ตะลึง! พบเด็กตรังหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6.5 พันคน

เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 15:06:09
X
• สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตรังจะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสาเหตุ
• มีแผนจะดึงเด็กทั้งหมดกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
• เป็นการขานรับนโยบาย Thailand zero dropout ของรัฐบาล

ตรัง - พบเด็กตรังหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6.5 พันคน ศึกษาธิการสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อแก้ปัญหาและหาวิธีการดึงเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ทั้งหมด ขานรับนโยบาย Thailand zero dropout

วันนี้ (18 พ.ย.) ตามที่ น ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกหนังสือคำสั่ง สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 373/2567 แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ ซึ่งในส่วนของจังหวัดตรังได้ขานรับนโยบายดังกล่าว เรียกโรงเรียนในสังกัดศึกษาธิการจังหวัดตรัง โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนทัองถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม เพื่อสำรวจจำนวนนักเรียนที่หลุดออกระบบการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และหาสาเหตุที่ทำให้นักเรียนหลุดออกนอกระบบเป็นรายบุคคล

นางอรทัย เกิดภิบาล ศึกษาธิการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังตั้งเป้าจะดึงเด็กนอกระบบการศึกษาเข้ามาสู่ระบบการศึกษาให้ได้ และนำข้อมูลของเด็กเหล่านี้มาพัฒนาตามศักยภาพ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย แต่หากมีเด็กคนไหนต้องการเพิ่มทักษะทางวิชาชีพ ก็มีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่คอยสนับสนุน เพื่อให้เขามีงานทำและมีรายได้

ทั้งนี้ เฉพาะจังหวัดตรังมีเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา จำนวน 6,553 คน ส่วนใหญ่เป็นช่วงอายุ 12-18 ปี ที่จบการศึกษาภาคบังคับ แต่ไม่ได้เรียนต่อในการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีสาเหตุแตกต่างกัน เช่น บางคนมีปัญหาเรื่องฐานะครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องออกไปประกอบอาชีพ และมีบางส่วนที่ได้รับการแนะแนวไม่ถูกต้อง แต่หลังจากนี้จะใช้เครือข่ายนำพวกเขากลับมาเข้าระบบ

นายสถาพร มุ่งเพียรมั่น กรรมการที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจังหวัดตรัง กล่าวว่า จะทำให้เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาเหล่านี้กลับเข้าระบบให้ได้ทั้ง 6,553 คน โดยผ่านคณะทำงาน Trang zero dropout ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาอุตสาหกรรม และสถานศึกษาทุกสังกัด ซึ่งได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ มาขับเคลื่อนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตรัง เขต 1 และ เขต 2 โดยเป็น 1 ใน 13 จังหวัดนำร่อง เพื่อนำนักเรียนกลับเข้าระบบ และส่งต่อให้ 1 โรงเรียนใน 3 รูปแบบ ซึ่งจะมีการประเมินเด็กตามความต้องการที่เขาต้องการเรียนรู้ และเมื่อผ่านการประเมินจะสามารถออกหลักฐานการจบการศึกษาได้ สามารถนำไปทำงานมีรายได้และนำภาษีเข้าประเทศต่อไป

ที่มา : MgrOnline