ไลฟ์สไตล์ทำร่างพัง! เปิด 3 โรค 5 จุดอาการปวดรุมเร้า "มนุษย์ทำงาน-สังคมก้มหน้า"

เผยแพร่ : 17 พ.ย. 2567 11:13:51
X
• โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อที่พบมากในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
• ขาดข้อมูล 3 โรคฮิตที่พบบ่อย เนื้อหาต้นฉบับไม่ระบุ จึงไม่สามารถสรุปได้

ปัจจุบันโรคที่คนไทยป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ หนึ่งในกลุ่มโรคเรื้อรังด้านกระดูกและข้อที่พบมากที่สุด คือ อาการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดย 3 โรคฮิตที่พบบ่อยคือ ออฟฟิศซินโดรม นิ้วล็อก และ Text Neck Syndrome และ 5 จุดปวดที่พบบ่อยคือ คอ บ่า ไหล่ หลัง และนิ้วมือ


"ออฟฟิศซินโดรม"

นพ.รณศักดิ์ มงคลรังสฤษฏ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) เล่าถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยพบว่า โรคที่มักพบบ่อยในแผนกกระดูกและข้อจะเป็นอาการปวดเมื่อย โดยเฉพาะ "วัยทำงาน" จะมาด้วยอาการ "ออฟฟิศซินโดรม" โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะมีอาการปวดส่วนบนของร่างกายมากที่สุด คือ ปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก จากการจัดวางโต๊ะและอุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะสม รองลงมาคือปวดหลังส่วนล่างและเอวจากท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ทั้งหมดทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็งตลอดเวลา จนตึงหรืออักเสบนำมาสู่อาการปวดตามจุดต่างๆ เท่าที่ตรวจเคยพบผู้ป่วยอายุ 25 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กวัยรุ่นวัยเรียนจะไม่ค่อยเจอ เพราะแม้จะนั่งเรียนนั่งทำการบ้านเช่นกัน แต่อาจจะมีการขยับตัวมากกว่าวัยทำงาน ไม่ได้นั่งนานๆ ตลอด ร่วมกับระบบข้อต่อและกล้ามเนื้อยังแข็งแรงดีอยู่

การวินิจฉัยจะซักประวัติและตรวจร่างกาย ไม่จำเป็นต้องเอกซเรย์กระดูก เพราะเป็นโรคของกล้ามเนื้อ การรักษาจะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมเป็นหลัก โดยปรับท่านั่งทำงานให้ตำแหน่งความสูงของโต๊ะและเก้าอี้เหมาะสม นั่งชิดพนักพิง อาจมีหมอนเล็กๆ หนุนหลังส่วนล่างเพื่อให้หลังแนบกับเบาะ จัดจอคอมพิวเตอร์ให้ขอบจอด้านบนอยู่ระดับสายตา ไม่ใช่กลางจอ เพราะธรรมชาติของคนเราจะไม่กลอกตาขึ้นบน แต่จะเงยหน้าขึ้นแทน ต่างจากการกลอกตามองล่างที่ทำได้สะดวกกว่า ขณะที่ตำแหน่งคีย์บอร์ดควรอยู่ระดับแขนวางศอกสบายๆ 90 องศา ทำให้ไม่ต้องเอื้อมหรือยกจนเกร็งบ่าโดยไม่รู้ตัว

ที่สำคัญคือควรขยับเปลี่ยนท่าทุก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง โดยลุกขึ้นยืนเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ เพิ่มความแข็งกล้ามเนื้อคอบ่าไหล่ ให้รองรับการใช้งานในสภาวะไม่เหมาะสมจะป้องกันอาการปวดได้ นอกจากนี้ ยังมีการรักษาโดยให้ยาลดอาการปวดและยาคลายกล้ามเนื้อหรือทำกายภาพร่วมด้วย แต่กรณีอาการรุนแรง คือ อาการปวดเรื้อรังรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน บางรายถึงขั้นรบกวนการนอนอาจต้องฉีดยาเพื่อช่วยระงับ
นพ.รณศักดิ์ มงคลรังสฤษฏ์
ส่วนสังคมก้มหน้าใช้มือถือหรือสมาร์ทโฟนมากๆ อาจเกิดอาการชาปลายนิ้วได้ จากการงอข้อศอกนานๆ หรือหักข้อมือนานๆ จนทับเส้นประสาท การรักษาต้องวินิจฉัยตรวจเพิ่มเติมหรือมียารักษาที่จำเพาะระบบประสาท ไม่เฉพาะยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้ออย่างเดียว ถ้าอาการมากอาจต้องผ่าตัด


"นิ้วล็อก"

นพ.รณศักดิ์ อธิบายว่า มักพบผู้ป่วยที่มีไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมในการใช้งาน "มือ" หนักมากๆ ทำให้มีภาวะเส้นเอ็นในการกำนิ้วมืออักเสบ มักจะเป็นกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้แรงงาน ใช้อุปกรณ์เครื่องมือหนักๆ เช่น ช่าง พ่อครัวแม่ครัวที่ต้องใช้มือจับกระทะหรือตะหลิวตลอด พนักงานนวด รวมถึงอาชีพแม่บ้านทำความสะอาด การดูแลรักษาจะเป็นไปตามความรุนแรงของอาการ ได้แก่

1.อาการน้อยหรือเป็นไม่มาก จะเริ่มรู้สึกอาการกำเหยียดนิ้วแล้วมีอาการปวดโคนนิ้ว จะเป็นมากช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า เพราะช่วงนอนหลับมือจะบวมมากกว่าปกติ ทำให้ตื่นมานิ้วเกิดการล็อก แต่ช่วงกลางวันอาการจะหายไป แนะนำให้รีบมาตรวจเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี ป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น อาจจะลดการใช้งานของมือลง แช่มือในน้ำอุ่นและนวดเบาๆ ตำแหน่งที่ปวด

2.อาการรุนแรงขึ้น จะให้รับประทานยาลดการอักเสบ หากยังไม่ดีขึ้น อาการมากขึ้นคือ กำมือไม่ได้ หรือกำได้แล้วเหยียดไม่ได้ อาจต้องฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ถ้ายังกลับมาเป็นซ้ำจะฉีดยา 2 ครั้ง หลังจากนั้นจะแนะนำให้ผ่าตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาตัวจนเป็นพังผืด

"โอกาสกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษานิ้วล็อก หากยังทำงานที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอยู่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้ แต่บางคนที่เกิดจากปัจจัยชั่วคราว เช่น การขนย้ายของ ก็จะไม่กลับมาเป็นซ้ำ", นพ.รณศักดิ์กล่าว


"Text Neck Syndrome"

ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรคกระดูกคอและสันหลัง ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) กล่าวว่า Text Neck Syndrome เป็นภาวะที่เกิดจากการก้มคอเยอะๆ นานๆ ทำให้กระดูกคอ หมอนรองกระดูกคอ และกล้ามเนื้อรอบคอรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ซึ่งศีรษะเรามีน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ยิ่งก้มนานๆ แรงโน้มถ่วงยิ่งมาก น้ำหนักที่กดคอก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยภาวะนี้ได้มากขึ้นจากก้มหน้าใช้มือถือตลอดเวลา

"ยิ่งก้มมากๆ ความถี่ในการปวดคอ แขน ชามือชาแขนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่ายิ่งก้มเยอะยิ่งแย่ ดังนั้น การก้มหน้าอ่านหนังสือหรือใช้มือถือในท่าทางเดิมนานๆ เกิน 2 ชั่วโมงก็จะมีปัญหาได้ ไม่ว่าคอหรือหลัง ยิ่งทำต่อเนื่องนานเท่าไร กล้ามเนื้อยิ่งเมื่อยล้า กระดูกคอยิ่งเสื่อมไว แนะนำว่าควรเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องก้มเยอะๆ ให้ใช้มือถือ อ่านหนังสือ หรือคอมพิวเตอร์ในท่าก้ม ควรปรับมาใช้งานไรือทำกิจกรรมระดับสายตาแทน ควรเปลี่ยนท่าทางทุก 15 นาที และเพิ่มออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบคอให้แข็งแรง จะช่วยพยุงกระดูกคอไม่ให้รับน้ำหนักเยอะ" ผศ.นพ.ปิลันธน์กล่าว
ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา
ผศ.นพ.ปิลันธน์ กล่าวว่า สำหรับอาการกระดูกคอเสื่อม จะปวดคอตรงแกนกลางขึ้นไปถึงท้ายทอยหรือปวดบ่า ถ้ามีหมอนรองกระดูกเคลื่อนจนกดทับเส้นประสาทจะมีปวดร้าวแขน ชาแขน อ่อนแรงได้ บางคนเป็นมากถึงเดินไม่ได้ หรือถ้ากดทับเส้นประสาทที่อยู่ระดับคอ อก หรือหลังช่วงล่าง จะส่งผลต่อการควบคุมการขับถ่าย ไม่สามารถควบคุมหูรูดขับถ่ายได้ อาจมีอุจจาระหรือปัสสาวะราด หรือขับถ่ายเบ่งไม่ออก ถือว่าต้องรีบรักษาโดยด่วน แต่ส่วนใหญ่แล้วที่มารักษาอาการจะไม่รุนแรง มักเป็นอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

"เท่าที่ตรวจรักษาพบได้ทุกวัยทั้งอายุน้อย วัยกลางคน หรือสูงอายุ โดยอายุน้อยสุดคือ 19-20 ปี มาจากการก้มหน้าเยอะๆ จนหมอนรองกระดูกคอเคลื่อน บางคนมีอุบัติเหตุร่วมด้วย หรือไปนวดมาแล้วบิดคอทำให้บาดเจ็บถูกหมอนรองกระดูกได้ ซึ่งห่วงในคนอายุน้อยการก้มนานๆ อาจทำให้กระดูกคอเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ รวมถึงอาจเกิดความชินและเป็นจุดเริ่มต้นโรคอื่นๆ ตามมาได้", ผศ.นพ.ปิลันธน์กล่าว

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อบุคลิกภาพด้วย เพราะบางคนกระดูกคอเสื่อมมากขึ้นทำให้เกิดภาวะคอค่อมลงมา บางคนเกิดจากกล้ามเนื้อที่ชินกับตำแหน่งที่ยืดคอไปข้างหน้าตลอด กรณีนี้จะรักษาโดยให้ฝึกกล้ามเนื้อคอด้านหลังให้แข็งแรงเพื่อยืดคอกลับไปได้ โดยทำเหมือนเต่าหดคอ ให้ดึงคอเกร็งกลับมาหาลำตัวตรงกลาง เกร็งค้างไว้จะกระตุ้นคอด้านหลังให้แข็งแรงขึ้น และควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอรอบด้าน 4 ด้าน โดยเอามือดันศีรษะแล้วออกแรงเกร็งต้านทั้ง 4 ด้าน ทำ 10-15 ครั้งต่อเซ็ต ทำ 5 เซ็ตเช้า และ 5 เซ็ตเย็น จะช่วยลดอาการปวดคอในระยะยาว

ส่วนการรักษาหากอาการของโรคเป็นมาก การออกกำลังกายจะไม่ช่วยทั้งหมด ต้องรับประทานยาและทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ยิ่งควบคุมอาการไม่ค่อยได้ อาจต้องบริหารกล้ามเนื้อคอบ่อยขึ้น ใช้ปริมาณยาเยอะขึ้น และกายภาพถี่ขึ้น หากยังไม่ดีขึ้นอีก ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแทน จะช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เสียเวลารักษาตามอาการ ซึ่งการผ่าตัดขึ้นกับต้นเหตุของโรค หากหมอนรองกระดูกทรุดมากๆ ทำให้ปวดคอ จะผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูก กรณีทับเส้นประสาท การผ่าตัดทำได้หลายรูปแบบขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกด
ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา
ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่าง Text Neck Syndrome และออฟฟิศซินโดรมนั้น ผศ.นพ.ปิลันธน์ อธิบายว่า ออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการหลายอย่างจากการนั่งโต๊ะทำงานออฟฟิศ ทั้งปวดเมื่อยคอบ่าไหล่ กระดูกคอเสื่อม ปวดหลัง แต่ Text Neck Syndrome จะมีอาการที่คออย่างเดียว ไม่รวมตำแหน่งอื่น จึงวินิจฉัยแยกกัน แต่พฤติกรรมนั่งทำงานไม่เหมาะสมและยังใช้มือถือมากๆ ก็ทำให้มีอาการซ้ำทั้งสองโรคได้ การปวดก็จะรบกวนชีวิตประจำวัน มีความถี่และรุนแรงขึ้น
โดยสรุปแล้วทั้ง 3 โรคดัวกล่าว จะมี 5 จุดอาการปวดที่พบได้บ่อยและมีอาการมากกว่าจุดอื่น ได้แก่ อาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดหลัง และปวดนิ้ว การดูแลรักษาแบ่งเป็นสเต็ปขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีอาการเจ็บป่วยแบบใดเกี่ยวกับกระดูกและข้อ นพ.รณศักดิ์ระบุว่า โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มี ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม (PRINCE of Bones) ที่ให้บริการครอบคลุมเกือบทุกอนุสาขาย่อย ทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า-ข้อสะโพกเทียม ผ่าตัดกระดูกสันหลัง สาขากระดูกเท้าและข้อเท้า ผ่าตัดเกี่ยวกับด้านกีฬา (Sport) เป็นต้น โดยพยายามพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีอนุสาขาย่อยให้ครอบคลุม พร้อมมีเจ้าหน้าที่ประจำแผนกให้คำแนะนำหรือคัดกรองโรคที่เกี่ยวกับกระดูกเบื้องต้น มีทีมงานที่เป็นมืออาชีพดูแลในหอผู้ป่วย ประสานกับแพทย์แผนกอื่น เช่น อายุรกรรมร่วมดูแลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เตรียมความพร้อมทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อลดและป้องกันภาวะแทรกซ้อน

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้บริการรักษา อย่างการผ่าตัดก็มีระบบคอมพิวเตอร์มาช่วย หรือหากเป็นผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือด้านการกีฬาจะมีการส่องกล้องผ่าตัดแบบแผลเล็ก ในการผ่าตัดเอ็นข้อเข่า เอ็นหัวไหล่ หรือส่องกล้องผ่าตัดหมอนรองกระดูกที่หลัง ซึ่งเมื่อก่อนการผ่าตัดหลังมีแผลใหญ่มาก ทำให้เสียเลือดมากและมีอาการปวดเยอะ ใช้เวลารักษาฟื้นตัวนาน 4-5 วัน แต่การใช้วีธีส่องกล้อง หรือที่เรียกว่า Minimally Invasive Surgery (MIS) เข้ามาช่วยทำให้แผลเล็กลง อาการปวดลดลง เสียเลือดน้อยลง กล้องมีกำลังขยายสูงมาก ทำให้มองเห็นได้ชัดเจน ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ บางรายใช้เวลาพักฟื้นวันเดียวก็สามารถกลับบ้านได้

ร่วมมือภาครัฐ เพิ่มการเข้าถึงบริการ

นพ.ปรัชญ์ พิพัฒน์วัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ระบุการรอคิวในสถานพยาบาลภาครัฐ ปัจจุบันใช้เวลาค่อนข้างนาน เฉลี่ยอย่างน้อย 6-7 เดือน ผู้ป่วยบางรายอาจรอคิวนานเป็นปี ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนอาจเลือกการรักษาผ่าตัดกับคลินิกนอกเวลา ซึ่งรอคิวผ่าตัดสั้นกว่า 2-3 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการปวดมากและไม่ต้องการรอคิวผ่าตัดนาน โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งและให้ความร่วมมือในการรับผู้ป่วยมาดูแลรักษาในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ช่วยแบ่งเบาภาครัฐใสการรอคิวผ่าตัดผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออกและสมุทรปราการอีกทางหนึ่งด้วย
นพ.ปรัชญ์ พิพัฒน์วัฒนา
ส่วนผู้ป่วยที่เลือกมารักษาที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จะได้รับการดูแลตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดจนกระทั้งรักษาหายกลับบ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่ไวขึ้น เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้นไปอีก และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเองยังช่วยติดตามอาการให้กับแพทย์ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยเลือกมาผ่าตัดมีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 คน มีทั้งรูปแบบการผ่าตัดเล็กและผ่าตัดใหญ่ ส่วนมากจะเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้องรักษาอาการกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท กระดูกหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ซึ่งโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการผ่าตัดกระดูกคอและหลังได้ทุกรูปแบบ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกและข้อ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใกล้บ้าน หรือติดต่อ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) เปิดทุกวัน ระหว่างเวลา 8:00 - 20:00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม: www.princsuvarnabhumi.com/princeofbones หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-0805999

ที่มา : MgrOnline