ชนเผ่าเมารีกว่า 4 หมื่นบุก “รัฐสภานิวซีแลนด์” หลังหัวหน้าพรรคปีกขวา ACT ดันร่าง กม.ให้ตีความ "สนธิสัญญาไวตางี" อายุ 184 ปีกับจักรวรรดิอังกฤษ อ้างไม่สะท้อนความเป็นแดนกีวีในปัจจุบัน

เผยแพร่ : 20 พ.ย. 2567 01:30:41
X
• ชาวเมารีแต่งกายด้วยขนนกและธงเผ่า
• การประท้วงจัดขึ้นหน้ารัฐสภา
• จุดประสงค์หลักคือการต่อต้านการตีความใหม่ของสนธิสัญญาไวตางี

เอเจนซีส์ - ชนเผ่าพื้นเมืองเมารีของนิวซีแลนด์ประดับประดาขนนกอย่างสวยงามพร้อมกับธงประจำเผ่า และมีบางส่วนอยู่หลังม้าไม่ต่ำกว่า 40,000 คน รวมตัวประท้วงวันอังคาร (19 พ.ย.) ด้านนอกรัฐสภากลางกรุงเวลลิงตัน เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายให้ตีความสนธิสัญญาไวตางี (Treaty of Waitangi) อายุ 184 ปี ซึ่งเป็นสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างหัวหน้าชนเผ่ากว่าครึ่งพันและจักรวรรดิอังกฤษในปี 1840 ถูกมองว่าเป็นรากฐานของแดนกีวีที่โดดเด่นในเวทีโลกในฐานะประเทศที่สนับสนุนชนพื้นเมือง

บีบีซีของอังกฤษรายงานวันอังคาร (19 พ.ย.) ว่า มีไม่ต่ำกว่า 42,000 คน จากการนับของตำรวจนิวซีแลนด์อ้างอิงจาก CNN ของสหรัฐฯ เดินขบวนเป็นแถวยาววันอังคาร (19) กลางกรุงเวลลิงตันมุ่งหน้าสู่รัฐสภานิวซีแลนด์เพื่อประท้วงร่างกฎหมาย The Treaty Principles bill ที่อื้อฉาว

ชนเผ่าพื้นเมืองเมารีของนิวซีแลนด์ที่อยู่ในชุดขนนก และบนใบหน้ามีรอยสักทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาพร้อมกับธงประจำชนเผ่าและคนบนหลังม้ารวมตัวครั้งประวัติศาสตร์เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายนี้ที่ต้องการให้ตีความสนธิสัญญาไวตางี (Treaty of Waitangi) ซึ่งถือเป็นรากฐานประเทศของนิวซีแลนด์ที่มีอายุนานร่วม 184 ปี

CNN รายงานว่า สนธิสัญญาวาตางิเป็นเอกสารที่มีการลงนามโดยรัฐบาลจักรวรรดิอังกฤษและหัวหน้าเผ่าเมารี 500 คน ในปี 1840 ที่เป็นรากฐานของการปกครองร่วมกันระหว่างชนพื้นเมืองนิวซีแลนด์และชาวนิวซีแลนด์ที่ไม่ได้เป็นชนเผ่าดั้งเดิม

สื่ออังกฤษชี้ว่า คนจำนวนมากวิจารณ์ความเคลื่อนไหวในการให้ตีความสนธิสัญญานี้ว่าเป็นเสมือนความพยายามที่จะลิดรอนสิทธิชนเผ่าเมารี ในขณะเดียวกันที่ฝ่ายสนับสนุนชี้ว่า สนธิสัญญาไม่ได้สะท้อนถึงสังคมหลากหลายวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์อีกต่อไป

ราชินีชนเผ่าเมารี Ngā Wai hono i te pō เป็นผู้นำคณะผู้แทนมาที่ด้านนอกของรัฐสภานิวซีแลนด์ และมีชาวเมารีจำนวนมากเดินตามมาด้านหลัง

อ้างอิงจาก CNN  สัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภานิวซีแลนด์ต้องหยุดชั่วคราวหลังบรรดา ส.ส.เชื้อสายเมารีเต้นฮากาเพื่อขวางการโหวต

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมาย The Treaty Principles bill ที่อื้อฉาวนี้ไม่คาดว่าจะสามารถผ่านรัฐสภาและออกบังคับใช้ในฐานะกฎหมายได้สำเร็จ แต่การดีเบตและการแบ่งเป็นฝักฝ่ายจะยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะมีเวลาอีก 6 เดือนจนกว่าจะถึงขั้นวาระที่ 2 (second reading) ของกระบวนการ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายนี้ถูกเสนอ เดวิด ซีมัวร์ (David Seymour) ผู้นำพรรคการเมืองปีกขวาร่วมรัฐบาลนิวซีแลนด์ พรรค ACT New Zealand สื่อ CNN รายงาน

ซีมัวร์กล่าวว่า เขาไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงภาษาของสนธิสัญญาดั้งเดิมแต่โต้แย้งว่า หลักการของสนธิสัญญาสมควรที่ต้องถูกชี้ชัดในกฎหมายและสมควรที่ต้องใช้กับพลเมืองนิวซีแลนด์ทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะชาวเมารี

ทั้งนี้ ทั้งประเทศมีชนเผ่าเมารีอยู่จำนวนทั้งหมดราว 900,000 คน

CNN รายงานว่า ในขณะที่สหรัฐฯ นั้นมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ทว่านิวซีแลนด์นั้นไม่มี ทว่าหลักการของสนธิสัญญาไวตางีได้ถูกพัฒนามาตลอดระยะเวลา 40 ปีโดยจากรัฐบาลชุดต่างๆ และศาล

เนื้อหาของสนธิสัญญาแสวงหาการปกป้องผลประโยชน์ บทบาทของคนเหล่านั้นในการตัดสินใจและความสัมพันธ์ร่วมกับกษัตริย์อังกฤษ และศาลนิวซีแลนด์ได้ใช้หลักการนี้เพื่อการเยียวยาชนเผ่าเมารีที่ถูกพรากสิทธิไปหลายด้าน และการสร้างนโยบายเพื่อเยียวยาความไม่เท่าเทียมทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ชนพื้นเมืองเมารีเผชิญ

ซีมัวร์เจ้าของร่างกฎหมายอื้อฉาวที่มีบรรพบุรุษบางส่วนเป็นชาวเมารีได้เปิดเผยกับบีบีซีว่า 

“ร่างกฎหมาย Treaty Principles Bill ของผมกล่าวว่า ผม เหมือนเช่นคนอื่น ที่ไม่ว่าบรรพบุรุษของคนเหล่านั้นมาจากที่นี่เมื่อหลายพันปีก่อน เหมือนเช่น (บรรพบุรุษ) บางส่วนของผม หรือเพิ่งเดินออกมาจากเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติออกแลนด์เช้านี้เพื่อการเดินทางของพวกเขาในฐานะชาวนิวซีแลรด์ นั้นจะมีสิทธิพื้นฐานเท่ากันและศักดิ์ศรี”

และ “จุดเริ่มต้นของคุณคือการมองเห็นถึงมนุษย์และตั้งคำถามว่า บรรพบุรุษของคุณเป็นใคร? และคุณเป็นมนุษย์ประเภทไหน? นั่นเคยโดนเรียกว่า “อคติ” มันเคยโดนเรียกว่า “เป็นการเกลียดชังมนุษย์” มันเคยถูกบ่งชี้ว่าเป็นการใช้เชื้อชาติเป็นปัจจัยชี้วัดและการกีดกันทางสีผิว ในเวลานี้คุณกำลังพยายามบอกถึงคุณค่าของมัน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์”

นิวซีแลนด์มักโดดเด่นในเวทีโลกในฐานะประเทศที่สนับสนุนชนพื้นเมืองดั้งเดิม แต่ทว่าภายใต้รัฐบาลกลางขวาของนายกรัฐมนตรี คริสโตเฟอร์ ลูซอน (Christopher Luxon) มีความวิตกว่าสิทธิชนเผ่าเมารีจะถูกลิดรอนไป ทั้งนี้ ลูซอนได้เคยกล่าวไว้ว่า เขาจะไม่ผ่านร่างกฎหมาย The Treaty Principles bill เป็นกฎหมายแน่นอนถึงว่าเขาจะอยู่ร่วมรัฐบาลผสมกับพรรคของซีมัวร์ก็ตาม

ที่มา : MgrOnline