เอาแล้วไง! ลือสะพัดไบเดนชิงทิ้งทวน ไฟเขียวยูเครนใช้อาวุธ US โจมตีดินแดนลึกรัสเซีย

เผยแพร่ : 18 พ.ย. 2567 04:45:43
X
• เป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐฯ
• ข้อมูลนี้มาจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 2 คนและแหล่งข่าวใกล้ชิดกับการตัดสินใจ
• การอนุมัติเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566

รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียแล้ว จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อเมริกา 2 คน และแหล่งข่าวใกล้ชิดกับการตัดสินใจในวันอาทิตย์ (17 พ.ย.) ในการกลับลำทางนโยบายครั้งสำคัญของวอชิงตัน เกี่ยวกับความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ยูเครนมีแผนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลลงมือโจมตีเป็นครั้งแรกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวไม่เผยแพร่รายละเอียดใดๆ สืบเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยของปฏิบัติการ

ความเคลื่อนไหวมีขึ้น 2 เดือน ก่อนว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม และมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ส่งเสียงเรียกร้องมานานหลายเดือน ให้อนุญาตกองทัพเคียฟใช้อาวุธสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายทางทหารต่างๆ ของรัสเซีย ที่อยู่ห่างไกลจากชายแดน

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นการตอบโต้กรณีที่รัสเซียประจำการทหารเกาหลีเหนือในภาคพื้น เพื่อสนับสนุนกองกำลังของตนเอง การประจำการที่ก่อความกังวลแก่วอชิงตันและเคียฟ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และแหล่งข่าวใกล้ชิดกับการตัดสินใจ

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน บอกในวันอาทิตย์ (17 พ.ย.) ว่าขีปนาวุธจะ "พูดแทนตัวมันเอง" หลังมีรายงานข่าวว่าวอชิงตันไฟเขียวให้เคียฟโจมตีดินแดนลึกของรัสเซียด้วยขีปนาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ "วันนี้ สื่อมวลชนมากมายระบุว่าเราได้รับอนุญาตให้ดำเนินการอย่างเหมาะสม แต่การโจมตีไม่ใช่คำพูด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ต้องแถลง ขีปนาวุธจะพูดแทนตัวมันเอง"

รัสเซียเคยเตือนว่าพวกเขาจะมองการผ่อนปรนข้อจำกัดยูเครนในการใช้ขีปนาวุธของสหรัฐฯ เป็นการขยายวงสงครามครั้งใหญ่

แหล่งข่าวระบุว่า ปฏิบัติการโจมตีดินแดนลึกครั้งแรกของยูเครน จะดำเนินการด้วยขีปนาวุธ ATACMS ซึ่งมีพิสัยทำการสูงสุด 306 กิโลเมตร

ในขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางส่วนแสดงความเคลือบแคลงสงสัยว่าการอนุญาตให้โจมตีพิสัยไกลจะเปลี่ยนแปลงวิถีสงครามในภาพรวมหรือไม่ แต่พวกเขาเชื่อว่าการตัดสินใจนี้อาจช่วยให้ยูเครนได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเวลานี้กองกำลังยูเครนกำลังรุกคืบได้เรื่อยๆ นอกจากนี้ มันยังเป็นไปได้ที่จะช่วยให้ เคียฟ อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นในการเจรจา หากว่าการเจรจาหยุดยิงกับรัสเซียเกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทรัมป์ จะกลับลำการตัดสินใจของไบเดนหรือไม่ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมา ทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์มาช้านานต่อขอบเขตความช่วยเหลือทางการเงินและการทหารของสหรัฐฯ ที่มอบแก่ยูเครน และประกาศจบสงครามอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากคำอธิบายใดๆ

โฆษกของทรัมป์ ยังไม่ตอบคำถามหลังสื่อมวลชนติดต่อสอบถามความคิดเห็น แต่ ริชาร์ด เกรเนลล์ หนึ่งในที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศ ที่ใกล้ชิดที่สุดคนหนึ่งของทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าว โดยบอกว่า "มันเป็นการทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายก่อนที่เขาจะออกจากตำแหน่ง"

นับตั้งแต่ทรัมป์ได้รับชัยชนะในวันที่ 5 พฤศจิกายน พวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลของไบเดน พูดซ้ำๆ ว่าพวกเขาจะใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ในการรับประกันว่ายูเครนสามารถสู้รบได้อย่างมีประสิทธิภาพในปีหน้า หรือเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย จากสถานะที่เข้มแข็ง

สหรัฐฯ เชื่อว่าทหารเกาหลีเหนือมากกว่า 10,000 นาย ถูกส่งเข้าไปยังภาคตะวันออกของรัสเซีย และส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายไปยังแคว้นคูร์กส์ และเริ่มต้นเข้าพัวพันในปฏิบัติการสู้รบแล้ว

รัสเซีย กำลังรุกคืบในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 แม้มีความสูญเสียอย่างหนัก และยูเครนเผยว่าพวกเขาได้ปะทะกับทหารเกาหลีเหนือบางส่วนที่ประจำการในแคว้นคูร์สก์

ท่ามกลางภาวะขาดแคลนกำลังพล กองกำลังยูเครนสูญเสียดินแดนบางส่วนที่พวกเขายึดครองได้ในเดือนสิงหาคม ในปฏิบัติการจู่โจมแคว้นคูร์สก์ ที่เซเลนสกี เคยกล่าวอ้างว่าเป็นหมากเบี้ยในการต่อรอง

"การปลดข้อจำกัดอย่างเฉพาะเจาะจง จะเปิดทางให้ยูเครนหยุดสู้รบ ในสภาพที่ดีขึ้นเล็กน้อย เหลือถูกมัดมือไพล่หลังเพียงหนึ่งข้าง" อเล็ก พลิตาส เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์กรวิจัย "สภาแอตแลนติก" กล่าว "อย่างไรด็ตามมันก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะชี้ว่าการตัดสินใจนี้มาช้าเกินไป เพียงแค่ ATACMS, HIMARS, ยานรบหุ้มเกราะแบรดลีย์, รถถังเอบรามส์ และเครื่องบินเอฟ-19 พวกเขาต้องการมันเร็วกว่านี้มาก"

แม้มีเสียงเรียกร้องของเซเลนสกี แต่ที่ผ่านมาทำเนียบขาวลังเลที่จะอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธที่สหรัฐฯ จัดหาให้โจมตีเป้าหมายต่างๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย สืบเนื่องจากความกังวลสถานการณ์ลุกลามบานปลาย

พันธมิตรอื่นๆ ของเคียฟ ได้ป้อนอาวุธให้เช่นกัน แต่ก็จำกัดวิธีการและกรอบเวลาในการใช้โจมตีภายในรัสเซีย สืบเนื่องจากความกังวลว่าการโจมตีลักษณะดังกล่าวอาจกระตุ้นการแก้แค้นของมอสโก ที่ลากบรรดาชาติสมาชิกนาโตเข้าร่วมวงสงครามหรือไม่ก็โหมกระพือความขัดแย้งนิวเคลียร์

(ที่มา : รอยเตอร์)

ที่มา : MgrOnline