วัตถุมงคล : พุทธหรือพราหมณ์

เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 15:59:59
X
• ความหมายตามตัวอักษร: สิ่งของที่ดีงามหรือเป็นมงคล
• ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป: สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้โชคลาภ, ปกป้องคุ้มครอง, และเสริมเมตตามหานิยม
• ความหมายขึ้นอยู่กับเจตนา: ความหมายและคุณสมบัติของวัตถุมงคลขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้สร้าง

คำว่า วัตถุมงคล แปลตามตัวอักษรว่าสิ่งที่เป็นมงคลหรือสิ่งที่ดีงาม แต่ความหมายที่ประชาชนคนทั่วไปเข้าใจหมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้โชคให้ลาภ ปกป้องคุ้มครองอันตราย เมตตามหานิยม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้สร้างวัตถุมงคลประเภทนั้น และความเชื่อของผู้ที่นำวัตถุมงคลไปบูชาด้วย

ส่วนว่าเมื่อนำไปบูชาแล้วจะได้ผลจริงหรือไม่ ไม่มีใครกล้ารับประกันและในขณะเดียวกัน ไม่มีใครกล้าปฏิเสธโดยสิ้นเชิง จึงกลายเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีเกจิอาจารย์ทั้งที่เป็นพระภิกษุและคฤหัสถ์ ได้สร้างวัตถุมงคลเป็นรูปของเกจิอาจารย์เอง รูปของสัตว์เช่นครุฑ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งรูปอวัยวะเพศของคนเช่น ปลัดขิก เป็นต้น

เมื่อผู้มีจิตศรัทธาในเกจิอาจารย์ได้นำวัตถุมงคลไปบูชา บางคนก็ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ บางคนก็ไม่ได้
ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะยอมรับหรือปฏิเสธ 100% จึงได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

2. ถ้าพิจารณาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าด้วยอภิญญาหรือความรู้อันยิ่งยอด 6 ประการคือ

2.1 อิทธิวิธาหรืออิทธิวิธิได้แก่ ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

2.2 ทิพพโสตได้แก่ ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์

2.3 เจโตปริยญาณได้แก่ ญาณที่กำหนดใจคนอื่นได้

2.4 ปุพเพนิวาสานุสติได้แก่ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้

2.5 ทิพพจักขุได้แก่ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์

2.6 อาสวักขยญาณได้แก่ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป

จากคำสอนข้างต้น เป็นการยืนยันได้ว่า ถ้าเกจิอาจารย์ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุอภิญญาข้อ 1-5 ก็สามารถสร้างวัตถุมงคลให้มีอิทธิปาฏิหาริย์ได้จริง และมีตัวอย่างให้เห็นประจักษ์นานแล้วหลายท่านเช่น หลวงปู่ทวด และสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง ที่ยืนยันได้ว่าการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์มีอยู่จริง จะเห็นได้จากคำสอนของพระพุทธเจ้าในเกวัฏฏสูตร ซึ่งมีเนื้อความโดยย่อดังนี้

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงปาวาริกัมพวัน ใกล้เมืองนาลันทา ณ ที่นั้นบุตรของคฤหบดีชื่อ เกวัฏฏะ ได้เข้าเฝ้าขอให้ทรงชวนภิกษุผู้แสดงปาฏิหาริย์ได้ให้แสดงก็จะมีคนเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามากยิ่งขึ้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์มิได้แสดงธรรมว่า ภิกษุทั้งหลาย จงแสดงปาฏิหาริย์แก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาว
แม้ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 บุตรคฤหบดีชื่อ เกวัฏฏะ ก็ยังยืนยันจะให้ทรงชวนภิกษุผู้แสดงปาฏิหาริย์ได้แสดงปาฏิหาริย์ ก็จะมีคนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคมากยิ่งขึ้น

พระผู้มีพระภาค จึงทรงชี้แจงว่าปาฏิหาริย์ที่ทรงทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่ง (อภิญญา) ด้วยพระองค์เอง และประกาศแล้วมีอยู่ 3 อย่างคือ

1. อิทธิปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์

2. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ตัดใจ ทายใจได้เป็นอัศจรรย์

3. อนุสสานีปาฏิหาริย์ สั่งสอน (มีเหตุมีผล) เป็นอัศจรรย์

แล้วทรงอธิบายวิธีแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ แล้วสรุปว่าคนที่ไม่มีความเชื่อ ไม่มีความเลื่อมใสก็อาจกล่าวได้ว่า ภิกษุที่แสดงฤทธิ์ได้เพราะมีคันธารวิชชา (วิชา) ของชาวคันธาระ)

อาเทสนาปาฏิหาริย์ตัดใจ ทายใจได้ คนที่ไม่มีความเชื่อ ไม่มีความเลื่อมใสก็อาจกล่าวได้ว่า ภิกษุที่ตัดใจ ทายใจได้ก็เพราะมีมาณิกาวิชา

โดยนัยแห่งพระสูตรนี้ เป็นการยืนยันว่า การแสดงฤทธิ์ในรูปแบบต่างๆ มีอยู่จริง และพระภิกษุในพุทธศาสนาที่บรรลุอภิญญาก็ทำได้

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการที่เกจิอาจารย์สร้างวัตถุมงคล และทำให้บังเกิดผลในรูปแบบต่างๆ เป็นไปได้จริง แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า เกจิอาจารย์ท่านนั้นจะต้องฝึกจิตถึงขั้นได้อภิญญา และผู้ที่นำวัตถุมงคลไปบูชาจะต้องยึดมั่นในคุณงามความดีของเกจิท่านนั้น

ส่วนประเด็นว่า การสร้างวัตถุมงคลเป็นของศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์นั้น ตอบได้ว่ามีอยู่ทั้งพุทธและพราหมณ์เพราะทุกศาสนาสามารถฝึกจิตให้เข้าถึงอภิญญาข้อ 1-5 ได้ แต่ถ้าไม่เข้าถึงข้อ 6 ก็อาจเข้าข่ายเป็นมิจฉาสมาธิได้

ที่มา : MgrOnline