ครบรอบ 47 ปี สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท) – “ม.เอกชนรวมพลัง” ผลิตคนรุ่นใหม่ตอบสนองความต้องการของประเทศ และรู้เท่าทัน AI
เผยแพร่ : 20 พ.ย. 2567 12:01:36
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสอท) จัดงานครบรอบการสถาปนาปีที่ 47 ภายใต้แนวคิด “The Power of NEW GEN” เพื่อแสดงพลังของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในการผลิตคนรุ่นใหม่ให้เป็นบัณฑิตคุณภาพสูง มีทักษะและความรู้เท่าทันเทคโนโลยีแห่งอนาคต และมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานยุค AI สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” เน้น “วิจัย สร้างนวัตกรรมดีตรงความต้องการ” ของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ให้เกียรติเข้าร่วมงานและกล่าวแสดงความยินดี
พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และ นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวง อว. โดยมี รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมฯ ดร.เสนีย์ สุวรรณดี เลขาธิการสมาคมฯ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ นายกรับเลือก รวมถึง อดีตนายกสมาคมฯ อธิการบดี คณาจารย์ นักศึกษา ศิลปินในเครือข่ายสมาชิกสมาคมฯ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รวมพลังขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งก้าวสู่การรวมตัว มาถึงยุคการขับเคลื่อนการตอบสนองนโยบาย โดยร่วมมือกับกระทรวง อว. ขับเคลื่อนสู่การปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ตลอดจนมาถึงสมัยปัจจุบัน ที่มุ่งเน้น THE POWER of NEW GEN โดยการผลิตคนรุ่นใหม่ให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทักษะและความรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยนำนโยบาย อว. for AI หรือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาพัฒนาศักยภาพทั้งในมิติของ AI for Education เพื่อให้การเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุดและเร็วที่สุด
รวมถึง มิติของ AI Workforce Development เพื่อพัฒนาบุคลากรไทย ให้เป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI เข้าสู่ภาคธุรกิจ และประการต่อมาคือ มิติ AI Innovation เพื่อสนับสนุนการนำนวัตกรรม AI มาใช้งานจริงในทุกภาคส่วน ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล และ พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติต่อไป ขออวยพรให้สมาชิกสมาคมฯ มีแต่ความสุขความรุ่งเรืองก้าวหน้า และขอให้ทางสมาคมฯ ประสบความสำเร็จ ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ขอบคุณทางสมาคมฯ ที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงทุกครั้ง และคอยให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตลอดจนกระทรวงอว. โดยหวังว่าปีหน้านี้จะได้มาร่วมงานในลักษณะนี้อีกครั้ง นอกจากนี้หากมหาวิทยาลัยใดมีการจัดกิจกรรมสามารถแจ้งมาที่กระทรวงอว. ที่พร้อมจะให้การสนับสนุน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และอดีตนายกสมาคมฯ ทุกสมัย ที่เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของสมาคมฯ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงจนเกิดความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างมหาวิทยาลัยเอกชน จนนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ วันนี้ตนรู้สึกดีใจที่ทุกคนให้การสนับสนุนและไว้วางใจในการมานั่งตำแหน่งนายกสมาคมฯ คนใหม่ ตนพร้อมยืนยันจะเดินหน้าพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าด้วยความรวดเร็ว และทำให้แวดวงการศึกษาเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ของประเทศและโลกในยุคแห่ง AI
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ ยังกล่าวย้ำอีกว่า ความตั้งใจของ สสอท. คือต้องการสร้างรากฐานตั้งแต่รุ่นสู่รุ่นด้วยการเชื่อมโยงพลังของพวกเรา โดยเฉพาะยุคนี้ที่เป็น “ยุครวมพล New Gen สสอท. สู่โลกยุคใหม่” ที่จะตอบสนองความต้องการทั้งโลก กลุ่มที่มีอำนาจสูงสุดคือเจน Y และ C ที่จะเป็นทั้งผู้ซื้อ ผู้ผลิต และเป็นผู้กำหนดทิศทางต่างๆ สสอท. เป็นพลังของสถาบันการศึกษาเอกชน ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 62 สถาบัน ที่รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และเติมเต็มสิ่งต่างๆ ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน Digital Economy ที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการเป็น Ignite Thailand โดยสิ่งแรกที่สสอท.วางแผนและดำเนินการ คือ การยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง เพื่อลดภาระนักศึกษา และผู้ปกครอง โดยการจัดให้มีระบบแนะแนวการเรียนและเป้าหมายชีวิต จัดให้มีแพลตฟอร์มเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้ความสำคัญกับทักษะ จัดทำระบบวัดผลรับรองทักษะตามมาตรฐานวิชาชีพ เพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทะเบียนเรียนตามความต้องการ สามารถลงทะเบียนโดยไม่จำกัดจำนวนหน่วยกิต และมีรายได้ระหว่างเรียน นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกประการ คือการให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อพัฒนาและสอนเด็กให้มีคุณภาพ
“เมื่อเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ พลังของคนรุ่นใหม่ จึงเป็นที่มาของธีมงานในวันนี้ “The Power of NEW GEN” ที่แสดงให้เห็นว่า N คือ Newly ความทันสมัย จึงเกิดโครงการ Sandbox ที่จะนำไปสู่การเรียนการสอน จนเกิดบัณฑิตพันธุ์ใหม่ , E คือ Excellent ความเป็นเลิศ หรือการอยู่แถวหน้าที่ทางทีมงานของ สสอท. มุ่งเน้น , W คือ Workforces (Warriors) เรากำลังผลิตบุคลากรที่เป็นแรงงานทรัพยากรบุคคล เพื่อให้ชาวต่างชาติมั่นใจว่า เราจะมีบุคลากรที่ดี มีธุรกิจที่ยั่งยืน และมีแนวคิดในการสร้างสตาร์อัพ , G คือ Generative AI ซึ่งเวลานี้ สสอท. ได้วิ่งเข้าสู่ดิจิทัล และ AI จึงจำเป็นต้องวางแพลตฟอร์มร่วมกันเป็น Generative AI ในเชิงสร้างสรรค์ , E คือ Education หรือการศึกษา และสุดท้าย N คือ Network สสอท.ที่รวมกลุ่มกันทุกสถาบันการศึกษา ดังนั้น NEW GEN ที่แฝงไว้ในการจัดงาน คือ “The Power of Newly Excellent Workforces of Generative AI Education Network” รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการจัดชุดการแสดง โดยศิลปินจากมหาวิทยาลัยในเครือข่าย อาทิ ศรราม น้ำเพชร ลิเกชื่อดัง และพิธีมอบรางวัลบุคลากรดีเด่น นักศึกษาดีเด่น และนักศึกษารับทุน ประจำปี 2567 โดยผู้ที่ได้รางวัลบุคลากรดีเด่นด้านวิชาการ ระดับดีมาก กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ ผศ.ดร.สุสารี ประคินกิจ มหาวิทยาลัยสยาม กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ ผศ.เจริญเนตร แสงดวงแข มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์ ได้แก่ ผศ.กมลวรรณ พัชรพรพิพัฒน์ สารสุข มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระดับดี กลุ่มสังคมศาสตร์ ได้แก่ รศ.เหมือนจิต จิตสุนทรชัยกุล สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ ระดับดีเด่น กลุ่มสาขามนุษยศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.นักสิทธ์ ศักดาพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อาจารย์เสริมสิน ไพรินทร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ระดับดีมาก กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ นายพาริส หงษ์สกุล มหาวิทยาลัยรังสิต กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และ ผศ.ดร.พิมพ์เพชร สระทองอุ่น สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ระดับดี กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ นายโชติวัน แย้มขยาย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นักวิจัย ระดับดีเด่น กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.บุษกร วัฒนบุตร มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ รศ.ดร.พิศุทธิ์ พงศ์ชัยฤกษ์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
รางวัลบุคลากรดีเด่นด้านสนับสนุนวิชาการ ด้านกิจการนักศึกษาและด้านศิลปวัฒนธรรม กลุ่มงานด้านสนับสนุนวิชาการ ระดับผู้บริหารหรือหัวหน้าหน่วยงาน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ นิลทับ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระดับผู้ปฏิบัติการ ได้แก่ นายอรรถพล จิระทัศนกุล สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กลุ่มงานด้านกิจการนักศึกษา ระดับผู้บริหารหรือหัวหน้าหน่วยงาน ได้แก่ นายวุฒินันท์ อิมามี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ระดับผู้ปฏิบัติการ ได้แก่ นายนวพล เกษมธารนันท์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กลุ่มงานศิลปวัฒนธรรม ระดับผู้บริหารหรือหัวหน้าหน่วยงาน ได้แก่ อาจารย์พิฑูรย์ ทองฉิม มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ระดับผู้ปฏิบัติการ ได้แก่ นายณัฐพงศ์ บุญยัง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลนักศึกษาดีเด่นรวมทั้งสิ้น จำนวน 29 รางวัล และมีการประกาศผลการคัดเลือกนักศึกษาคณะบัญชี เพื่อรับทุน “กองทุนเต็ม-ยรรยง วรากรวรวุฒิ” และ นักศึกษาที่มีความสามารถด้านกีฬาเพื่อรับทุน “สุรี บูรณธนิต”
ด้าน ผศ.ดร.นักสิทธ์ ศักดาพัฒน์ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิจัยรุ่นใหม่ไฟแรง อายุเพียง 34 ปี ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ ระดับดีเด่น สาขามนุษยศาสตร์ จากสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ในปี 2567 ได้กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ โดยเน้นว่างานวิจัยด้านนี้มีบทบาทสำคัญการพัฒนาสังคม เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง การพัฒนาพฤติกรรมเยาวชน การพัฒนาทักษะของนักเรียนนักศึกษาให้สอดคล้องกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถศึกษาได้ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ หรือการวิจัยแบบผสานวิธี ทำให้สามารถนำผลงานวิจัยไปการวางแผนนโยบายสังคมได้อย่างเป็นระบบรอบด้าน ตลอดจนสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลให้มีความเหมาะสมและครอบคลุมกับบริบทของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ให้น้ำหนักในเรื่องของความยั่งยืนในระยะยาว และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งงานวิจัยด้านนี้ตอบโจทย์กระแสของความยั่งยืนที่เน้นศึกษาความจริงที่ครอบคลุมพฤติกรรมมนุษย์ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก สำหรับในปัจจุบันมีการใช้ศาสตร์แบบบูรณาการที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ให้มีความละเอียดลุ่มลึก นอกจากนี้ยังเป็นงานวิจัยที่เปิดกว้างสำหรับวิธีวิทยาการวิจัยที่เลือกใช้เป็นเครื่องมือต่างๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ผศ.ดร.นักสิทธ์ มีความเชี่ยวชาญด้านจิตพฤติกรรมศาสตร์ (Psycho-Behavioral Science) เป็นการผนวกความรู้ด้านพฤติกรรมศาสตร์กับการศึกษาจิตใจมนุษย์เข้าด้วยกัน ซึ่งตัวอย่างงานวิจัยจะเป็นไปในแนวทางของการศึกษาปัจจัยทางจิตลักษณะและสถานการณ์เพื่อทำนายผลของพฤติกรรมนั้นๆ อันนำไปสู่การออกแบบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลให้พึงประสงค์ หรือการศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุและผลของพฤติกรรมนั้นๆ โดยอาศัยการวิเคราะห์ด้วยสถิติขั้นสูงด้วย LISREL และ Mplus ซึ่งผลการวิจัยมีความแม่นยำสูง ทำให้สามารถนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างกว้างขวาง เช่น การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อวางแนวทางการพัฒนา การทำดัชนีทางสังคม การจัดทำชุดความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคล การออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
“สำหรับผลงานวิจัยที่ส่งเข้ารับการประเมินรางวัลจาก สสอท. ซึ่งมีเกณฑ์การประเมินที่เข้มงวดตามกฎ กพอ. โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้ร่วมวิจัยหลายท่านภายใต้ความร่วมมือการวิจัยข้ามสถาบัน ได้แก่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่ง ผศ.ดร.นักสิทธ์ และคณะฯ ได้ทุ่มเททำวิจัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี ซึ่งทำให้สามารถผลิตผลงานทางวิชาการไปเผยแพร่ในวารสารชั้นนำในระดับนานาชาติได้ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างถือเป็นความสำเร็จที่ท้าทายความสามารถ นอกจากนี้งานวิจัยดังกล่าวยังถูกใช้ประโยชน์และได้รับการอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง การได้รับรางวัลจาก สสอท. ในครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพและคุณค่าของงานวิจัย”ผศ.ดร.นักสิทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่นายกานต์ ปัญยวณิช นักศึกษาชั้นปริญญาโท สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ เปิดเผยว่า วิทยานิพนธ์ของเขามุ่งเน้นไปที่การยอมรับการใช้แอปพลิเคชันของผู้สูงอายุประเภทติดสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเหตุจูงใจและปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยนายกานต์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือ แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ เช่น ด้านความจำ การมองเห็น การได้ยิน และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งหวังที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักพัฒนาแอปพลิเคชัน ให้สามารถออกแบบ UX/UI ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้ปุ่มกดขนาดใหญ่ การแสดงผลตัวหนังสือที่ชัดเจน และการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานที่ง่าย
งานวิจัยของนายกานต์ ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และการสังเกต โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลและชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ง่าย และนำไปสู่การเข้าถึงบริการและข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับ นายภาณุสรณ์ เหมรัตน์ภูริดา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรบัญชี วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้ที่ได้รับรางวัลนักศึกษาดีเด่นระดับประเทศ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2567 เปิดใจว่า ตนรู้สึกว่าดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ โดยรางวัลนี้เป็นเหมือนการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนแรกเขาไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะได้รับรางวัลนี้ เพียงแต่ทำตามคำแนะนำและชักชวนให้ส่งผลงานเข้าประกวดของ ดร.สุพิชา ศรีสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชี ที่เห็นแววจากผลงานและความประพฤติที่ดีของเขา
จุดเริ่มต้นที่ทำให้นายภาณุสรณ์สนใจงานด้านสังคม มาจากการปลูกฝังของพ่อแม่ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปลูกฝังเรื่องการเสียภาษีอย่างถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่ของเขามักสอนเสมอว่า “การเสียภาษีคือการช่วยพัฒนาประเทศ” จึงหล่อหลอมทำให้เขาเติบโตมาพร้อมกับความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ผลักดันให้เขาเลือกศึกษาต่อสายอาชีพสาขาบัญชี เพราะเขามองว่าเป็นอาชีพที่สุจริต และเป็นอาชีพที่สามารถช่วยวางแผนอนาคตทางการเงิน ป้องกันการรั่วไหลของรายได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้นายภาณุสรณ์ ยังได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอาจารย์ประจำในหลักสูตรบัญชีอย่างเต็มที่ ทั้งการติวเข้มด้านวิชาการ การแนะนำให้เข้าร่วมกิจกรรม หรือ การแข่งขันทางวิชาการระดับประเทศต่างๆ รวมไปถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ทำให้เขาไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จด้านการเรียน แต่ยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นผู้นำในกลุ่ม และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆ เสมอ โดยรางวัลนักศึกษาดีเด่นระดับประเทศในครั้งนี้ เสมือนเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถ ความมุ่งมั่น และความเป็นคนดีของเขา
"ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ขอบคุณการสนับสนุนจากอาจารย์ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่เปิดโอกาสให้ผม ทำให้ผมมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ผมจะตั้งใจศึกษาหาความรู้ และทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นในรูปแบบใดก็ตาม หรือแม้แต่การทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น" นายภาณุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาวอารยา วงษาศิล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ได้รับรางวัลนักศึกษาดีเด่นประเภทวิชาการดีเด่น กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากผลงานการเรียนที่โดดเด่นและความมุ่งมั่นในการศึกษา ปัจจุบันเกรดเฉลี่ยสะสมสูงถึง 3.95 จนได้รับเหรียญรางวัลเรียนดีจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความทุ่มเทในการศึกษาและความสามารถทางวิชาการ
“สำหรับเทคนิคส่วนตัวที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเรียนนั้น เชื่อว่า “ความพยายามในการเรียนนั้นมีทุกคน แต่การเข้าใจเนื้อหาให้ลึกซึ้งเป็นสิ่งที่มีค่ามาก” ตนเองจึงมุ่งเน้นการทำความเข้าใจในเนื้อหารายวิชาที่เรียนเป็นหลัก และเน้นการฝึกทักษะทั้งฟัง พูด อ่าน และเขียน ที่จะเป็นการช่วยทบทวนความจำได้ดียิ่งขึ้น โดยจะใช้เวลาอ่านหนังสือในช่วงดึกตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึงตีสอง และจะฟังเพลงไปพร้อมกับการอ่านเพื่อเพิ่มสมาธิในการอ่าน”
นอกจากนี้ยังนำ “หลักธรรม” มาใช้ในการเรียน โดยเฉพาะหลักการ “ตั้งใจ” หรือ “ใจตั้ง(มั่น)” ที่จะเรียนในวิชานั้นๆ แล้ว ก็จะช่วยให้สามารถมองเห็นภาพในการอ่านโจทย์สามารถทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการร่วมกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยในโครงการ "พี่ติวน้อง" ในการช่วยติวความรู้ให้กับน้องๆ ที่ไม่เข้าใจในวิชาเรียน ซึ่งการติวในแต่ละครั้งไม่เพียงจะช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับน้องๆ แล้ว ยังช่วยให้ทบทวนและเพิ่มความรู้ให้ตนเองอีกด้วย
ที่มา : MgrOnline