(คลิป)ชาวบ้านโคราชเฮ! วัดสร้างศาลาคร่อมทับปราสาทหินโบราณอายุพันปี ยอมรื้อแล้ว หลังยื้อมากว่า 2 ปี
เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 15:56:55
• วัดแห่งหนึ่งสร้างศาลาคร่อมทับปราสาทหินโบราณอายุนับพันปี
• วัดยอมรื้อถอนศาลาออกแล้ว
• ปราสาทหินโบราณจะได้รับการอนุรักษ์ต่อไป
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา – ชาวบ้าน อ.ห้วยแถลง โคราช เฮลั่น วัดสร้างศาลาคร่อมทับปราสาทหินโบราณอายุนับพันปี ยอมรื้อแล้ว หลังชาวบ้านต่อสู้ทวงคืนยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี
จากกรณีที่ชาวบ้านในอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา รวมตัวใช้สิทธิชุมชนทวงคืนปราสาทหินโบราณอายุนับพันปี หลังจากที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทได้เข้ามาใช้พื้นที่โบราณสถาน สร้างอาคารปฏิบัติธรรมคร่อมทับลงกลางตัวปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน ซึ่งชาวบ้านได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ จนกระทั่งกรมศิลปากร มีคำสั่งลงวันที่ 29 กันยายน 2565 ให้รื้ออาคารศาลาปฏิบัติธรรมที่ปลูกสร้างในพื้นที่โบราณสถานออก เพราะเป็นการก่อสร้างโดยไม่ขออนุญาตอธิบดีกรมศิลปากร แต่ทางที่พักสงฆ์ได้ส่งทนายร้องศาลปกครองให้คุ้มครองคำสั่งรื้อถอนรื้อถอนจนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้ยกคำร้องการคุ้มครองคำสั่งรื้อถอนไปแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา แต่การดำเนินการรื้อถอนยังคงไม่สามารถทำได้เนื่องจากที่พักสงฆ์ได้ยื่นขอประวิงเวลาเรื่อยมา
จนกระทั่ง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกโบราณสถานและการรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างในเขตโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน โดยมีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมด้วยส่วนงานราชการทั้งในระดับจังหวัดและในระดับท้องถิ่นเป็นคณะทำงาน ซึ่งล่าสุดนายรุ่งนภา พันทองบุตร ผู้ใหญ่บ้านตะเคียนทอง หมู่ 14 หนึ่งในคณะทำงานฯรื้อถอน ได้เดินทางเข้าตรวจสอบบริเวณศาลาปฏิบัติธรรมที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทที่ปลูกค่อมทับตัวปราสาทหิน พบว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ของวัดกำลังรื้อถอดชิ้นส่วนฝ้าและโครงสร้างหลังคาบางส่วนออกแล้ว ซึ่งทางวัดได้ยื่นหนังสือกับคณะกรรมการรื้อถอนฯ ว่าจะรื้อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ที่จะถึงนี้
จากการสอบถามไปยังสำนักศิลปากรที่10นครราชสีมา ทราบว่า ในขณะนี้เป็นการรื้อย้ายโครงสร้างหลังคาและชิ้นส่วนที่ไม่กระทบกับตัวปราสาทหินโดยตรง ซึ่งได้ให้เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบเป็นระยะ โดยหลังจากนี้หากถึงขึ้นตอนการรื้อถอนพื้นและผนังคอนกรีตที่ส่งผลโดยตรงต่อการกดทับโครงสร้างของตัวปราสาท ทางกรมศิลปากรจะเข้ามาดำเนินการเองเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวโบราณสถาน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันถึงการรวมพลังต่อสู้ของชาวบ้านมาตลอด 2 ปีโดยไม่มีย่อท้อถึงแม้จะถูกแจ้งความดำเนินคดีหลายคดีระหว่างชาวบ้านและผู้นำชุมชนกับที่พักสงฆ์ผู้บุกรุก ซึ่งหลายคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล แต่ถึงท้ายที่สุดแล้วความถูกต้องยุติธรรมก็ไม่มีอะไรที่จะสามารถเอาชนะได้
ที่มา : MgrOnline