ขนมปังโฮลวีท ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค
เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 08:56:54
• อาจดีต่อสุขภาพมากกว่าขนมปังขาว
• ประโยชน์ต่อสุขภาพขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่รับประทาน
คุณค่าทางโภชนาการของ ขนมปังโฮลวีท
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ขนมปังโฮลวีท 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 254 กิโลแคลอรี่ รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
คาร์โบไฮเดรต 43.1 กรัม
โปรตีน 12.3 กรัม
ไขมัน 3.55 กรัม
โซเดียม 450 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 250 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 212 มิลลิกรัม
แคลเซียม 163 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 76.6 มิลลิกรัม
วิตามินซี 55 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม
โคลีน (Choline) 27.2 มิลลิกรัม
ซีลีเนียม (Selenium) 25.8 ไมโครกรัม
นอกจากนี้ ขนมปังโฮลวีท ยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แมงกานีส เหล็ก ทองแดง สังกะสี กับวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 อย่างไรก็ตาม ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุในขนมปังขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ว่าได้เสริมวิตามินและแร่ธาตุเข้าไปในระหว่างการผลิตมากน้อยเพียงใด
ประโยชน์ของขนมปังโฮลวีทต่อสุขภาพ
ขนมปังโฮลวีทอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของขนมปังโฮลวีท ดังนี้
1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Plant Foods for Human Nutrition ปี พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการบริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีไม่ขัดสีต่อระดับไขมันในช่องท้อง โดยนักวิจัยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองชาวญี่ปุ่นจำนวน 50 ราย ซึ่งมีค่าดัชนีมวลกายเท่ากับหรือมากกว่า 23 ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีไม่ขัดสี ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีขัดสี เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์เท่า ๆ กัน เมื่อครบระยะเวลาทดลอง พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มที่บริโภคอาหารและขนมปังที่ทำจากข้าวสาลีไม่ขัดสี มีระดับไขมันในช่องท้องลดลงประมาณ 4 ตารางเซนติเมตร ขณะที่อีกกลุ่มไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในช่องท้อง แต่พบว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
2. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร BMJ ปี พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมถึงสาเหตุการเสียชีวิตอื่น ๆ โดยนักวิจัยศึกษางานวิจัยจำนวน 45 ชิ้น ผลสรุปว่า การบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ด รวมถึงขนมปังหรือซีเรียลที่ทำจากธัญพืชเต็มเมล็ด อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
3. อาจช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิดได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ปี พ.ศ. 2554 ศึกษาเรื่องใยอาหาร ธัญพืชเต็มเมล็ด และความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยนักวิจัยได้ศึกษางานวิจัยจำนวน 25 ชิ้น พบข้อสรุปว่า การบริโภคใยอาหารในปริมาณมาก โดยเฉพาะจากธัญพืชเต็มเมล็ด อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยการบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดในปริมาณ 90 กรัม/วัน อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ราว ๆ 20 เปอร์เซ็นต์ และหากเพิ่มปริมาณอาจยิ่งลดความเสี่ยงได้มากขึ้น
ข้อควรระวังในการบริโภค ขนมปังโฮลวีท
ผู้ที่แพ้ข้าวสาลีควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขนมปังโฮลวีท เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ หากต้องการบริโภคขนมปังธัญพืช ควรเลือกบริโภคขนมปังที่ทำจากข้าวโอ๊ตแทน
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน ยังไม่ควรบริโภคขนมปังโฮลวีท เพราะคาร์โบไฮเดรตบางชนิดในข้าวสาลี อาจเป็นสาเหตุให้อาการกำเริบได้
ที่มา : MgrOnline