PTTGC-OR จับมือ THAI ป้อน SAF ในเที่ยวบินทั้งใน-ตปท.
เผยแพร่ : 20 พ.ย. 2567 11:15:58
• เพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (SAF)
• ในเที่ยวบินของการบินไทยทั้งในและต่างประเทศ
• มุ่งหวังยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
PTTGC-OR จับมือการบินไทยหนุนการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานอย่างยั่งยืน (SAF) ในเที่ยวบินของการบินไทยทั้งในและต่างประเทศ ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทย
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อผลักดันการใช้ด้านเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ภายใต้พันธกิจร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบิน สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลกที่กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศคาร์บอนต่ำ
ความร่วมมือระหว่าง PTTGC, OR และ THAI ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการวิจัยและพัฒนาการผลิต รวมถึงส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิง SAF ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบจากของเสียทางการเกษตร การตรวจสอบคุณภาพเชื้อเพลิง ไปจนถึงการจำหน่าย และการใช้ในการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขยายการใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมการบินไทย อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) มาปฏิบัติจริง ผลิตภัณฑ์ SAF ไม่เพียงแต่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของการเดินทางทางอากาศ แต่ยังเสริมสร้างการตระหนักรู้ในระดับสากลถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ PTTGC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) โดยใช้การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ร่วมกับน้ำมันดิบ ภายใต้โครงการ Biorefinery เป็นรายแรกของประเทศ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโรงกลั่นชีวภาพ จึงสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการผลิต SAF ในระดับเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่
โดยในระยะแรกมีกำลังการผลิต 5,000 ตัน หรือ 6 ล้านลิตรต่อปี และจะขยายเป็น 25,000 ตัน หรือ 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,000 ตันต่อปีในระยะแรก และ 60,000 ตันต่อปีในระยะที่สอง กระบวนการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการแปรรูปวัสดุชีวภาพ แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินไทยจะสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และมีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน การนำนวัตกรรมนี้มาใช้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์ความท้าทายด้านพลังงานในยุคปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท OR เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังระหว่าง OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย กับการบินไทย (THAI) ในฐานะสายการบินชั้นนำ รวมทั้ง PTTGC ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล โดย OR มีความมั่นใจในความสามารถที่จะให้บริการด้านการจำหน่าย การจัดส่ง และรองรับเทคโนโลยีเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF)
สำหรับการผสม SAF โดยนำกระบวนการ Co - Processing ของ PTTGC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับนโยบายการบังคับใช้ SAF ของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งของ OR ที่ครอบคลุมการจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วประเทศ OR จึงมีความพร้อมในการจัดส่ง SAF ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศไทย และด้วยความร่วมมือร่วมกับการบินไทยเพื่อใช้ SAF ในเที่ยวบินของการบินไทยทั้งเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ธุรกิจยั่งยืน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อแสดงถึงการตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการร่วมลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการบินระหว่างประเทศตามข้อบังคับของ ICAO ในอนาคต รวมทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของ OR ที่มุ่งสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2608
นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในการช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ต้องการบรรลุ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 การบินไทยในฐานะสายการบินชั้นนําของประเทศไทยจะได้ทํางานเคียงข้างกับ OR และ PTTGC โดยมีเป้าหมายที่จะร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะเทคโนโลยีในการผลิต การใช้งาน และการรักษาคุณภาพของเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน รวมถึงการทํางานร่วมกันในการพิจารณาโครงการใหม่ๆ ในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก สําหรับการดำเนินธุรกิจอากาศยานของไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินไทยให้ก้าวไปข้างหน้าในทิศทางที่ยั่งยืน
ความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทย แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดผลกระทบต่อโลก พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคธุรกิจทั่วโลกในการร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างสมดุล ด้วยความตั้งใจที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และจะไม่หยุดเพียงแค่ SAF แต่ยังขยายไปสู่การสำรวจและพัฒนาโครงการพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และนวัตกรรมด้านพลังงานที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : MgrOnline