ปตท.ฟุ้งปี68โตขึ้นจากธุรกิจE&P-โรงแยกก๊าซฯ เร่งหาพันธมิตรธุรกิจปิโตรฯการกลั่น-อินโนบิกชัดเจนปีหน้า

เผยแพร่ : 19 พ.ย. 2567 18:35:01
X
• การเติบโตมาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นและโรงแยกก๊าซฯใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น
• ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นคาดว่าจะทรงตัว
• ปตท. จะใช้ที่ปรึกษาหาพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุนในธุรกิจ

ปตท.ตั้งเป้าปี68 ผลดำเนินงานเติบโตจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเติบโตขึ้นจากปริมาณการผลิตที่เพิ่ม รวมทั้งโรงแยกก๊าซฯมีการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น ส่วนปิโตรเคมีและการกลั่นทรงตัว แย้มจ้างที่ปรึกษาฯมาร่วมหาพาร์ทเนอร์มาร่วมทุนในธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี รวมทั้งอินโนบิกคาดว่ามีความชัดเจนในปีหน้า ส่วนโครงการผลิตรถอีวีอยู่ระหว่างเจรจาให้Foxconn เป็นแกนนำแทน หลังเบรกก่อสร้างโรงงานอยู่

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่าในปี2568 คงเป็นปีที่มีความท้าทายต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกเติบโต 3% ธุรกิจก๊าซฯและน้ำมันมีความผันผวนจากความจัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ โดยธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตให้ปตท.คือ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ซึ่งในปีหน้า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือปตท.สผ.จะมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จะมีการใช้อัตราการผลิตที่สูงขึ้นด้วย ทำให้ปตท.รักษาการทำกำไรได้ดี ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน่าจะทรงตัว โดยค่าการกลั่น (GRM)จะต่ำกว่าปี2567 ส่วนปิโตรเคมีอยู่ในวัฏจักรตกต่ำทำให้ไม่มีการลงทุนใหม่เพิ่มอีก

ส่วนธุรกิจไฟฟ้า มีGPSCเป็นแกนนำ จะทำหน้าที่ซัพพลายไฟฟ้าให้กลุ่มปตท.อย่างมั่นคง โดยกระบวนการผลิตต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพื่อให้เป็นไฟฟ้าสะอาด รวมทั้งศึกษาธุรกิจไฮโดรเจนและSMR ส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศก็ยังลงทุนต่อไป

นอกจากนี้ ปตท.ยังดำเนินการลดค่าใช้จ่าย มีการทำOperation Excellence การนำระบบดิจิทัลมาใช้ ทำให้ธุรกิจมีกำไร อย่างยั่งยืน ซึ่งปีหน้าเราตั้งค่าใช้จ่าย Zero Growth จากปีนี้ที่ดำเนินการปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆลงมาได้ถึง 8% รวมทั้งการรับรู้การขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ฯของบริษัทลูกลดลง

ส่วนความคืบหน้าการหาพันธมิตรร่วมทุนในธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น หรือ Downstream นั้น ปัจจุบันเริ่มขบวนการหาพันธมิตรแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาพันธมิตร โดยปตท.ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วยพิจารณาและมองหาพันธมิตรที่มีศักยภาพทั่วโลก เพื่อเข้ามาสนับสนุนความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ซึ่งพาร์ทเนอร์ใหม่ที่จะเข้ามาถือหุ้นนั้นจะต้องมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ โดยมีวัตถุดิบ หรือมีตลาด และเทคโนโลยีที่ดีเพื่อให้บริษัท Flagship แข็งแกร่งขึ้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2568 โดยปตท.ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และกำหนดนโยบายบริษัท

ส่วนโครงการโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยร่วมทุนระหว่างอรุณ พลัสในเครือปตท. ถือหุ้น60% กับFoxconn ไต้หวัน ถือหุ้น40%นั้น เนื่องจากภาพรวมตลาดรถอีวีในประเทศเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการรถอีวีจากจีนมาลงทุนตั้งโรงงานในไทยและมีการแข่งขันราคาอย่างรุนแรงในตลาดโลก ดังนั้นเราจึงเจรจากับFoxconnที่มีความชำนาญในธุรกิจนี้ให้เป็นแกนหลัก (ลีด)แทน และพร้อมหากจะมีการดึงพันธมิตรใหม่เข้าเพิ่ม

ปัจจุบันได้ยุติการก่อสร้างโรงงานผลิตรถอีวีไปก่อน ซึ่งโรงงานตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยกำลังผลิตเฟสแรกที่ 50,000 คัน/ปี อย่างไรก็ดีในธุรกิจ EV Value Chain ปตท.สนใจในธุรกิจสถานีชาร์จอีวี (EV Charging) โดยจะเร่งขยายการลงทุน โดยให้ORเป็นผู้ลงทุนในPTT Station รวมทั้งนอกปั๊มน้ำมันเช่น คอนโดมิเนียม บ้านเรือน ฯลฯภายใต้แบรนด์เดียว

สำหรับธุรกิจ Life Science ภายใต้บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ดี แต่ปตท.ไม่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญ ไม่สามารถตัดสินใจแบบวันต่อวันได้ จึงมีแผนที่จะแยกบริษัทออกมา แล้วหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาถือหุ้นเพื่อมาช่วยบริหารงาน ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก คาดว่าต้นปี2568 จะมีความชัดเจน

นายคงกระพัน กล่าวถึงงบการลงทุน5ปีข้างหน้าว่า ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างการจัดทำงบการลงทุนในปี2568และงบลงทุน 5ปีข้างหน้า (2568-2572) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯอนุมัติในกลางเดือนธันวาคมนี้ เบื้องต้นงบลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นในธุรกิจหลัก (Core Business )โดยเฉพาะในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและท่อส่งก๊าซฯ

ส่วนกรณีที่ 28 บริษัทผู้รับเหมาช่วง ร่วมกันลงสัตยาบันที่จะไม่ดำเนินงานก่อสร้างในโครงการพลังงานสะอาด(CFP) ของไทยออยล์ หากไม่ได้รับการชำระหนี้เก่าทั้งหมดจากผู้รับเหมาหลัก UJV ที่ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte., Ltd. และ Saipem Singapore Pte., Ltd.)รวมเป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาทนั้น นายคงกระพัน กล่าวว่า ปตท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ตั้งทีมงานเพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำไทยออยล์ทั้งด้านกฎหมาย เนื่องจากโครงการCFPเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งไทยออยล์ถือเป็นธุรกิจที่มีกำไร มีเม็ดเงินลงทุนโครงการ โดยมองว่า การก่อสร้างโรงงานจะเดินหน้าต่อไป

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2 % เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม 2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6%

โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล

“ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต”

ที่มา : MgrOnline