กรมวิทย์ฯ บริการ ผนึกกำลัง มช. เดินหน้าวิจัยพัฒนาวัสดุทางการแพทย์ เสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ
เผยแพร่ : 19 พ.ย. 2567 19:06:16
• มุ่งพัฒนาวัสดุทางการแพทย์ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม
• เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ
กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินหน้าสร้างความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข และตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งผลักดันงานวิจัยที่เสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ ดร.เอกรัฐ มีชูวาศ ผู้อำนวยการศูนย์ห้องปฎิบัติการอ้างอิงทางฟิสิกส์ สถาบันห้องปฎิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ กรมวิทย์ฯ บริการ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุทางการแพทย์ ได้ประชุมหารือความร่วมมือกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย รศ.ดร.อาทิตย์ พวงมะลิ รองคณบดีด้านวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และ รศ.ดร.ศิริประภา แก้วแจ้ง ณ ห้องประชุมภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การประชุมความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อวางกรอบงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์และนำไปใช้งานจริง โดยหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ การพัฒนานวัตกรรมวัสดุกำบังรังสีจากเศษภาชนะแก้วบรรจุภัณฑ์ยา สำหรับงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำภาชนะแก้วบรรจุภัณฑ์ยาใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง เพื่อลดปริมาณขยะ เสริมสร้างความยั่งยืน และพัฒนาวัสดุกำบังรังสีที่มีประสิทธิภาพสูงได้เองในประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการรักษาของประชาชน
อธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาวัสดุกำบังรังสีสำหรับใช้ในงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยระบุว่า ภาชนะบรรจุภัณฑ์ยาจำนวนมากในปัจจุบันถูกทิ้งเป็นขยะและจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดเป็นจำนวนมาก การนำวัสดุเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่และนำมาพัฒนาเป็นวัสดุกำบังรังสี เป็นวิธีที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังช่วยพัฒนาวัสดุสำหรับการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง และมีคุณสมบัติกำบังรังสีได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประยุกต์ใช้ในงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ที่ใช้รังสีในกระบวนการรักษาและวินิจฉัยโรค เช่น มะเร็ง และโรคทางสมอง ซึ่งช่วยให้การรักษามีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน ความร่วมมือครั้งนี้นอกจากจะสนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวง อว. ที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมวัสดุที่ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการนี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัสดุกำบังรังสีได้เอง ลดการพึ่งพาวัสดุจากต่างประเทศ และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยให้แข็งแกร่งขึ้นในระดับสากล
ด้วยความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างกรมวิทย์ฯ บริการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จะกลายเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการพัฒนาวัสดุทางการแพทย์และวัสดุกำบังรังสี โดยกรมวิทย์ฯ บริการมุ่งมั่นที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ที่มา : MgrOnline