ปลัด สธ. ย้ำผู้บริหารเดินหน้าลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยกระดับบริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

เผยแพร่ : 19 พ.ย. 2567 20:58:46
X
• เน้นขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
• พัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะและโรงพยาบาลทันตกรรม
• มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยี

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ย้ำร่วมกันการขับเคลื่อนงานสำคัญ ทั้งการลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะ โรงพยาบาลทันตกรรม ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีคุณภาพและความปลอดภัย พร้อมมอบโล่รางวัล SAP Award สุดยอดโรงพยาบาลปรับโฉมดีเด่น และโรงพยาบาลเอกลักษณ์โดดเด่น 9 แห่ง เป็นต้นแบบขยายผลให้ทุกโรงพยาบาล “น่าชม ร่มรื่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

วันนี้ (19 พฤศจิกายน 2567) ที่ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 โดยได้เน้นย้ำการดำเนินงานสำคัญในปีงบประมาณ 2568 ทั้งการรณรงค์คนไทยห่างไกล NCDs ด้วยการปรับพฤติกรรมการกินแบบนับคาร์บ การพัฒนาเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ บนพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้การพัฒนาระบบบริการตามแนวคิด One Province One Hospital และเดินหน้าการพัฒนาโรงพยาบาลทันตกรรม ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น รวมทั้งจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาในโรงพยาบาลให้ได้อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะแก่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขสาขาวิชาชีพต่างๆ

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ ยังได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนางานของหน่วยงานในพื้นที่ 3 เรื่อง คือ 1.ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน แหล่งท่องเที่ยวปลอดภัย ของโรงพยาบาลเขาค้อ เป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีโรงพยาบาลเข้าค้อ สาขา 1 เป็นสถานบริการหลัก และ โรงพยาบาลเขาค้อสาขา 2 ดูแลคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว และมีนวัตกรรม “เที่ยวเขาค้อปลอดภัย อุ่นใจไปกับ EMS GIS system Khaokho” ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีการพัฒนาระบบ Tele-ambulance ในการออกเหตุและรับส่งต่อผู้ป่วย, ติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ในสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ จักรยานยนต์ฉุกเฉิน (Motorlance) ช่วยให้ทีมแพทย์เข้าถึงพิกัดในระยะ 10 กม. ภายในเวลา 8 นาที ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตสูงถึง 96.36%

2.การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ของโรงพยาบาลหล่มสัก ที่มีทีมเวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงระบบการรักษา ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพตั้งแต่ระยะแรก และติดตามถึงบ้าน/ชุมชน พร้อมกับวางแผนการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องร่วมกับญาติ และทีมสหวิชาชีพ, ทีม Home health care กตดตามเยี่ยมกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะติดเตียง, ทำบ้านเป็นหอผู้ป่วย (Home Ward) ในกลุ่มผู้ป่วยแผลกดทับ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง, ระบบการแพทย์ทางไกลในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เบาหวานรายใหม่ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ ยังมีเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและบริการคลินิกฝังเข็มด้วย และ 3.ศูนย์ชีวาภิบาลบูรณาการ และ Home Ward ของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า ที่พัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงอายุที่มีแนวโน้มผู้เข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น มีระบบการดูแลประคับประคอง การดูแลระยะยาว ทั้งในรูปแบบผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และการดูแลที่บ้านหรือสถานชีวาภิบาลในชุมชน ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบองค์รวม ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว

โดยก่อนการประชุม มีการมอบโล่รางวัลยกระดับหน่วยบริการดีเด่น (SAP Award) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับสุดยอดโรงพยาบาลปรับโฉมดีเด่น และ โรงพยาบาลเอกลักษณ์โดดเด่น ที่ได้รับการโหวตผ่านเพจเฟสบุ๊ก I Love MOPH จำนวน 9 รางวัล แบ่งเป็น 1) โรงพยาบาลปรับโฉมดีเด่น ประเภท รพศ./รพท. อันดับที่ 1 โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อันดับที่ 2 โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช อันดับที่ 3 โรงพยาบาลลำปาง จังหวัดลำปาง 2) โรงพยาบาลปรับโฉมดีเด่น ประเภท รพช. อันดับที่ 1 โรงพยาบาลสีชมพู จังหวัดขอนแก่น อันดับที่ 2 โรงพยาบาลค้อวัง จังหวัดยโสธร อันดับที่ 3 โรงพยาบาลวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร และ 3) โรงพยาบาลเอกลักษณ์โดดเด่น อันดับที่ 1 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี อันดับที่ 2 โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี อันดับที่ 3 โรงพยาบาลแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบให้ทุกโรงพยาบาลนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลที่ “น่าชม ร่มรื่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ต่อไป

ที่มา : MgrOnline