4 ฝ่ายเตรียมรับกรรม #แบนแม่หยัว “เจ้าของ-คนสั่ง-คนทำ-คนหนุน” ทารุณสัตว์!!?

เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 20:31:16
X
• ผู้กระทำผิดไม่ใช่สัตวแพทย์ แต่เป็นโมเดลลิ่งดูแลสัตว์ของกองถ่าย
• การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายแน่นอน
• คาดว่าประเด็นนี้จะกลับมา "เดือด" อีกครั้ง

เหมือนเรื่องจะเงียบไปแล้ว แต่ที่จริงยัง แถมมีแนวโน้มว่า กำลังจะเดือดกันอีกรอบ เพราะล่าสุด ตรวจสอบพบว่า คนวางยาสลบแมว“ไม่ใช่สัตวแพทย์” แต่เป็นโมเดลลิ่งดูแลสัตว์ของกองถ่าย ซึ่งถือว่ามีความผิดตามกฎหมายแน่นอน!!


ถูกแบนทุกฝ่าย “คนผลิตซีรีส์-คนให้พื้นที่ฉาย”

“#แบนแม่หยัว” ซีรีส์แนวอิงประวัติศาสตร์ไทย จากช่อง “ONE” กำลังจะกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังครั่งก่อนถูกรุมวิจารณ์หนักประเด็น “ทารุณกรรมสัตว์” กับการ “วางยาสลบน้องแมว” เพื่อใช้ในการถ่ายทำ “ฉากกินยาพิษ”
กลายเป็นภาพติดตา ทำร้ายจิตใจคนรักสัตว์ เมื่อเจ้าเหมียวดำในฉาก มีอาการ “ชักกระตุก-ตัวเกร็ง” ไปจนถึง “ขย้อนอ้วก” ออกมา เพื่อสนองคำว่า “สมจริง” ของผู้ผลิต
โดยก่อนหน้านี้ ผู้กำกับซีรีส์อย่าง “สันต์ ศรีแก้วหล่อ”ออกมาชี้แจงแล้วว่า มีการ “วางยาสลบจริง” แต่ได้รับการดูแลจาก “เจ้าของ” และ “ผู้เชี่ยวชาญ”อย่างดีในทุกขั้นตอน

                                   {“ชักกระตุก-ตัวเกร็ง” นี่หรือวิธีที่เหมาะสม?}
ถึงอย่างนั้น “การวางยาสลบ” ก็ยังเป็นที่คลางแคลงและชวนกังวลใจ หลังมีสัตวแพทย์หลายคนออกมาเตือนว่า มัน “อันตรายต่อสัตว์มาก” เพราะอาจไปกดการทำงานของ “ระบบทางหายใจ” และ “ระบบไหลเวียนเลือด” ได้

จากปกติการวางสลบต้องให้สัตว์ “อดอาหาร” อย่างน้อย 12 ชั่วโมง แต่อาการของ “เจ้าเหมียวนักแสดงจำเป็น” กลับมีทั้ง “ชักกระตุก” แถม “อ้วก” ออกมา เหมือน “ไม่ได้อดอาหารก่อนวางยา” จนเกิดคำถามว่า นี่คือความตั้งใจเพื่อให้แมวแสดงอาการเหล่านี้หรือเปล่า?

ถึงตอนนี้ ผลสะท้อนทางลบ ไม่ใช่แค่ “#แบนแม่หยัว” อีกต่อไปแล้ว แต่ลามไปถึง “#แบนช่องONE” รวมถึง แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเจ้าดังอย่าง “Netflix“ ที่โดนพ่วง “#แบนแม่หยัวในNetflix” ไปด้วย


ส่วนนึงเป็นเพราะสังคมยังไม่ได้รับ “ความรับผิดชอบที่ควรได้รับ” นอกจาก “การแบน” นั่นก็คือ “โทษทางกฎหมาย” เมื่อเห็นว่าน่าจะเข้าข่าย “ทารุณกรรมสัตว์”
ลองชวนให้กูรูอย่าง “ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล” เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) มาช่วยวิเคราะห์เคสนี้ เพื่อให้หายข้องใจ

ก่อนอื่นตาม “พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ปี 2557” ดร.สาธิต ชี้ว่า หัวใจหลักของกฎหมายนี้มี 2 ส่วน คือ 1.“การทารุณกรรม” ซึ่งนิยามในกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า…
 คือ “การกระทำ” หรือ “ละเว้นการกระทำ” ใดๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับ “ความทุกข์ทรมาน” ทั้ง “กาย” และ “จิตใจ” หรือทำให้ “เสียชีวิต”


รวมถึงการใช้งานสัตว์ป่วย-พิการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ และ “การใช้สัตว์ประกอบกามกิจ”ถือว่าเป็น “การทารุณกรรมสัตว์”

“ถ้าใครกระทำความผิด มีโทษสูงสุดก็คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ส่วนต่อมาคือ 2.“สวัสดิภาพสัตว์”คือสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ ที่ต้องดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเป็น “หน้าที่” ของ “เจ้าของ” หรือ “คนที่เอาสัตว์ไปใช้งาน” ต้องดูแลตรงนี้ ถ้าละเลย มีโทษปรับสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท

ส่วนเคสที่กำลังเป็นข่าว ถ้ามองจากอาการของแมว กูรูรายเดิมวิเคราะห์ว่า “อาจเข้าข่าย” ทารุณกรรมสัตว์ แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกผ่าย โดยการให้โอกาสพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันก่อน


                                              {“ดร.สาธิต”สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ}
ถ้าพบว่ามีความผิดจริง “คนที่ต้องรับผิดชอบ” อันดับแรกคือ “เจ้าของ” ถ้าเจ้าของสัตว์ “ปล่อยปละละเลย” จนเป็นเหตุให้สัตว์ได้รับความทรมาน หรือมาจาก “การกระทำของเจ้าของเอง” อันดับต่อมา เป็น “ผู้กระทำ” ก็คือ คนที่ทำให้สัตว์เกิดความทุกข์ทรมาน

อันดับที่ 3 “ผู้ใช้” คือคนทำให้เกิดการกระทำนั้น ไม่ว่าจะ “จ้าง” “วาน” หรือ “บังคับ” และอันดับที่ 4 “ผู้สนับสนุน” คือคนที่ช่วยเหลือ ให้ความสะดวก ในการทารุณกรรมนั้น

แต่ที่แน่ๆ ผลการตรวจสอบที่พบว่า คนวางยาสลบแมว “ไม่ใช่สัตวแพทย์” แต่เป็นโมเดลลิ่งดูแลสัตว์ของกองถ่ายนั้น ยังไงก็ถือว่ามีความผิด ตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 และ พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545

ครั้งแล้วครั้งเล่า “อุตสาหกรรมบันเทิง” ที่ทารุณ

จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ในไทยที่ “นักแสดงหน้าขน”ถูก “ทารุณกรรม”เพื่อให้ได้ฉากที่ “สมจริง” สมใจผู้ผลิต ในประเทศเจ้าพ่อแห่งอุตสาหกรรมหนังอย่าง“อเมริกา” ที่แม้จะมีองค์กรสิทธิสัตว์มากมายคอยกำกับ ก็ยังเห็นเรื่องแบบนี้อยู่เรื่อยๆ

แม้แต่หนังที่ได้รางวัลการันตีระดับโลกมากมายอย่าง “Life of Pi (2012)” หนังที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องติดอยู่กับเสือกลางทะเล ถึงส่วนใหญ่เสือที่เป็นตัวเอกของเรื่องอย่าง “ริชาร์ด พาร์กเกอร์” จะใช้ CG ในการสร้างขึ้นมา แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะหนึ่งในฉากที่ต้องใช้เสือถ่ายทำจริง หนังเรื่องนี้ก็เข้าข่าย “ทารุณกรรมสัตว์” เหมือนกัน นั่นคือฉากที่เจ้าเสือต้องตะเกียกตะกายอยู่กลางทะเล ซึ่งทีมงานให้เจ้าเสือเบงกอลตัวจริงที่ชื่อว่า “คิง” โดดลงไปในน้ำจริง จนทำให้เจ้าคิงเกือบจมน้ำตาย


                              {“Life of Pi” หนังรางวัลที่เกือบทำเสือจมน้ำตาย}

และถึงจะเกิดปัญหานี้ขึ้น แต่ในหลายๆ ครั้ง องค์กรพิทักษ์สวัสดิภาพสัตว์ในกองถ่ายของอเมริกา อย่าง “The American Humane Association (AHA)”ก็ยังคงการันตีใต้เครดิตหนังว่า “ไม่มีสัตว์ถูกทำร้ายในการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้”จนเป็นที่เลื่องลือถึงเรื่อง “ผลประโยชน์แอบแฝง”ใน Hollywood
หนังแฟนตาซีผจญภัยฟอร์มยักษ์อย่าง “The Hobbit : An Unexpected Journey (2012)” ก็เจอกับปัญหาที่ซุกใต้พรมแบบนี้เหมือนกัน อย่างที่องค์กรพิทักษ์สัตว์อย่าง “PETA”รายงานว่า มีทั้งม้า, ม้าแคระ และสัตว์อีกหลายตัวถูกทำร้ายระหว่างถ่ายทำ


                         {The Hobbit (2012)” มีรายงานว่า ทำร้ายสัตว์ในกองถ่าย}

หรือหนังโจรสลัดชื่อดังอย่าง “Pirates of the Caribbean : The Curse of the Black Pearl (2003)” ที่สื่อต่างชาติรายงานว่า ระหว่างถ่ายทำพบ “ศพปลาจำนวนมาก” ในทะเล ที่ตายเพราะ “เอฟเฟกต์ระเบิด”ของหนังเรื่องนี้


                           {ปลาตายจาก “ระเบิด” เรื่อง “Pirates of the Caribbean(2003)”}
ยิ่งขุดเหมือนยิ่งพบว่า “อุตสาหกรรมบันเทิง”จะละเลยสวัสดิภาพของสัตว์ จนสุดท้ายกลายเป็นเข้าข่าย “การทารุณสัตว์”อยู่บ่อยครั้ง เช่นเดียวกับที่เพิ่งเกิดในบ้านเรา

ดังนั้น ถ้าอยากให้เคสแมวดำแม่หยัว กลายเคสสุดท้ายในไทยแล้วล่ะก็ เราต้องทำยังไง? กูรูจากสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ บอกว่า...

“ควรมีการประกาศในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อใช้ในการแสดงนะครับ เพื่อให้เกิดความชัดเจน”

สำหรับในบ้านเมืองเรานั้น ประเด็น “สวัสดิภาพสัตว์”ตามกฎหมายกำหนดไว้เพียงภาพกว้างๆ เท่านั้น ยังไม่มีการระบุเอาไว้เฉพาะเจาะจงขนาดนั้นว่า ถ้าจะใช้สัตว์เพื่อการแสดง “ลักษณะ” “ชนิด” และ “อายุ”ของสัตว์ ควรกำหนดไว้แบบไหน หรือมีทำที่ทำได้หรือไม่ได้บ้าง?

ในขณะที่ “การใช้สัตว์เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์” ปัจจุบันมี “กฎหมายเฉพาะ”กำหนดไว้ชัดเจนแล้วคือผู้ขอใช้ประโยชน์ต้องผ่าน “คณะกรรมการ” ตรวจสอบจริยธรรมก่อน แต่ “การใช้สัตว์เพื่อการแสดง” ยังไม่มีระบบแบบนี้



ทั้งนี้ หน่วยหลักที่ดูแลเรื่อง “การทารุณธรรมและสวัสดิภาพสัตว์”คือ “กรมปศุสัตว์” มีอำนาจในการจัดการ ซึ่งล่าสุด รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ออกมาแถลงแล้วว่า อยู่ในขั้นตอนเตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล และถ้าพบว่ามีความผิดจริง จะดำเนินคดีอาญาให้รับโทษต่อไป

อีกมุมจากคนที่ทำงานด้านการปกป้องคุ้มครองสัตว์ในไทย อย่าง ดร.สาธิต มองว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ควรทำคือ เร่งสืบหาข้อเท็จริงให้เร็วที่สุด

“ถ้ามี(การกระทำผิด)นะครับ ในฐานะเจ้าพนักงานก็ควรจะบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด” เพื่อเป็นบรรทัดฐานไม่ให้มีใครกล้า “เอาชีวิตสัตว์มาเสี่ยง” ซ้ำรอยเหตุการณ์ครั้งนี้อีก
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : oned.net, academymuseum.org, rottentomatoes.com


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



ที่มา : MgrOnline