและคำนำหน้านาม โดยมีหลักการเพื่อรองรับสิทธิของบุคคลในการแก้ไขเพศและคำนำหน้านามตามอัตลักษณ์ทางเพศ สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้รวมถึงการเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์สามารถยื่นคำขอแก้ไขข้อมูลทางทะเบียนได้ และกำหนดให้มีคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ เช่น “นาม” สำหรับนอนไบนารี” บุคคลที่ไม่ระบุตนว่าเป็นชายหรือหญิง เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม”นายธัญวัจน์กล่าว

นายธัญวัจน์ เน้นย้ำว่าความไม่เข้าใจเกี่ยวกับ อัตลักษณ์ทางเพศ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในสังคมไทย แม้จะมีการณรงค์ก็ตาม จึงต้องมีการทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจผ่านการศึกษาและสื่อสารกับสังคม เพราะ“อัตลักษณ์ทางเพศคือความรู้สึกภายในของบุคคลเกี่ยวกับเพศของตนเอง ซึ่งอาจไม่ตรงกับเพศกำเนิด การไม่เข้าใจเรื่องนี้ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของคนข้ามเพศ“

นายธัญวัจน์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงรัฐบาลว่าเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ร่างพ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของพรรคก้าวไกล ก็ไม่ผ่านวาระหนึ่ง ในสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ต่อรัฐสภาก็มิได้มีประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งในขณะนี้ร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่ทำงานโดยภาคประชาสังคมถูกบรรจุวาระการประชุมสภา และคงต้องจับตารอดูท่าทีของคณะรัฐมนตรีจะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศหรือไม่

“การยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศถือเป็น สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่รัฐมีหน้าที่ต้องรับรองตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การรับรองสิทธิด้านอัตลักษณ์ทางเพศช่วยให้บุคคลดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม การออกกฎหมายรองรับในประเด็นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสังคมที่เคารพในความหลากหลายและสิทธิมนุษยชน” นายธัญวัจน์กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : MgrOnline