ฝีมือใครอีก! สายเคเบิลใต้ทะเลบอลติกขาดอีก 2 เส้น เยอรมนี-ฟินแลนด์คาดเป็นการ ‘ก่อวินาศกรรม’
เผยแพร่ : 19 พ.ย. 2567 11:28:35
• เส้นทางที่เสียหายรวมถึงเส้นที่เชื่อมระหว่างฟินแลนด์และเยอรมนี
• เกิดความกังวลว่าเหตุการณ์นี้เป็นการก่อวินาศกรรม
• ประเทศและบริษัทที่เกี่ยวข้องกำลังสอบสวนหาสาเหตุ
สายเคเบิลใยแก้ว 2 เส้นที่ใช้รับส่งข้อมูลสื่อสารผ่านทะเลบอลติกถูกตัดขาด รวมถึงเส้นที่เชื่อมระหว่างฟินแลนด์กับเยอรมนี ทำให้ประเทศและบริษัทที่เกี่ยวข้องออกมาตั้งข้อสงสัยว่านี่จะเป็นการ “ก่อวินาศกรรม” โดยกลุ่มผู้ไม่หวังดีหรือไม่
เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นยังทำให้หลายฝ่ายนึกไปถึงกรณีอื่นๆ ที่มีการตรวจสอบแล้วว่า อาจเกิดจากการก่อวินาศกรรม ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดกับท่อก๊าซและสายเคเบิลใต้ทะเลเมื่อช่วงปีที่แล้ว รวมถึงเหตุท่อก๊าซนอร์ดสตรีมระเบิดเมื่อปี 2022
สายเคเบิลใยแก้วความยาว 1,200 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างกรุงเฮลซิงกิกับท่าเรือรอสต็อกของเยอรมนีหยุดทำงานเมื่อราวๆ 2.00 น. GMT เมื่อวันจันทร์ (18 พ.ย.) ตามข้อมูลจากบริษัทด้านความมั่งคงไซเบอร์และโทรคมนาคม Cinia ของฟินแลนด์
ขณะเดียวกัน สายเคเบิลรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความยาว 218 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างลิทัวเนียกับเกาะกอตลันด์ (Gotland Island) ของสวีเดนก็หยุดทำงานไปในเวลาประมาณ 8.00 น. GMT ของวันอาทิตย์ (17) ตามข้อมูลของบริษัทโทรนาคม Telia Leituva ในลิทัวเนีย
รัฐบาลฟินแลนด์และเยอรมนีได้ออกคำแถลงร่วมระบุว่า “มีความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีสายเคเบิลใต้ทะเลถูกตัด” และกำลังเร่งสืบหาความจริง “เกี่ยวกับเหตุการณ์ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยในทันทีว่า จะเป็นการจงใจก่อความเสียหายหรือไม่”
คำแถลงร่วมยังระบุด้วยว่า ความมั่นคงปลอดภัยของยุโรปกำลังถูกคุกคามโดยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน “รวมถึงสงครามไฮบริดอันเป็นฝีมือของพวกผู้ไม่หวังดี” ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าหมายถึงใคร
“การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานร่วมที่จำเป็นยิ่งยวดถือว่าสำคัญต่อความมั่นคงและความอดทนยืดหยุ่นในสังคมของพวกเรา”
ด้าน ออดรีอุส สตาซิอูไลทิส โฆษกของ Telia Leituva เปิดเผยว่ายังมีสายเคเบิลอีกเส้นหนึ่งที่ถูกตัดขาดเช่นกัน โดยเป็นสายเคเบิลของบริษัท Arelion ของสวีเดนที่ใช้เพื่อการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตของ Telia Leituva
“จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องหาคำตอบให้ได้ชัดเจนว่า ทำไมสายเคเบิล 2 เส้นในทะเลบอลติกถึงไม่ทำงาน” คาร์ล-ออสการ์ โบห์ลิน รัฐมนตรีกระทรวงป้องกันพลเรือนสวีเดน ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ STV
ทะเลบอลติกซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปเหนือถือเป็นเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ที่สำคัญ และมีอาณาเขตติดกับ 9 ประเทศ รวมถึงรัสเซีย
อารี-จุสซี คนาปิลา ซีอีโอของ Cinia ระบุในงานแถลงข่าวว่า จุดที่สายเคเบิลเชื่อมฟินแลนด์กับเยอรมนีเสียหายนั้นอยู่ใกล้ๆ กับตอนใต้ของเกาะโอลันด์ (Oland Island) ของสวีเดน และอาจต้องใช้เวลาประมาณ 5-15 วันในการซ่อมแซม
ย้อนไปเมื่อช่วงปีที่แล้ว ท่อก๊าซใต้ทะเล 1 เส้นและสายเคเบิลรับส่งสัญญาณสื่อสารใต้ทะเลบอลติกอีกหลายเส้นก็ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความหวั่นวิตกไปทั่วภูมิภาค
พนักงานสอบสวนของฟินแลนด์และเอสโตเนียได้แถลงในปี 2023 ว่า เรือสินค้าจีนลำหนึ่งน่าจะเป็นตัวการลากสมอจนทำให้สายเคเบิลถูกทำลาย แต่ก็ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือการกระทำโดยจงใจ
ในปี 2022 ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับเยอรมนีในทะเลบอลติกก็ถูกระเบิดจนพังเสียหาย ซึ่งเป็นคดีที่ทางการเยอรมนียังอยู่ระหว่างสืบสวนหาต้นตอ
ที่มา : รอยเตอร์
ที่มา : MgrOnline